ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทีวีดิจิตอลในไทย

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทีวีดิจิตอลในไทย

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทีวีดิจิตอลในไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทีวีดิจิตอลในไทย


จากที่มีการส่งต่อข้อความเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทีวีดิจิตอลกันทาง line ในขณะนี้ ทีมงานไอที24ชั่วโมง เห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงได้ทำการตรวจสอบข้อมูลและสอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญในชุดทำงานของ กสท. ของสำนักงาน กสทช. เพื่อความถูกต้องยิ่งขึ้น และได้ข้อมูลโดยสรุปดังนี้

-          ทีวีดิจิตอล สามารถใช้เสาอากาศแบบเดิมที่ใช้กับ 3,5,7,9,11,NBT,TPBS เหมือนในปัจจุบันได้ถ้าหากเสาก้างปลาหรือหนวดกุ้งเดิมนั้นๆสามารถรองรับสัญญาณย่านความถี่ UHF ได้ (ให้สังเกตที่ label ที่กล่องหรือตัวผลิตภัณฑ์ หรือถ้าง่ายๆให้สังเกตว่าสามารถรับช่อง Thai PBS ซึ่งออกอากาศย่านความถี่ UHF ได้หรือไม่ )

-          เสาอากาศ สำหรับทีวีดิจิตอล สามารถใช้แบบ ในบ้าน หรือ นอกบ้านก็ได้ แต่ การรับสัญญาณภายในบ้าน อาจกระทำได้ถ้ารับในเขตตัวเมือง (โดยทั่วไปคือในเขตเทศบาลเมืองขึ้นไป) โดยแนะนำให้รับในห้องที่เป็นห้องเปิด คือมีหน้าต่างหรือประตู โดยเสาอากาศภายในควรเป็นแบบมี booster ขยายสัญญาณ หรือที่เรียกว่าเป็นแบบ active antenna ซึ่งจะรับการจ่ายไฟกระแสตรง 5V มาจากตัว Set-Top Box ซึ่งการติดตั้งเสาอากาศใกล้ๆกับหน้าต่างก็อาจจะช่วยการรับสัญญาณได้ดีขึ้น


กล่องรับสัญญาณ ทีวีดิจิตอล DVB-T2

-          ทีวีดิจิตอลที่ไทยใช้ ส่งระบบ DVB-T2 ซึ่งเป็นระบบ Mpeg4 ทีวีทุกระบบรับได้ โดยใช้กล่องรับสัญญาณระบบ DVB-T2  หากทีวีของท่านมีช่อง HDMI ภาพที่ออกมาจะก็จะชัดกว่าการเสียบสาย AV เป็นอย่างมาก (ระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์ DVB-T2 กับมาตรฐานทางเลือกในการบีบอัดสัญญาณภาพหรือเสียงในแบบ MPEG2 หรือ MPEG4 เป็นคนละอย่างกัน แต่โดยทั่วไปการส่งสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลในระบบ DVB-T2 ทั่วโลกในปัจจุบัน มักจะเลือกใช้มาตรฐานการบีบอัดสัญญาณภาพแบบ MPEG-4/H.264 AVC และมาตรฐานการบีบอัดสัญญาณเสียงแบบ MPEG-4/HE AACv2  ซึ่งแพร่หลายและให้ประสิทธิภาพสูงกว่า MPEG-2 มาก ซึ่งในไทยก็เลือกใช้มาตรฐานทางเลือกนี้เช่นกัน)

-          ทีวีดิจิตอลส่งระบบ DVB-T2 ดังนั้น ถ้ากล่องเป็นระบบ DVB-T จะรับสัญญาณไม่ได้ โดย Set-Top Box DVB-T2 ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะรองรับมาตรฐาน MPEG-4/H.264 AVC และ MPEG-4/HE AACv2 แต่ในการเลือกซื้อจะแนะนำให้สังเกตสติ๊กเกอร์รับรองการตรวจสอบมาตรฐานของ กสทช. ที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ รวมถึงโลโก้และมาสค๊อตดิจิตอลทีวีของกสทช.

-          ทีวีระบบเก่าของไทย ไม่รองรับระบบดิจิตอล จึงต้องมีกล่องรับสัญญาณ DVB-T2 เช่นเดียวกับกล่องรับสัญญาณดาวเทียม ก่อนที่จะต่อเข้าทีวีอีกที แต่ปัจจุบันโทรทัศน์รุ่นใหม่ๆที่จำหน่ายในท้องตลาดมีหลายรุ่นที่รองรับ สัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอล มีจูนเนอร์โทรทัศน์ดิจิตอลในตัวหรือที่เรียกว่า iDTV – Integrated Digital TV หรือภาษาชาวบ้านง่ายๆคือเอาฟังก์ชั่น Set-Top Box มาฝังในเครื่องทีวีเลย ปัจจุบันมี iDTV กว่า 66 รุ่นที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเทคนิคโดยกสทช. ซึ่งสามารถดู list ได้ที่ http://broadcast.nbtc.go.th/tools/idtv และในการเลือกซื้อจะแนะนำให้สังเกตสติ๊กเกอร์รับรองการตรวจสอบมาตรฐานของ กสทช. ที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ รวมถึงโลโก้และมาสค๊อตดิจิตอลทีวีของกสทช. เหมือนกับการเลือกซื้อ Set-Top Box เช่นกัน

-          กสทช มีกฎว่า ทุกช่องที่ออกอากาศทีวีดิจิตอล ต้องส่งผ่านดาวเทียมได้ด้วย  ตามกฎ Must carry ของ กสทช. ( คลิกดูเพิ่มเติมที่นี่  )  เพื่อเป็นการรับประกันว่าไม่ว่าประชาชนจะใช้เทคโนโลยีใดๆในการรับชมโทรทัศน์ จะสามารถรับชมบริการโทรทัศน์ดิจิตอลที่ใช้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นบริการทีใช้ ทรัพยากรของชาติได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ดังนั้น ใครมีกล่องรับสัญญาณดาวเทียมอยู่แล้วไม่ว่ายี่ห้อใดๆ สามารถรับได้แน่นอน เพียงแต่ช่องไหนที่เป็นช่อง HD (ความคมชัดสูง) ในกรณีที่เครื่องรับทีวีไม่รองรับภาพระบบ HD ก็ยังสามารถรับชมช่อง HD ได้ เพียงแต่จะได้ความคมชัดของภาพในแบบปกติ (SD = Standard Definition) เท่านั้น

-          ทีวีดิจิตอล ส่งสัญญาณระบบ UHF ดังนั้น แต่ละพื้นที่โดยเฉพาะต่างจังหวัด จะรับสัญญาณได้ไม่เท่ากัน  พื้นที่ใดสัญญาณอ่อนต้องมีเสาในการทวนสัญญาณ เพื่อให้แต่ละพื้นที่ไม่มีปัญหาในการรับชม (ทั้งนี้ การทวนสัญญาณด้วย low power transmitter หรือ gap filler เป็นเรื่องทั่วไปของการวางโครงข่ายโทรทัศน์อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นระบบดิจิตอล หรือระบบแอนะล็อก หรือการออกอากาศในย่าน VHF หรือ UHF)

-          ทีวีดิจิตอลเมื่อเทียบกับทีวีดาวเทียมจะมีข้อดีข้อเสียคนละอย่างกัน  (ดูเพิ่มเติมที่ http://www.it24hrs.com/2013/tv-digtal-vs-satellite ) อย่างไรก็ตามทางกสทช.มองว่าทั้งสองระบบมีฐานผู้ใช้ในปัจจุบันอยู่มากและจะ compliment ซึ่งกันและกันในการนำช่องโทรทัศน์ดิจิตอลไปสู่ทุกครัวเรือน จึงออกกฎ Must carry

-          ทีวีดิจิตอล สามารถใช้ร่วมกับเครื่องรับแบบอื่นๆ ได้อีกมากมาย เช่น DVB-T2+DVD , DVB-T2+ Android , DVB-S2+DVB-T2 , DVB-T2 for Car , …… เพราะเครื่องลักษณะข้างต้น เรียกง่ายๆว่าเป็นแบบลูกผสม หรือแบบ Hybrid เช่น แบบ DVB-T2/S2 ซึ่งอยู่ในมาตรฐานตระกูล DVB เหมือนกันจะรองรับสัญญาณทั้งระบบดิจิตอลภาคพื้นดินและระบบดาวเทียมเป็นต้น

-          ทีวีระบบดิจิตอลในรถยนต์ ภาพก็จะชัดเหมือนติดจานดาวเทียมบนรถ ไม่มีภาพจะล้มเวลาผ่าน ต้นไม้  หรือ สิ่งกีดขวางต่างๆ และไม่ต้องห่วงเรื่องโดนขโมยจานที่ติดบนหลังคา (ใช้แค่เพียงเสาอากาศเล็กๆ) โดย ทีวีระบบดิจิตอลในรถยนต์อาจมีข้อได้เปรียบนิดหน่อยในการรับในตัวเมืองเช่น กรณีมีตึกบัง แต่ทีวีดาวเทียมอาจจะดีกว่าในแง่การรับสัญญาณนอกตัวเมืองหรือที่ห่างไกล  (ดูเพิ่มเติมที่ http://www.it24hrs.com/2013/tv-digtal-vs-satellite )

-          ทีวีดิจิตอล แต่ละประเทศใช้ระบบไม่เหมือนกัน หากนำทีวี หรือ อุปกรณ์อื่น เข้ามาใช้คนละระบบกับของไทย ก็จะใช้ไม่ได้ช่น  ของอเมริกา ใช้ระบบ ATSC , ของญี่ปุ่นใช้ระบบ ISDB-T , ของจีนใช้ระบบ DTMB ดังนั้นในการเลือกซื้อจะแนะนำให้สังเกตสติ๊กเกอร์รับรองการตรวจสอบมาตรฐาน ของ กสทช. ที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ รวมถึงโลโก้และมาสค๊อตดิจิตอลทีวีของ กสทช. เพื่อความชัวร์

-          สมาร์ทโฟน หรือ แทบเล็ตได้ อาจสามารถรับสัญญาณทีวีดิจิตอลได้ ถ้ามีจูนเนอร์ DVB-T2 ในตัวหรือติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิตอลเช่น แบบ USB dongle

-          ทีวีดิจิตอล จะได้เปรียบทีวีดาวเทียม คือ หากมีการถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญๆ ทีวีดาวเทียมจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธ์การถ่ายทอดสด จึงทำให้จอดำ  แต่ทีวีดิจิตอล สามารถรับได้ปกติ เพราะเป็นระบบ free tv แบบเดียวกับการใช้เสาหนวดกุ้ง ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธ์การถ่ายทอดสด (ดูเพิ่มเติมที่ http://www.it24hrs.com/2013/tv-digtal-vs-satellite )

-          กสทช กำหนด ให้ ทีวีดิจิตอลมี 48 ช่อง โดยที่มีทีวีท้องถิ่นของชุมชน 12 ช่อง ทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ทีวีสำหรับภาคธุรกิจ 24 ช่อง โดยใน 24 ช่องนี้ 17 ช่องจะเป็นมาตรฐานปกติ (SD) และอีก 7 ช่องเป็นมาตรฐานความคมชัดสูง (HD)

-          ปีแรกโครงข่ายจะครอบคลุมพื้นที่ขั้นต่ำ 50% ปีที่ 2 จะครอบคลุมขั้นต่ำ 80% ปีที่ 3 จะครอบคลุมขั้นต่ำ 90% ซึ่งในการขยายโครงข่ายจริงอาจได้พื้นที่ครอบคลุมมากกว่าที่คาด

-          กล่องรับสัญญาณ DVB-T2 ที่จะนำคูปองมาเป็นส่วนลดได้ ต้องได้การรับรองคุณภาพจาก กสทช ซึ่ง รายละเอียดเรื่องนโยบายการแจกจ่ายคูปองและการใช้จะมีความชัดเจนในอนาคตอัน ใกล้ แต่โดยทั่วไปในการซื้อ แนะนำให้สังเกตสติ๊กเกอร์รับรองการตรวจสอบมาตรฐานของกสทช. ที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ รวมถึงโลโก้และมาสค๊อตดิจิตอลทีวี (น้องดูดี) ของ กสทช.

-          ทีวีดิจิตอลในระยะเริ่มแรกจะมีปัญหาในการส่งสัญญาณ ดังนั้น ช่วงแรก อาจรับสัญญาณยังไม่ได้ครอบคลุม ทั่วประเทศ  โดยในระยะแรก รับสัญญาณได้เพียงพื้นที่ที่อยู่ในรัศมี 100 กม. จาก กรุงเทพฯ ซึ่งรัศมีครอบคลุมดังกล่าวเป็นรัศมีในช่วงการทดสอบ (trial) ที่ออกอากาศจากเสาส่งที่อาคารใบหยก 2 เท่านั้นนั่นเอง

-          ราคากล่อง set-top box รับสัญญาณทีวีดิจิตอล ในช่วงแรกน่าจะอยู่ประมาณ 1000-1500 บาท หลังจากนั้นราคาน่าจะลดลงอย่างรวดเร็ว

-          ทีวีระบบอนาล็อคแบบเก่า คาดว่าจะปิดตัวลงใน 5 ปี หรือเร็วกว่านั้น เนื่องจาก คาดว่าผู้ให้บริการเก่าจะไม่ต้องการส่งทั้ง สองระบบ เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง  และอีกอย่างระบบเก่าคนก็จะดูน้อยลงเรื่อยๆ

หมายเหตุ : สำหรับทีวีระบบเก่า ที่ไม่มี DVB-T2 Tuner ในตัว ก็มีโอกาสที่บริษัทใหญ่ๆจะนำมาลดราคาลงอย่างมาก เพื่อนำทีวีระบบใหม่ที่มี DVB-T2 Tuner ในตัวมาจำหน่ายแทน หากผู้บริโภคไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทีวีระบบใหม่ที่มี DVB-T2 Tuner  ในตัว ก็สามารถซื้อทีวีระบบเก่า (ที่ไม่รองรับดิจิตอลทีวีที่ไทยใช้) แล้วมาต่อกับ Set-top box ระบบ DVB-T2 ได้เช่นกัน รวมไปถึง ใช้ทีวีเก่าที่บ้านท่าน มาต่อกับ Set-top box ก็ได้ เพื่อเป็นการประหยัด

ขอบคุณที่มา: www.it24hrs.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook