สารพัดกล่อง "เซตท็อปบ็อกซ์" ท่วมตลาด ทำความเข้าใจก่อน "ควักเงิน"
สารพัดกล่อง "เซตท็อปบ็อกซ์" ท่วมตลาด ทำความเข้าใจก่อน "ควักเงิน"
เริ่มทยอยทดลองออกอากาศกันไปบ้างแล้วสำหรับ "ทีวีดิจิทัล" ช่องธุรกิจ แม้จะสับสนอลหม่านไปบ้างกับเลขช่องที่มีการจัดเรียงกันใหม่ ด้วยว่าการรับชมฟรีทีวีเฉพาะแค่ผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมยังหลากหลายผู้ให้บริการ จานแต่ละสีก็เรียงช่องต่างกัน
ในช่วงทดลองออกอากาศ บริษัทในเครือ "ไทยคม" รับหน้าที่ส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลขึ้นดาวเทียมเพื่อให้ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี แพร่บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (มัสต์แครี่) ทำให้ทั้งเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมรับชมรายการทีวีดิจิทัลได้ (เฉพาะความละเอียดมาตรฐาน SD) แต่ถ้าบ้านไหนดูฟรีทีวีด้วยระบบปกติจะต้องซื้อกล่องแปลงสัญญาณ (เซตท็อปบ็อกซ์) ถึงจะดูได้ ซึ่ง "กสทช." เตรียมคูปองส่วนลดไว้แจกแต่ละบ้านเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล แต่ยังต้องลุ้นกันว่าจะมากกว่า 690 บาทสักเท่าไร โดยคูปองจะแจกให้กับ 11 ล้านครัวเรือน (ตามพื้นที่ที่รับสัญญาณทีวีดิจิทัลได้) จากจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 22 ล้านครัวเรือน
แน่นอนว่าแต่ละบ้านมักมีทีวีมากกว่า 1 เครื่อง โอกาสในการขายไม่ว่าจะเป็นเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ หรือกล่องแปลงสัญญาณ จึงมากมายมหาศาล
เฉพาะแบรนด์ "สามารถ" เจ้าเดียว ตั้งเป้ายอดขายไว้ถึง 2 ล้านกล่อง ยังไม่นับเจ้าอื่น ไม่น่าแปลกใจที่จะมีสารพัด "เซตท็อปบ็อกซ์" วางตลาดเต็มไปหมด
จากการสำรวจของ "ประชาชาติธุรกิจ" พบว่า เซตท็อปบ็อกซ์ทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ในขณะนี้ มีราคาไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท และมีฟังก์ชั่นที่ไม่แตกต่างกันนัก โดยมักมาพร้อมคุณสมบัติมาตรฐานคือดูทีวีดิจิทัล, บันทึกรายการผ่านหน่วยความจำภายในหรือภายนอกเพื่อเล่นไฟล์มัลติมีเดีย และรองรับวิทยุดิจิทัลในอนาคต เป็นต้น
มีทั้งที่วางขายเองเป็นการทั่วไป และเจ้าของช่องรายการสั่งผลิตเพื่อติดแบรนด์ตนเอง เช่น "อสมท" สั่งผลิตกล่อง 3 รุ่น ภายใต้แบรนด์ "MCOT HD Box " ได้แก่ รุ่น View ราคา 1,299 บาท มีฟังก์ชั่นพื้นฐานครบ รุ่น Play ราคา 1,495 บาท แถมเสารับสัญญาณภายในบ้าน ส่วนรุ่น Plus ดูได้ทั้งทีวีดิจิทัลและต่อจานดาวเทียมทุกสี เพื่อดูรายการบนทีวีดาวเทียมได้อีกกว่า 300 ช่อง รุ่นนี้ยังไม่ได้กำหนดราคา หรือกรณี "ททบ." หรือช่อง 5 ก็มีแนวคิดว่าจะสั่งผลิต เพื่อนำมาขายราคาทุนให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ
ผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ส่งสินค้าวางตลาดก่อนใครตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เช่น "สามารถ" (Samart) เช่น รุ่น Strong ราคา 1,350 บาท (มีเสารับสัญญาณจำหน่ายด้วย ราคา 290-590 บาท) แบรนด์ "อะโครเนติก" รุ่น AN-2301T2 ราคา 1,490 บาท, ครีเอเทค รุ่น CT-1 ราคา 1,190 บาท, บริษัทรับวางระบบสื่อสาร และอุปกรณ์ "ไออาร์ซีพี" ก็สร้างแบรนด์ของตนเอง "ChudD" (ชัดดี) ลงวางตลาดด้วย มีโปรโมชั่นกับพาวเวอร์บายที่ขายพร้อมเสาอากาศแบบหนวดกุ้ง ราคา 1,500 บาท เป็นต้น
ใครอยากดูทีวีดิจิทัลแบบความละเอียดสูง (HD) ด้วยรอซื้อกล่องลูกผสม ("ไฮบริด" หรือบางเจ้าเรียก "คอมโบ") เช่น รุ่น plus ของ อสมท, IPM HD Combo เป็นต้น แต่ทั้งหลายทั้งปวงไม่จำเป็นต้องรีบแต่อย่างใด
ใครไม่อยากต่อพ่วงอุปกรณ์ให้เกะกะ เลือกซื้อโทรทัศน์ที่มีตัวแปลงสัญญาณ "ทีวีดิจิทัล" ในตัวก็ได้ แต่ควรอ่านสเป็กให้ละเอียด เพราะมีไม่น้อยที่ขน "ทีวีจอแบน" มาวางขายแล้วแปะป้ายว่า ดูทีวีดิจิทัลได้ แต่มีดอกจันเล็ก ๆ ระบุว่าต้องดูผ่าน "เซตท็อปบ็อกซ์" เท่ากับว่าต้องซื้อกล่องแปลงสัญญาณมาต่ออยู่ดี
ไม่เฉพาะ "กล่อง" สำหรับดู "ทีวีดิจิทัล" ที่เริ่มเห็นวางขายและน่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น คือ "แอนดรอยด์ บ็อกซ์" สำหรับดูทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต (IPTV) ที่สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อเข้าเว็บไซต์เล่นไฟล์มัลติมีเดียได้เหมือนสมาร์ทโฟน
ปัจจุบันกล่องสำหรับดู IPTV ก็มีหลากหลายแบรนด์เช่นกัน อย่างแบรนด์ "ลีโอเทค" โดยโปรโมตว่าเป็นสมาร์ทบ็อกซ์ ที่เปลี่ยนโทรทัศน์ธรรมดาให้เป็น "สมาร์ททีวี" ที่โหลดแอป, ดูหนัง, ฟังเพลง เล่นอินเทอร์เน็ตได้ครบ มีให้เลือกหลายรุ่น เช่น X2 Strong รูปลักษณ์ไม่ได้เป็นกล่อง แต่เป็น "ทัมบ์ไดรฟ์" (ราคา 3,990 บาท) เชื่อมต่อเน็ตผ่านไวไฟ, มีหน่วยความจำภายใน 4GB, รุ่น X2 Strong เป็นกล่อง เชื่อมต่อเน็ตผ่าน LAN และไวไฟ เป็นต้น มีโปรโมชั่นกับแอปพลิเคชั่น "Doonung on Box ดูหนังออนไลน์" ฟรี 3 เดือน
ฟากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ก็มี "IPTV" ให้ดูเช่นกัน โดยเดินหน้าทำตลาดแบบเดิมคือพ่วงกับแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต โดยมีช่องรายการพื้นฐานมาให้ราว ๆ 100 ช่อง หากต้องการช่องรายการเพิ่มต้องเสียค่าบริการรายเดือนเพิ่ม และมี Movie on Demand ให้เลือกดูได้ด้วย แน่นอนว่าต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่ม ทั้งแบบเป็นกล่อง หรือเป็น "ทัมบ์ไดรฟ์" แค่ต่อเข้ากับพอร์ต "HDMI" ที่เครื่องรับโทรทัศน์ก็ใช้ได้เลย
มี IPTV อีกกลุ่มดึงสัญญาณจาก "เพย์ทีวี" บางช่องมาออกอากาศ ราคากล่องมีตั้งแต่ 3-5 พันบาท แล้วแต่ความสามารถของกล่องนั้น ๆ เช่น ความเร็วของหน่วยประมวลผล (CPU), ความจุของหน่วยความจำ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะต้องเสียค่าบริการรายเดือนเพิ่มเติม ระหว่าง 200-400 บาท หรือมีการเรียกเก็บเป็นรายปี 2-3 พันบาท ซึ่งผู้บริโภคที่ใช้บริการประเภทนี้ต้องเผื่อใจรับความเสี่ยงไว้ด้วย เพราะผู้ให้บริการอาจปิดตัวไปเฉย ๆ ก็มี เพราะส่วนใหญ่มักดูดรายการในช่องเพย์ทีวีมาให้บริการเอง หากเจ้าของลิขสิทธิ์รายการรู้เข้าย่อมมีปัญหา
ผู้บริโภควันนี้จึงมีทางเลือกในการรับชมรายการโทรทัศน์เพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ก็เฉพาะฟรีทีวีที่เปลี่ยนจากระบบแอนะล็อกมายัง "ดิจิทัล" ก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว รวมช่องทีวีสาธารณะ และชุมชนด้วยก็มีให้ดูมากถึง 48 ช่อง แต่จะดูได้กี่ช่องเป็นอีกเรื่อง ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ในปัจจุบัน มีไม่น้อยที่ไม่ได้ยึดติดกับการดูรายการโทรทัศน์ผ่าน "จอทีวี" ปกติ ตามเวลาออกอากาศปกติอีกต่อไปแล้ว