ครึ่งเดือนออนแอร์ทีวีดิจิตอล ไทยเฉย...ไร้ความรู้สึก

ครึ่งเดือนออนแอร์ทีวีดิจิตอล ไทยเฉย...ไร้ความรู้สึก

ครึ่งเดือนออนแอร์ทีวีดิจิตอล ไทยเฉย...ไร้ความรู้สึก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครึ่งเดือนออนแอร์ทีวีดิจิตอล ไทยเฉย...ไร้ความรู้สึก กสทช.-ผู้ประกอบการบ้อท่า

เมื่อ วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา คงมีคนไทยหลายคนตื่นเต้นกับปรากฏการณ์การเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอล ที่จะทำให้มีช่องโทรทัศน์ฟรีทีวีของไทยเพิ่มจาก 6 ช่อง เป็น 27 ช่องในช่วงแรก เพราะนอกจากจำนวนช่องจะเพิ่มแล้ว ในส่วนของภาพและเสียงก็ยังมีความชัดเจนขึ้น เพราะในจำนวนนี้มีไม่น้อยกว่า 4 ช่องที่ออกอากาศในระบบความคมชัดสูง (เอชดี) แม้ว่าช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1-24 เมษายนนี้ จะเป็นการทดลองออกอากาศ แต่ก็เป็นการทดลองออกอากาศเช่นเดียวกับการออกอากาศจริงทุกประการ


แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่ตื่นเต้นกับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

เพราะ จากการสังเกตในเวทีเสวนาของกลุ่มผู้บริโภคในหลายเวที ได้สะท้อนให้เห็นว่า แม้คนไทยจะรับรู้แล้วว่าทีวีดิจิตอล คืออะไร แต่แทบทั้งหมดยังไม่ทราบว่าสามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้อย่างไร

กอปรกับแรงจูงใจให้คนไทยขวนขวายซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล หรือซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ เพื่อมารับชมทีวีดิจิตอลโดยตรงก็ยังคงมีน้อย เพราะรายการที่นำเสนอไม่มีความแตกต่างจากทีวีดาวเทียมมากนัก

หรือละครเด็ดๆ อย่าง "สามีตีตรา" ก็ยังคงมีให้ชมอยู่บนทีวีในระบบอะนาล็อก

และหากคนไทยไม่ให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอลโดยสมบูรณ์ แบบ ปัญหาที่ตามมาคือ ยิ่งเปลี่ยนผ่านช้า รายการดีๆ เด่นๆ บนทีวีดิจิตอล ก็อาจจะลดน้อยลง มีการนำรายการด้อยคุณภาพมาออกอากาศ เพราะในมุมของผู้ประกอบการอาจมองว่าได้ไม่คุ้มเสียกับรายได้ที่จะกลับเข้ามา เพราะสำหรับประเทศไทยนั้น ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีแผนจะนำคลื่นความถี่ย่าน ยูเอชเอฟ ที่ใช้ในการออกอากาศทีวีอะนาล็อกในปัจจุบัน มาใช้สำหรับวิทยุดิจิตอลที่มีกว่า 4,000 ราย ก็อาจจะล่าช้าตามไปด้วย

จากข้อมูลการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอลในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาพบว่า ต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่าน นับจากเริ่มต้นออกอากาศทีวีดิจิตอล ไปจนถึงเวลาที่ยุติการออกอากาศทีวีอะนาล็อกใช้เวลานานถึง 13 ปี ขณะที่สหราชอาณาจักรก็ใช้เวลาถึง 10 ปีเช่นกัน โดยในช่วง 1-2 ปี แรกที่มีการเปลี่ยนผ่านของสหราชอาณาจักรนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะถึงขั้นต้องล้มแผนเปลี่ยนผ่านเดิม และตั้งหน่วยงานการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอลขึ้นมาโดยเฉพาะ

ส่วนประเทศไทย กสทช. ได้กำหนดแผนการยุติการออกอากาศทีวีอะนาล็อกไว้คร่าวๆ คือ 4-5 ปี แต่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช. และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลจะเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาด คืออาจใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 ปีเท่านั้น

นับว่าสวนทางกับการรับรู้ของประชาชนที่จะเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหลักในการเปลี่ยนผ่าน!!

จากรายงาน ผลการศึกษาเรื่องทีวีดิจิตอล ของ นายพรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า จากผลการสำรวจของโพลต่างๆ พบว่าประชาชนส่วนมากยังไม่รับรู้ถึงการเปลี่ยนผ่าน และสับสนถึงวิธีการรับสัญญาณทีวีดิจิตอล ทั้งที่การประชาสัมพันธ์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้รับชมนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านของหลายประเทศ แม้ว่า ทาง กสทช. มีการจัดช่องทางประชาสัมพันธ์อยู่บ้าง แต่ปัญหาก็คือ กสทช. ยังไม่มีแผนประชาสัมพันธ์และขั้นตอนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และการประชาสัมพันธ์ที่ผ่านมายังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เท่าที่ควร

ดังนั้น กสทช. ควรจัดทำแผนประชาสัมพันธ์และขั้นตอนที่ชัดเจน ต้องคำนึงถึงช่วงเวลาในการเปลี่ยนผ่าน เร่งประชาสัมพันธ์ประเด็นที่สำคัญโดยเฉพาะเรื่อง การแจกคูปอง การครอบคลุมของสัญญาณที่จะมีการขยายในแต่ละช่วง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงโรดแม็ปทีวีดิจิตอล โดยเฉพาะช่วงเวลายุติการออกอากาศในระบบอะนาล็อก

โดยในเรื่องนี้ ทาง น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. และกรรมการ กสท. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ก็ยอมรับว่า การประชาสัมพันธ์การรับรู้เรื่องทีวีดิจิตอลให้แก่ประชาชนช้าเกินไปจริง

แต่นั่นเป็นเพราะว่า กสทช. ต้องการให้มั่นใจว่า ต้องมีทีวีดิจิตอลที่พร้อมให้บริการแก่ประชาชนแล้วจริงๆ จึงจะถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ

ซึ่งในเรื่องนี้ทาง กสทช. จะร่วมมือกับผู้ประกอบการช่องรายการทีวีดิจิตอล ทั้ง 24 ช่องรายการ จะออกสื่อประชาสัมพันธ์ตามช่องทางต่างๆ อาทิ โทรทัศน์ช่องฟรีทีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ โดย กสทช. จะเป็นเจ้าภาพในการผลิตสื่อให้

ด้านฝั่งผู้ประกอบการอย่าง นายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ "ทีเอชวี" บริษัท ไทยทีวี จำกัด หรือทีวีพูล กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์การรับรู้เรื่องทีวีดิจิตอลในไทย ถือว่าล้มเหลว เพราะจนถึงวันนี้ยังไม่เกิดบรรยากาศแห่งการตื่นรู้ในการรับชมทีวีดิจิตอลเลย ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศ ที่ประชาชนจะเฝ้าจับตาดูตั้งแต่วินาทีแรกที่ออกอากาศทีวีดิจิตอล

นอกจากนี้ ยังพบว่าการประชาสัมพันธ์การรับรู้หมายเลขช่องรายการทีวีดิจิตอลของไทย ซึ่งตามกรอบกติกาที่ กสทช. กำหนดไว้นั้นก็ทำได้ยาก เช่น หากจะดูช่องทีเอชวี บนโครงข่ายการรับชมทีวีดิจิตอลปกติ ผ่านกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล หรือโทรทัศน์ที่รับสัญญาณทีวีดิจิตอลได้โดยตรง จะอยู่ที่หมายเลข 17 แต่หากรับชมผ่านทางทีวีดาวเทียม หรือเคเบิลทีวี จะอยู่บนหมายเลข 27 และหากรับชมผ่านโครงข่ายทีวีดาวเทียมของพีเอสไอ สามารถรับชมได้ที่ช่องหมายเลข 7 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การออกอากาศทีวีดิจิตอลเมื่อ วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ก็ยังนับว่าไม่ได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่ เปลี่ยนมารับชมทีวีดิจิตอลเท่าที่ควร เพราะไม่สามารถก่อให้เกิดเป็นกระแสชวนกันมารับชมทีวีดิจิตอลแบบปากต่อปาก ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะยังมีผู้ชมจำนวนน้อย เพราะมีพื้นที่แพร่ภาพที่จำกัด เพียงแค่ 4 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งก็คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครราชสีมา และสงขลา

จึงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการช่องรายการต่างๆ ไม่อยากนำละครดีๆ ภาพยนตร์เด็ดๆ มาออกอากาศ เพราะเกรงจะเสียของเนื่องจากคนดูได้น้อย

แต่เชื่อว่า ในอนาคตหากคนเริ่มแห่กันมาดูทีวีดิจิตอลมากขึ้น ช่องรายการต่างๆ จะต้องเอารายการดีๆ เด็ดๆ มาฉายเต็มที่เพื่อเรียกเรตติ้งแน่นอน เพราะต้องแย่งเม็ดเงินโฆษณาที่มีอยู่เพียงแค่ 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีผู้แบ่งเค้กมากกว่า 24 ราย

นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่องรายการหมายเลข 27 บนทีวีดิจิตอล หรือ "ช่อง 8" กล่าวว่า สาเหตุที่คนไทยไม่ตื่นเต้นกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอลเท่าใดนัก เป็นเพราะว่าวันนี้คนไทยกว่าครึ่งรับชมทีวีดาวเทียมที่มีช่องให้รับชมกว่า 100 ช่องอยู่แล้ว

ฉะนั้น การที่มีช่องรายการบนฟรีทีวีเพิ่มจาก 6 ช่อง ไปเป็น 24 ช่อง หรือเพิ่มเป็น 48 ช่อง ในอนาคต จึงไม่รู้สึกตื่นเต้นเท่าใดนัก โดยมองว่าปัจจัยหลักที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ได้ผลที่สุดคือ การกำหนดมูลค่าคูปอง วิธีแจกคูปอง และส่งมอบคูปองให้ประชาชนใช้ซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอล เพราะเชื่อว่าจะเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในการกระตุ้นความต้องการรับชมทีวี ดิจิตอลให้แก่ภาคประชาชน รวมทั้งต้องให้ กสทช. กำหนดวันยุติการออกอากาศทีวีอะนาล็อกให้ชัดเจน เพื่อเป็นตัวเร่งให้มีการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จึงเป็นทั้งคำถามและคำตอบได้อย่างดีว่า วันนี้ประเทศไทยมีการประชาสัมพันธ์ หรือสร้างบรรยากาศให้เกิดการตื่นตัวในการรับชมทีวีดิจิตอลแล้วหรือยัง

และคงตอบคำถามได้ชัดเจนว่าการเปลี่ยนผ่านจากทีวีอะนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิตอลในครั้งนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่!!!


ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2557

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook