THE PEOPLE’S 3D PRINTER หัวพิมพ์สองหัว ยังไงก็ดีกว่าหัวเดียวอยู่แล้ว
THE PEOPLE’S 3D PRINTER หัวพิมพ์สองหัว ยังไงก็ดีกว่าหัวเดียวอยู่แล้ว
ยังคงคิดว่าการพิมพ์สามมิติเป็นกิจกรรมที่สงวนไว้สำหรับผู้ชอบทำงานอดิเรก คนที่สนใจสิ่งนี้เป็นพิเศษและบรรดาผู้คลั่งไคล้เทคโนโลยีใหม่ๆ ประเภทที่ชอบสวมเสื้อยืดคอกลมพิมพ์ลายรหัสคอมพิวเตอร์อวดโชว์ผู้อื่นอย่างงั้นเหรอ คุณคิดผิดถนัด เมื่อค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตและการค้นคว้าวิจัยลดลงอย่างฮวบฮาบ การพิมพ์สามมิติอาจเข้ามาแทนที่เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตเก่าๆ และกลายเป็นเครื่องพิมพ์ตัวใหม่ประจำบ้านคุณ
สิ่งที่หวังว่าจะสะดุดสายตาคุณท่ามกลางสารพัดหัวฉีดและอุปกรณ์ทรงเหลี่ยมมากมายหลายสไตล์ที่กำลังจะปรากฏตัวในท้องตลาดคือ CEL และเจ้า Robox เครื่องพิมพ์สามมิติที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากเว็บไซต์ Kickstarter ของพวกเขา มันเกี่ยวข้องกับการใช้งานที่สะดวกง่ายดายเป็นหลัก แค่เอามันไปเสียบกับเครื่องพีซีของคุณหรือแม็คผ่านพอร์ตยูเอสบี จากนั้นก็เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายในบ้านผ่าน Wi-Fi แล้วก็เข้าไปควานหาพิมพ์เขียวในอินเทอร์เน็ต หรือออกแบบพิมพ์เขียวของคุณเองขึ้นมาด้วยแอพพลิเคชั่น Robox Auto Maker ที่ให้มา ซึ่งเรามั่นใจว่านั่นก็ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเช่นกัน พอจัดการทุกสิ่งเสร็จแล้วคุณก็อยู่ห่างจากการพิมพ์ถ้วยกาแฟ เคสมือถือหรือโมเดลหอไอเฟลเพียงไม่กี่คลิกเท่านั้น หรือพิมพ์อะไรทำนองนั้นที่มีประโยชน์ในชีวิต
ด้วยการใช้กระบวนการที่เรียกว่า ‘Fused Filament Fabrication' เจ้า Robox ทำงานด้วยวิธีการที่คล้ายปืนยิงกาวร้อน สร้างชิ้นงานด้วยการฉีดของเหลวเข้าไปทีละชั้นจนกลายเป็นวัตถุที่ต้องการ ใยพลาสติกที่ใช้ในการพิมพ์มาเป็นม้วนๆ ในลักษณะพิเศษซึ่งจะสอดเข้าไปที่ด้านหลังเครื่องพิมพ์คล้ายตลับหมึกของเครื่องพิมพ์ธรรมดาแบบเดิม
ถ้าคุณเปลี่ยนไปใช้เส้นใยอย่างอื่น (ดูขวามือสำหรับวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมและประโยชน์ใช้สอยของมัน) ก็จะไม่มีการตั้งค่าใดๆ ที่คุณจะต้องปรับเปลี่ยนเพราะเครื่องพิมพ์จะตรวจจับว่าคุณใส่อะไรเข้าไปและปรับตั้งค่าที่เหมาะสมให้โดยอัตโนมัติ
ชิ้นส่วนต่างๆ เปลี่ยนได้ง่ายและเที่ยงตรงอย่างน่าอัศจรรย์ สิ่งสำคัญชิ้นแรกในกระบวนการพิมพ์คือหัวฉีด ขณะที่เครื่องพิมพ์สามมิติส่วนใหญ่มีความละเอียดระหว่าง 50 ถึง 200 ไมครอน เจ้า Robox มีความละเอียดถึง 20 ไมครอนต่อชั้นเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่า วาล์วหนึ่งตัวจะปิดหัวฉีดตรงจุดที่ส่งของเหลวออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้ของเหลวไหลซึมเลอะเทอะชิ้นงาน ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่รุมเร้าเครื่องพิมพ์สามมิติรุ่นแรกๆ และเนื่องจากมันมีหัวฉีดสองหัว เจ้า Robox จึงสามารถพิมพ์ได้เร็วกว่าเครื่องพิมพ์รุ่นก่อนๆ เยอะ หัวฉีดตัวใหญ่กว่า (เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8 มม.) จะฉีดของเหลวเพื่อสร้างพื้นผิวขนาดใหญ่ของวัตถุ ส่วนหัวฉีดขนาดเล็กกว่า (เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.3 มม.) จะฉีดของเหลวเข้าไปเพื่อสร้างรายละเอียดเล็กๆ หรือลวดลายตรงพื้นผิวด้านนอกของวัตถุ
ถ้าคุณไม่ได้มีพรสวรรค์ด้านศิลปะมาแต่กำเนิดก็ไม่เป็นปัญหา เพราะอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่พร้อมสำหรับการพิมพ์แบบสามมิติจากผู้ผลิตสินค้าชื่อดัง นักออกแบบมืออาชีพและผู้คนทั่วไปที่มีความสามารถด้านนี้ ซึ่งดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่กล่าวมาทั้งหมด จะแฮปปี้ยินดีให้คุณฉกสิ่งประดิษฐ์ของพวกเขาไปพิมพ์ในห้องนั่งเล่นของคุณ ถ้าสนใจลองแวะไปที่เว็บไซต์ thingiverse.com
ขณะที่เครื่องพิมพ์สามมิติหลายตัวดูละม้ายคล้ายอุปกรณ์ประกอบฉากในซีรีส์ไซไฟ Doctor Who ที่ถูกโละทิ้งไปแล้ว เจ้า Robox เป็นส่วนหนึ่งของคลื่นลูกใหม่ของเทคโนโลยีอันงดงามที่ไม่ทำให้โฮมออฟฟิศหรือห้องทำงานในบ้านคุณดูแย่ คุณจะยกมันไปวางไว้ในห้องนั่งเล่นก็ได้แต่ต้องออกแรงเยอะหน่อย ดีไซน์สะอาดสะอ้านมาพร้อมฝาครอบเพื่อความปลอดภัยและตรงบริเวณถาดสร้างวัตถุก็มีไฟส่องสว่างเพื่อให้คุณมองเห็นทุกขั้นตอนการพิมพ์
ลาก่อนอิงค์เจ็ตและเครื่องพิมพ์เลเซอร์ พวกคุณรับใช้เราได้ดีแต่มีน้องใหม่ปรากฏตัวในวงการแล้ว และสมาร์ทโฟนของเราก็จำเป็นต้องใช้เคสตัวใหม่ด้วย ฿38,200 (ประมาณ) CEL-ROBOX.COM
1. BUILD CHAMBER
อุณหภูมิของพื้นที่สำหรับพิมพ์วัตถุจะรักษาไว้ที่ประมาณ 50 องศาเซลเซียสในระหว่างการพิมพ์ วงจรไฟฟ้าและมอเตอร์ติดตั้งแยกออกมาต่างหากเพื่อป้องกันไม่ให้ร้อนเกินไป
2. PRINTER HEAD
หัวฉีดคู่สามารถปลดล็อกและถอดออก การเปลี่ยนจะถูกบันทึกโดยอัตโนมัติโดยแอพพลิเคชั่น AutoMaker
3. SOLID CONSTRUCTION
Robox สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีการฉีดขึ้นรูปพร้อมเฟรมที่ทำจากแผ่นโลหะ ทำให้โครงสร้างแข็งแกร่งเพื่อการพิมพ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
4. FILAMENT REEL
ใยพลาสติกสำหรับพิมพ์ถูกบรรจุอยู่ในม้วน พร้อมชิปข้อมูลคอยบอกเครื่องพิมพ์ว่ามีอะไรบรรจุอยู่ข้างในแต่ละม้วน
Specification
ความละเอียดการพิมพ์ 20 ไมครอน
เส้นผ่าศูนย์กลางหัวฉีด 0.3 มม. และ 0.8 มม.
วัตถุดิบที่ใช้ได้ PLA, ABS, HIPS, PC, PVA, nylon
ระบบเชื่อมต่อ Wi-Fi, ยูเอสบี
ระบบปฏิบัติการ Windows, Mac, Linux
ขนาด 210x150x100 มม.
NEWS BLIP WINDOWS 8.2 ที่กำลังจะออกมาจะนำเมนูสตาร์ทกลับมาใช้ใหม่ และให้คุณใช้แอพ METRO ในโหมด WINDOWS
วัตถุดิบสำหรับการพิมพ์สามมิติ
ABS PLASTIC
Acrylonitrile butadiene styrene หรือพลาสติก ABS เป็นวัตถุดิบยอดนิยมสำหรับการพิมพ์สามมิติ เพราะมันมีราคาต่ำและจุดหลอมเหลวต่ำ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งโครงสร้างที่แข็งแรงมั่นคง มันพร้อมสำหรับการซ่อมแซมตามที่เห็นในรูป
NYLON
มีความยืดหยุ่นสูงกว่า ABS ไนลอนถูกนำมาใช้โดยนักออกแบบ Michael Schmidt ไปจนถึงการพิมพ์สามมิติสำหรับชุดของนักเต้นสไตล์ burlesque ชื่อดัง Dita Von Teese
METAL
ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น การพิมพ์โดยใช้โลหะเป็นสิ่งที่บรรดาวิศวกรการบินและอวกาศใฝ่ฝัน อ้อ และปืนพก 9 มม. ที่ยิงได้จริงกระบอกนี้เป็นผลงานของบริษัท Solid Concepts
Jeff Parsons บรรณาธิการฝ่ายข่าวของ T3 ไม่พึงพอใจแค่การพิมพ์เครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ และเคสโทรศัพท์ เขาอยากทำมากกว่านั้น...
เรื่องราวของการพิมพ์สามมิติมีโชคและโอกาสครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว เราได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่แขนขาเทียมไปจนถึงอาวุธปืนโผล่ออกมาจากเครื่องพิมพ์สามมิติ อย่างไรก็ตาม สิ่งประดิษฐ์ทุกชิ้นถูกผลิตขึ้นโดยบริษัทเล็กๆ ที่ยอมจ่ายเงินอย่างต่ำ 2,000 ปอนด์ (ประมาณ 90,000 บาท) ขึ้นไปสำหรับอุปกรณ์ การกลั่นกรองขั้นตอนการพิมพ์ให้เหลือเพียงเครื่องหน้าตาดีราคาเอื้อมถึงที่คุณสามารถเอาไปต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ตยูเอสบีคือความท้าทายของปี 2014
CEL Robox เป็นก้าวสำคัญในทิศทางที่ถูกต้อง แถมคุณสามารถซื้อใยพลาสติก ABS บน Amazon ในราคา 30 ปอนด์ (ประมาณ 1,350 บาท) และด้วยการเติบโตของซอฟต์แวร์ CAD (การออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย) ที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน การสร้างสิ่งต่างๆ ก็ง่ายขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี ราคาและความสะดวกในการใช้งานเป็นเพียงครึ่งเดียวของสิ่งที่เราอยากได้จากมัน ความนิยมในการพิมพ์สามมิติอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อผู้คนค้นเจอความจำเป็นจริงๆ สำหรับเทคโนโลยีนี้ที่บ้าน การประดิษฐ์ชิ้นงานสำหรับงานอดิเรกนั้นยังไม่พอ ผมทำนายว่าอนาคตคุณจะสามารถพิมพ์เฟอร์นิเจอร์ของคุณเองแทนที่จะหิ้วกลับบ้านในรถจากห้าง Ikea แถวบ้าน ด้วยความเร็วในการพัฒนาของเทคโนโลยีนี้ผมคงไม่ต้องรอนานเกินไป...
ที่มา : T3 [กุมภาพันธ์]