Alex MacLean ช่างภาพทางอากาศมือหนึ่งของอเมริกา
Alex MacLean ช่างภาพทางอากาศมือหนึ่งของอเมริกา
Alex MacLean ช่างถ่ายภาพทางอากาศมือหนึ่งของอเมริกา พูดคุยกับGeoff Harris เกี่ยวกับอาชีพรุ่งเรืองที่อยู่บนอากาศตลอดเวลา
Alex MacLean เริ่มการเป็นช่างถ่ายภาพทางอากาศตั้งแต่ปี 1970 ภาพถ่ายของเขาได้รับการจัดแสดงอย่างกว้างขวาง เขาได้รับรางวัลมากมายรวมถึง รางวัลงานหนังสือนานาชาติโครีนปี 2009 รางวัลกรุงโรมสำหรับภูมิสถาปัตย์ Alex ได้เขียนหนังสือ 11 เล่ม รวมถึง Over: The American Landscape at the Tipping Point และ Up on the Roof: New York’s Hidden Skyline Space
Alex MacLean เป็นปรมาจารย์มือหนึ่งด้านการถ่ายภาพทางอากาศของสหรัฐอเมริกา ในชีวิตการทำงานมากว่า 40 ปี เขาเคยบินเหนืออเมริกามาทั่วแล้วเพื่อเก็บภาพภูมิทัศน์ซึ่งมีทั้งไร้กาลเวลา และเปลี่ยนแปลงอยู่เนืองนิจ ด้วยภูมิหลังการฝึกฝนเป็นสถาปนิก เขาได้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของผืนแผ่นดินจากดินแดนเกษตรกรรม อันกว้างใหญ่ไปจนถึงรูปแบบตารางของเมือง โดยบันทึกภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากฝีมือมนุษย์และกระบวนการทางธรรมชาติ
“ผมสนใจการถ่ายภาพตั้งแต่เด็ก แต่มาเริ่มสนใจอย่างจริงจังเมื่อตอนเรียนสถาปัตย์” Alex กล่าว “ผมได้ยินอาจารย์คนหนึ่งพูดถึงภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งดึงดูดความสนใจผมมากโดยเฉพาะเมื่อผมมีเพื่อนสนิทที่ลุงของเขาเป็นเจ้า ของโรงเรียนฝึกบินที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา”
“ผมได้ไปทำงานในฐานะผู้ดูแลค่ายที่โรงเรียนฝึกบินแห่งนี้ซึ่งทำให้ผม สามารถฝึกบินได้เมื่อมีเวลาว่าง ผมได้ใบอนุญาตนักบินมาในเวลาไม่นานนัก”
หลังจากการเรียนต่อ Alex ได้งานที่บริษัทภูมิสถาปัตย์แห่งหนึ่ง แต่ธุรกิจไปได้ไม่ดีนักเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ “ผมเลยตัดสินใจไข่วคว้าสิ่งที่ผมชอบสามอย่าง คือ การขับเครื่องบิน การถ่ายภาพ และภูมิทัศน์ โดยการพยายามหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นช่างถ่ายภาพทางอากาศ ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยมีงานนัก และผมต้องเป็นพนักงานเสิร์ฟเพื่อหาเงินเพิ่ม แต่ในที่สุดก็เริ่มมีงานถ่ายภาพทางอากาศเข้ามาจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ต่างๆ
“ผมซื่อไปในตอนแรก ผมไม่รู้ว่าผมสามารถบอกราคาที่แตกต่างกันได้ระหว่างลูกค้าหลายรายสำหรับภาพ เดียวกัน และไม่มีความรู้เอาเสียเลยเกี่ยวกับลิขสิทธิ์กับการใช้งานและอื่นๆ แต่ผมก็ได้เรียนรู้ในเวลาต่อมา”
หัวข้องานและรูปแบบ
Alex ยังได้ขายภาพทางอากาศให้แก่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการถ่ายภาพของเขามาก “มันทำให้ผมนึกถึงหัวข้อและรูปแบบของภูมิทัศน์หลากหลายแนว เช่น สวนสาธารณะในเมืองและถนนหนทาง ไปจนถึงพื้นที่เกษตรกรรมแบบต่างๆ ผมเริ่มมองเห็นภาพพื้นที่ต่างๆ ที่จะรวบรวมไว้และสร้างเป็นผลงานขึ้นมาได้”
งานใหญ่เข้ามาเมื่อสถาบันเงินทุนเพื่อศิลปะแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้ ว่าจ้าง Alex ดำเนินโครงการใหญ่เกี่ยวกับเมืองขนาดเล็ก “ในที่สุดผมก็สามารถซื้อเครื่องบินเป็นของตนเองได้ ซึ่งทำให้การถ่ายภาพของผมเปลี่ยนไป” Alex ย้อนความหลัง
เมื่อ Alex เริ่มก้าวเข้าสู่วงการช่างถ่ายภาพทางอากาศในช่วงปี 1970 นั้น มีบริษัทคู่แข่งเพียงไม่กี่ราย “มันให้ความรู้สึกเหมือนผมกำลังสำรวจโลกใหม่” เขาจำได้ว่า “ดังนั้นผมจึงสามารถสร้างสไตล์ของผมเองได้ ในตอนแรกผมเน้นการถ่ายทอดความสวยงามของภูมิทัศน์ แต่ต่อมาผมเริ่มให้ความสำคัญต่อการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมา จากมลพิษและการขยายเมืองและอื่นๆ ในโครงการใหญ่ๆ ที่ผมถ่ายภาพทั้งภูมิภาค ผมพบว่าผมชอบที่จะเริ่มงานโดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับสถานที่นั้น และได้สำรวจมันด้วยตาของผมเอง แน่นอนผมจะอ่านข้อมูลและศึกษาสัญลักษณ์ของพื้นที่ที่ผมจะถ่ายภาพก่อนทำงาน แต่ผมไม่ชอบที่จะกะเกณฑ์สิ่งต่างๆ ล่วงหน้า การได้เข้าไปยังสถานที่ที่ผมไม่เคยถ่ายภาพมาก่อนมันน่าตื่นเต้นมากๆ”
มากกว่าความงาม
แน่นอนอยู่แล้วว่าการขับเครื่องบินขณะถ่ายภาพกลางอากาศไปด้วยเป็นทักษะ ที่ต้องอาศัยเวลาในการสร้างความชำนาญ “คุณต้องแม่นในเรื่องตำแหน่งและการคาดหมายสิ่งที่จะเกิดขึ้น” Alex อธิบายแบบฟังดูเป็นเรื่องง่ายตามลักษณะนิสัยถ่อมตัวของเขา “มีหลายสิ่งที่คุณต้องคิด อย่างแรกคือการคำนึงถึงเรื่องแสง เมื่อคุณบินวนรอบสิ่งที่คุณจะถ่าย แสงจะเปลี่ยนไปและคุณจะต้องใช้มันให้เป็นประโยชน์ เทคนิคการถ่ายย้อนแสงก็เยี่ยมสำหรับการให้แสงแก่ทุ่งหญ้าในขณะที่ผืนน้ำจะ มืดสนิท หรือสะท้อนแสงเป็นกระจกเงา เป็นต้น จากนั้น คุณก็ต้องคิดถึงขนาดภาพถ่ายที่ความสูง 500 ฟุต จะต่างจากภาพถ่ายที่ระดับ 2000 ถึง 3000 ฟุต”
Alex ต่างจาก Jason Hawkes นักถ่ายภาพทางอากาศมือหนึ่งของอังกฤษที่เราเคยได้สัมภาษณ์ไปแล้ว จากการที่เขาชอบถ่ายภาพในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน “กลางวันให้โอกาสต่างๆ มากกว่า แน่นอนว่ากลางคืนน่าสนุกและตื่นเต้นกว่า และ ISO ความไวแสงสูงในกล้องดิจิตอลจะทำให้การถ่ายภาพง่ายขึ้น แต่ผมยังมองว่ามันมีข้อจำกัดอยู่ กลางคืนเป็นเหมือนเครื่องกรองที่ชี้นำให้ผู้ชมได้รับสารอีกแบบ มันจำกัดความคิดในแบบนี้ แต่ก็เหมาะสำหรับการถ่ายภาพเมือง ถนน และโครงข่ายถนนต่างๆ”
เมื่อพูดถึงการจัดองค์ประกอบภาพที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก Alex มีแนวคิดที่น่าสนใจ “ผมมักจะใคร่ครวญถึงรูปลักษณะของสิ่งของและสี แล้วผมก็ยังคิดถึงภาพทิวทัศน์ในลักษณะ 4 มิติ โดยมิติที่สี่คือเวลา ภูมิทัศน์จะเปลี่ยนแปลงตลอดถ้าคุณคำนึงถึงกาลเวลา และคุณถ่ายทอดเวลาผ่านทางการเคลื่อนไหวหรือความเปลี่ยนแปลง การขยับเคลื่อนของอะไรบางอย่าง เช่น ก้อนเมฆ หรือรถมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านทะเลทราย”
การจัดแสงและวางกรอบภาพ
“ผมต้องการเก็บรูปทรงเรขาคณิตที่มีความเกี่ยวโยงกับสิ่งอื่นไว้ในภาพ พูดง่ายๆ คือ ผมชอบให้มีสิ่งที่แตกต่างกันในรูป โดยลองใช้เหลี่ยมมุม เขตแดน การวางทับซ้อน และอื่นๆ เพื่อเน้นความแตกต่างทางสายตา การวางตำแหน่งของสิ่งต่างๆ ในกรอบที่คุณจะถ่ายมีความสำคัญมากทีเดียว”
กล้องดิจิตอลช่วยช่างภาพทางอากาศอย่าง Alex ได้มาก เขาอธิบายว่า “ผมมีปัญหาในการเปลี่ยนมาใช้กล้องดิจิตอลในช่วงปี 2003 ถึง 2004 และได้พยายามที่จะใช้ทั้งกล้องดิจิตอลและกล้องที่ใช้ฟิล์ม แต่มันไม่ได้ผล แล้วก็มีใครสักคนที่บอกผมว่ามันก็เหมือนการวาดภาพสีน้ำกับการวาดภาพสีน้ำมัน ที่คุณจะต้องใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ความคิดผมเปลี่ยนไป ตอนนี้ผมใช้แต่กล้องดิจิตอลเท่านั้นเพราะภาพที่ออกมามีความละเอียดมากกว่า”
“ข้อมูลของภาพถ่าย (Metadata) ก็มีประโยชน์มากด้วย คุณได้ข่าวสารและผลตอบรับมากมาย การมีข้อมูลของภาพจะช่วยบอกได้ว่าแบบไหนใช้ได้หรือไม่ได้ และกับกล้องดิจิตอลคุณไม่ต้องคอยเรียงฟิล์มตามลำดับซึ่งเป็นเหมือนฝันร้ายบน อากาศเลยล่ะ”
ใช้โหมดปรับตั้งความเร็วชัตเตอร์เอง
Alex ถ่ายภาพโดยไม่ใช้อุปกรณ์อื่นช่วยเพื่อให้ได้ความละเอียดของภาพและแสงมากที่ สุดโดยใช้การปรับแต่งภาพเข้าช่วย แต่เขาถ่ายโดยใช้โหมดปรับตั้งความเร็วชัตเตอร์เอง (Shutter Priority mode) มากกว่าโหมดแมนวลหรือโหมดปรับตั้งช่องรับแสงเอง (Aperture Priority mode) “ผมชอบถ่ายที่ความเร็ว 1/200 วินาที ISO อัตโนมัติ” เขากล่าว “ภูมิทัศน์ก็เหมือนฉากสีเทาซึ่งค่อนข้างแน่นอนและคุณไม่ต้องปรับแต่งกล้อง มากนัก นอกจากบางกรณี เช่น เมื่อคุณจะถ่ายภาพหิมะ คุณต้องเปิดหน้ากล้องกว้างเพื่อให้ภาพหิมะออกมาเป็นสีขาว ภาพของผมส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 95 ถ่ายได้ออกมาตรงตามต้องการเมื่อถ่ายด้วยโหมดปรับตั้งความเร็วชัตเตอร์เอง ผมจึงไม่ต้องปรับแต่งด้วยโปรแกรมอย่างโฟโต้ช็อปอะไรมากหลังจากถ่ายภาพแล้ว”
แล้วเป้าหมายในอนาคตของช่างถ่ายภาพทางอากาศมือฉมังคนนี้คืออะไร? ดูเหมือนเขาจะได้เห็น ได้ทำมาหมดแล้วสำหรับการถ่ายภาพทางอากาศ “สิ่งที่ผมหวังมากที่สุดคือการมีเวลามากกว่านี้! ตอนนี้ผมอายุ 66 แล้ว แต่ว่าช่างถ่ายภาพทางอากาศบางคนทำงานจนถึงอายุเจ็ดสิบเลยนะ ใครจะรู้ว่าในอนาคตการถ่ายภาพของผมจะเป็นอย่างไร”
“ผมอยากทิ้งผลงานที่บอกเล่าเรื่องราวในช่วงเวลาของผมไว้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้ถ่ายภาพทางอากาศเหนือเยอรมนี และรู้สึกประทับใจความเจริญรุ่งเรืองพร้อมกับความยั่งยืนของพื้นที่ พวกเขาดูเหมือนจะมีสมดุลย์ที่ดี และผมอยากจะศึกษาเรื่องนี้ให้มากขึ้น”
ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ www.alexmaclean.com
Santa Rosa Island, Florida
Santa Rosa ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเฮอริเคนในปี 2004 และ 2005 น้ำทะเลที่สูงขึ้นกัดเซาะชายฝั่ง แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ยังดึงดูดนักลงทุนมาปลูกสร้าง
Conrad, Montana, 1991
ทุ่งข้าวสาลีเอนลู่ทำมุมฉากตามแรงลม
North Central, Ohio, 1996
แนวมะเขือเทศเขียวที่ถูกทิ้งอยู่บนลานใกล้โรงงานบรรจุกระป๋อง
Tuscon, Arizona, 1994
สุสาน B-52 สำหรับเครื่องบินรบที่หยุดบินจากสนธิสัญญาอาวุธสงครามกับอดีตสหภาพโซเวียต
Southern New Hampshire, 1982
ภาพรถเก่าดูสวยดีแต่การปล่อยให้ผุพังริมฝั่งแม่น้ำเป็นเรื่องที่น่ากังวล
Cincinnati, Ohio, 1987
Alex ถ่ายภาพย่านเสื่อมโทรมในเมืองระหว่างบินไปชานเมือง
ในกระเป๋าของเขา
กล้อง SLR ตัวโปรดของผมคือ Canon EOS 50 Mark III ซึ่งดูจะไว้ใจได้มากกว่าตัว Mark II ในเรื่องของเลนส์ ผมชอบเลนส์ของ Canon ขนาด 70-200 มม. f/2.8 L Series และขนาด 24-105 มม. กับขนาด 135 มม. ผมเคยมีปัญหากับการใช้เลนส์ซูมและการตัดแต่งภาพ แต่ตอนนี้ผมชินแล้ว เครื่องบินโปรดของผมคือ เครื่องเซสนาปีกสูง ระยะบิน 150-182 และเครื่องบินเล็กเบา
เบื้องหลังภาพถ่าย
“ตอนผมถ่ายภาพนี้ผมเพิ่งจะเปลี่ยนจาก Nikon มาใช้ Canon และตอนนี้ผมอาจจะเปลี่ยนกลับอีกครั้ง!”
องค์ประกอบภาพ
ภาพนี้ถ่ายในปี 1990 เป็นภาพสาหร่ายที่ขึ้นอยู่ระหว่างขอนไม้ในแม่น้ำโคลัมเบีย ผมบินผ่านมันและถ่ายรูปไว้จำนวนหนึ่งแต่รูปนี้เป็นรูปที่ดีที่สุดเพราะ น้ำหนักของภาพที่ทุกสิ่งวางอยู่เกือบจะตรงกึ่งกลาง ความสมดุลย์ของภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับภาพถ่ายทางอากาศ
ค่าเปิดรับแสง
“ผมถ่ายโดยใช้โหมดปรับตั้งความเร็วชัตเตอร์เองตามที่ผมถนัด ความเร็วของชัตเตอร์ที่ 1/1000 วินาที ตามปกติผืนดินจะทำหน้าที่เหมือนฉากเทาอยู่แล้วแต่รูปนี้ผมต้องวัดค่าต่างๆ อย่างระมัดระวังเพราะความมืดของน้ำ
อุปกรณ์
ถ่ายด้วยกล้อง Canon แบบใช้ฟิล์ม EOS 35 มม. กล้อง SLR ที่มีโฟกัสอัตโนมัติเป็นอะไรที่ต้องอาศัยความคุ้นเคยแต่มันทำให้งานของผม ง่ายขึ้นเยอะเลยผมถ่ายภาพนี้ด้วยฟิล์ม Kodachrome 64 (Kodachrome 64) เพราะชอบความละเอียดของเนื้อภาพ และผมตั้ง ISO ไว้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อควบคุมจุดเด่นของภาพ
“ผมคำนึงถึงรูปทรงต่างๆ มาก แล้วผมก็ยังคิดถึงภาพทิวทัศน์ในลักษณะ 4 มิติ โดยมิติที่สี่คือเวลา”