ปริศนา เฟซบุ๊คล่ม กว่าครึ่งชั่วโมง?
ปริศนา เฟซบุ๊คล่ม กว่าครึ่งชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 28 พ.ค. เมื่อช่วงเวลา 15.50-16.30 น. เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียว่า เว็บเฟซบุ๊คไม่สามารถเข้าได้ จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงสาเหตุว่ามาจากกรณีการเมืองหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 16.27 น. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยืนยันว่าทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่มีคำสั่งบล็อกการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะเป็น facebook twitter หรือ Line และทาง กสทช.ก็ยังไม่มีคำสั่งปิดกั้นการใช้งาน
นายธนิต ประภาตนันท์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ทางไอซีทีไม่ได้มีคำสั่งปิดการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นการทั่วไป หากจะบล็อกจะปิดเฉพาะเว็บเพจของบุคคลที่มีปัญหาเท่านั้น
"ขอยืนยันด้วยความสัตย์จริง ไอซีทีไม่ได้ปิด และยังไม่ได้มีการประสานกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เพื่อปิดกั้น ส่วน คสช. จะมีคำสั่งปิดหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน รวมถึงที่มีข่าวบอกว่าปลัดไอซีทีสั่งปิดก็ยังไม่ทราบ"
ต่อมาเวลา 16.30 น. นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เปิดเผยว่า ปัญหาการเข้าใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ไม่สามารถใช้งานได้ในขณะนี้ เกิดขึ้นจากวงจรเชื่อมต่อระหว่างประเทศ(เกตเวย์) ที่เชื่อมเข้าประเทศไทยล่ม เนื่องจากในวันนี้มีทราฟฟิกใช้งานในไทยสูงมาก ทางฝ่ายเทคนิคแจ้งว่าจะสามารถกลับมาใช้งานได้ในเวลา 17.00 น. และในพรุ่งนี้(29 พ.ค.) จะเรียกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งหมดมาหารือเพื่อไม่ให้มีปัญหานี้อีก
“ขอยืนยันว่า ไอซีทีไม่ได้สั่งบล็อกเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นการทั่วไป แค่ปิดเฉพาะเพจที่มีปัญหาเท่านั้น ส่วนที่มีข่าวออกไปก่อนหน้านี้ว่า ผมสั่งปิด ขอยืนยันว่าเป็นการเข้าใจผิดของผู้รับสาย”
กระทั่งต่อมา คสช. ได้ออกแถลงยืนยันว่าไม่ได้มีคำสั่งปิดเฟซบุ๊คแต่อย่างใด แต่เป็นปัญหาที่เกตเวย์ล่ม ซึ่งได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นคาใจที่ชาวเน็ตยังตั้งคำถาม เพราะเมื่อวานนี้ (27 พ.ค.) นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม หมิ่นประมาท และเป็นภัยต่อความมั่นคงตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้ว 219 เว็บไซต์ และเตรียมประสานความร่วมมือไปยังต่างประเทศเพื่อขอปิดบัญชีผู้ใช้งานเป็น รายบัญชีกรณีพบการนำเสนอเนื้อหาที่ผิดกฏหมายในสื่อออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊กไลน์ยู ทูป
ทั้งนี้ได้ตั้ง 3 คณะทำงานเพื่อกำกับดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ในระดับที่เข้มข้นมากขึ้น ประกอบด้วย
1.คณะทำงานด้านการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูล มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ การใช้เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ เมื่อพบการฝ่าฝืนสามารถระงับการเผยแพร่ข้อมูลนั้นๆ ได้ทันที โดยมีหัวหน้าคณะทำงาน คือ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ และมีคณะทำงานที่มาจากภาคส่วนต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักข่าวกรอง สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
2.คณะทำงานด้านด้านสืบสวนสอบสวนและปรามปราม มีอำนาจสอบสวน สืบสวน และจับกุม ผู้ที่กระทำผิดนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมาย โดยมีผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีผู้แทนจากกองทัพบกร่วมทำงาน และ
3.คณะทำงานอำนวยการ นอกจากคณะทำงานแล้ว ไอซีที ได้เร่งหารือแนวทางการจัดทำ เนชั่นแนล อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ (National internet gateway) หรือ ช่องทางสำหรับเชื่อมต่อข่ายงานคอมพิวเตอร์ที่ต่างชนิดกันให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบและปิดกั้นเนื้อหาบนเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายทำได้ดีขึ้น โดยจะให้บริษัท กสท โทรคมนาคม เป็นตัวหลักในการดำเนินงาน ร่วมกับบริษัท ทีโอที และจะเรียกผู้ให้บริการที่มีเกตเวย์จากต่างประเทศเข้าร่วมหารือ ซึ่งอาจเห็นเป็นรูปธรรมได้ภายใน 1-2 เดือน
งานนี้เข้าเฟซบุ๊คไม่ได้ 30-40 นาที จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ เล่นเอาชาวเฟซบุ๊คไทยอยู่ไม่เป็นสุขเลยทีเดียว