คุณกำลัง Phubbing ติดมือถือหรือไม่?
คุณกำลัง Phubbing ติดมือถือหรือไม่? ติดมือถืออันตรายอย่างไร? สังเกตุอย่างไร? แก้ไขอย่างไร?
ตั้งแต่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตและ Social Network เข้ามีบทบาทในชีวิตเรา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆอย่างมากมาย รวมทั้งพฤติกรรมของเราที่เปลี่ยนไป เราใช้เวลากับอุปกรณ์เหล่านี้มากขึ้น จนตอนนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะเห็นหลายคนก้มหน้าก้มตากดแต่โทรศัพท์มือถือ แทนที่จะหันหน้ามาคุยกัน
จนปรากฏการณ์นี้ได้ถูกเรียกว่า Phubbing หรือการเมินเฉย ไม่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้า เพราะมัวแต่ใช้มือถือ แล้วถ้าหากคุณติดอุปกรณ์ในมือมากเกินไป จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง?
นพ. จิตริน ใจดี
จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ
โรงพยาบาลกรุงเทพ
นพ. จิตริน ใจดี จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพได้บอกถึง พฤติกรรม Phubbing ว่า การติดมือถือนั้น จะทำให้เกิดผลเสียหลายอย่างดังนี้
- ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอย หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลงไป
- ส่งผลกระทบต่อความรับผิดชอบ หน้าที่ การงาน การเรียน
- ส่งผลต่อสุขภาพ ปวดหัว ปวดตา ปวดหลัง ปวดช่วงต้นคอ
- เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพราะมัวสนใจอยู่แต่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
- สร้างนิสัยเสียให้ต้องดูมือถือเป็นประจำทั้งๆที่ไม่มีเรื่องเร่งด่วน ห้ามตัวเองไม่ได้
- ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล เวลาที่ไม่ได้ใช้จะรู้สึกไม่สบายใจ
- เสี่ยงต่อการที่จะมีพฤติกรรมเสพติดด้านอื่นๆ เช่น ติดเกมส์ , Social Network
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการติดมือถือมากไปนั้นเกิดผลเสียหลายด้าน ทั้งด้านความสัมพันธ์ สุขภาพและด้านอื่นๆ ดังนั้นเราจึงควรเริ่มต้นสังเกตพฤติกรรมตัวเองว่า เริ่มติดมือถือแล้วหรือยัง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเราก่อนที่ปัญหาต่างๆจะเกิด โดยมีวิธีสังเกตอาการติดมือถือได้ดังนี้
วิธีสังเกตอาการติดมือถือ
- ใช้มือถือบ่อยขึ้น
- ใช้มือถือนานขึ้น / ใช้มือถือนานกว่าที่ตั้งใจไว้
- ใช้มือถือทุกครั้ง เวลาที่มีเวลาว่างหรือไม่รู้จะทำอะไร
- ถึงแม้ว่าใช้มากเกินไป หรือเริ่มมีผลเสียจากการใช้มือถือแล้ว ก็ยังหยุดไม่ได้
- ใช้โทรศัพท์ผิดกาลเทศะบ่อยๆ เช่น ใช้ขณะทานข้าว ในห้องเรียน ในโรงภาพยนตร์
การแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการติดมือถือนั้นต้องเริ่มต้นจากตัวเอง โดยคุณหมอได้แนะนำว่า ผู้ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องมีการตั้งเป้าหมายและกำหนดวันที่เริ่มปรับพฤติกรรมให้ชัดเจน พร้อมจดบันทึกลงไปในปฏิทิน และเริ่มปรับพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่สม่ำเสมอ โดย อาจจะเริ่มลดจากการใช้ทีละชั่วโมง สองชั่วโมง ทำไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ หรืออาจจะดึงเพื่อนและคนรอบข้างมาช่วยดูแลพฤติกรรมเรา และคอยให้กำลังใจในการลด ละ เลิก ส่วนผู้ปกครองที่อยากจะเตือนบุตรหลาน หรือสำหรับเด็กคุณหมอปอก็แนะนำวิธีดังนี้
วิธีป้องกัน แก้ไขอาการติดมือถือในเด็ก สำหรับผู้ปกครอง
- ควรเข้าใจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีก่อน ไม่เริ่มด้วยการตำหนิ
- ตั้งกติกาการใช้ และหากิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจมาแทน ถ้าทำได้ อาจชมหรือให้กำลังใจ
- ถ้าเป็นเด็กโต หาโอกาสพูดคุยถึงผลเสีย โดยมีเนื้อหาที่แสดงถึงความเป็นห่วงปรับพฤติกรรมไปทีละนิดด้วยความอดทน
การใช้เทคโนโลยีนั้นต้องใช้อย่างเหมาะสมจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด หากใช้มากเกินไปก็อาจจะเกิดผลกระทบตามมาโดยที่คุณไม่คาดคิดได้ โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่กำลังแสวงหาตัวตน ที่ควรใช้เวลาอยู่กับการทำกิจกรรมอื่นๆในชีวิตประจำวันมากกว่าการอยู่กับ เทคโนโลยี ดังนั้นการให้เด็กใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตจึงควรได้รับคำแนะนำและการดูแล อย่างใกล้ชิด
สนับสนุนเนื้อหา: www.it24hrs.com