รีวิว สองสัปดาห์กับ Microsoft Surface Pro 3
รีวิว สองสัปดาห์กับ Microsoft Surface Pro 3
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 บริษัทไมโครซอฟท์ได้เปิดตัวแท็บเล็ตรุ่นใหม่ในชื่อ Surface Pro 3 จากข่าว Microsoft เปิดตัว Surface Pro 3 และมีกำหนดวางขายครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา พอดีกับที่ขณะนี้ผมได้มีโอกาสมาร่วมทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ที่นิวยอร์ก ก็เลยได้มีโอกาสซื้อมาใช้งานแทนเครื่องเก่า (MacBook Pro 13” รุ่น Mid 2009)
การรีวิวผมจะข้ามในเรื่องของสเปคและเรื่องพื้นฐานอื่นๆ ที่ทุกท่านสามารถหาอ่านได้จากข่าวก่อนหน้าและทางเว็บไซต์ของผู้ผลิตอยู่แล้ว แต่จะขอรีวิวโดยเล่าจากการใช้งานจริงมาประมาณ 2 สัปดาห์นะครับ ที่สหรัฐอเมริกามีการให้ส่วนลด 10% แก่บุคลากรทางการศึกษาผ่านทางหน้าร้าน Microsoft Store ในรูปแบบเดียวกับร้าน U-Store ของ Apple ในประเทศไทย สำหรับผมได้ซื้อเครื่องนี้มาจากร้าน Best Buy (หนึ่งในร้านยักษ์ใหญ่ที่ขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์คล้ายๆ IT City หรือ Banana IT) พร้อมกับตัว Type Cover สีน้ำเงินเข้ม โดยได้ส่วนลดเช่นเดียวกันกับร้าน Microsoft Store ครับ แต่ทั้งนี้ต้องทวงกับพนักงานขายเองว่าไมโครซอฟท์มีส่วนลดนี้อยู่ถึงจะซื้อได้ในราคานี้ครับ
ขนาด น้ำหนัก รูปร่าง
ไมโครซอฟท์โฆษณา Surface Pro 3 ไว้ในงานเปิดตัวว่ามีน้ำหนักน้อยกว่าและบางกว่า MacBook Air (ไม่รวม Type Cover) โดยส่วนตัวผมพบว่าไมโครซอฟท์ทำการบ้านตรงนี้มาดีมากน้ำหนักและความหนาลดลงจากรุ่นก่อนและรุ่นแรกอย่างเห็นได้ชัดแม้ว่าขนาดหน้าจอจะใหญ่ขึ้น
เทียบความหนาระหว่าง Surface Pro 1 และ Surface Pro 3
ตัว Kickstand ทำงานได้ดีอย่างเหลือเชื่อ จากที่ทดลองใช้งานมายังไม่พบปัญหาใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานบนตักหรือวางบนโต๊ะ เท่าที่ได้ลองใช้งานคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาลื่นหรือล็อกไม่อยู่เนื่องจากตัวล็อกได้ถูกออกแบบให้ค่อนข้างฝืดมากพอสมควร
อแดปเตอร์ที่ให้มามีขนาดเล็กพกพาได้สะดวกมาก ทำให้ในวันทำงานปกติผมไม่จำเป็นต้องพกกระเป๋าโน้ตบุ๊ก ถือเพียงแค่ตัวเครื่องเหมือนถือสมุดจดและใส่อแดปเตอร์กับเมาส์ไว้ในกระเป๋ากางเกงเท่านั้น ตัวอแดปเตอร์มีพอร์ต USB ซึ่งใช้สำหรับชาร์จไฟให้มือถือและอุปกรณ์ gadget ต่างๆ ได้ (ตามสเปคจ่ายไฟ 5V 1A เท่านั้น)
หน้าจอ
หน้าจอเป็นอีกหนึ่งจุดขายที่ไมโครซอฟท์ใช้โฆษณา Surface Pro 3 ด้วยหน้าจอ IPS ความละเอียด 2160 x 1440 ทำให้หน้าจอคมชัดดีมาก ในระดับที่สูสีกับ Retina Display ของ MacBook Pro และ iPad อัตราส่วน 3:2 ของหน้าจอส่งผลให้มีพื้นที่ในแนวตั้งมากขึ้นให้ความรู้สึกคล้ายๆ อัตราส่วน 16:10 ของจอ MacBook ซึ่งจากการใช้งานพบว่าทำงานได้สะดวกกว่าอัตราส่วน 16:9 ของโน้ตบุ๊กทั่วไป อย่างไรก็ตามผู้ใช้บางกลุ่มอาจจะชอบอัตราส่วน 16:9 มากกว่าเนื่องจากไม่มีขอบดำเมื่อดูวิดีโอในรูปแบบไวด์สกรีน
อย่างไรก็ตามแอพพลิเคชันหลายๆ ตัวบน Windows ยังไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับกับหน้าจอที่มีความหนาแน่น (DPI) สูงเท่าระดับนี้ ทำให้เกิดปัญหาปุ่มกดเบลอตัวอักษรเบลอหรือบางครั้งอาจเกิดปัญหาปุ่มกดเล็กและตัวอักษรเล็กเกินไป ปัญหานี้พบได้กับโปรแกรมจำนวนมากเช่น Google Chrome, iTunes, NetBeans และ Eclipse ปัญหาที่ตามมาจากการใช้หน้าจอความหนาแน่นสูงนี้อันที่จริงไม่จำกัดอยู่กับ Surface Pro 3 เท่านั้น แต่เป็นปัญหาของโน้ตบุ๊กที่ใช้จอความหนาแน่นสูงที่ใช้ Windows ทุกรุ่น ในจุดนี้อาจจะต้องรอให้ผู้พัฒนาอัพเดตโปรแกรมของตนเอง ซึ่งน่าจะเร็วขึ้นเมื่อ Microsoft ผลิตเครื่องหน้าจอความหนาแน่นสูงขึ้นมาเองและมีหน้าจอความละเอียดสูงในท้องตลาดมากขึ้น
ตัวอย่างโปรแกรมที่เบลอเมื่อใช้งานบนจอความหนาแน่นสูง
ทางแก้ไขในระหว่างรอผู้ผลิตออกรุ่นปรับปรุงเท่าที่ผมได้ทดลองมาคือให้ติ๊กเลือก “Disable display scaling on high DPI setting” สำหรับโปรแกรมที่มีปัญหาดังกล่าวครับ
ตัวอย่างการตั้งค่า Compatibility ของโปรแกรม IntelliJ ครับ
หน้าจอโปรแกรมหลังแก้ไขโปรแกรมบางตัวแสดงผลได้สวยงาม บางตัวหน้าจอไม่เบลอแต่เล็กไปหรือแสดงผลผิดเพี้ยนใช้งานไม่ได้ครับ
คีย์บอร์ด
Type Cover สำหรับ Surface Pro 3 มีทั้งหมด 5 สี คือ สีม่วง สีแดงเข้ม สีฟ้า สีน้ำเงินเข้ม และ สีดำ โดยที่สหรัฐอเมริกาสีแดงเข้มสามารถซื้อได้ที่ร้าน Microsoft Store เท่านั้น ส่วนสีน้ำเงินเข้มสามารถซื้อได้ที่ Best Buy เท่านั้นครับ ประสบการณ์การพิมพ์บน Type Cover นับว่าสามารถใช้งานได้ดีมาก ถึงแม้จะยังไม่สามารถสู้คีย์บอร์ดโน้ตบุ๊กจริงๆ ได้ โดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบคีย์บอร์ดแบบ chiclet แบบของ MacBook Pro อย่างมาก อย่างไรก็ตามตัว Type Cover นับว่าสามารถใช้งานทดแทนได้อย่างไม่มีปัญหา ตัวแป้นพิมพ์ค่อนข้างตื้นเมื่อเทียบกับ MacBook รวมกับการที่ไม่มีสกรีนภาษาไทย (เครื่องรุ่นที่จำหน่ายในไทยน่าจะมีการสกรีนคีย์บอร์ดมาให้) ทำให้ผมมีปัญหาในการพิมพ์สัมผัสบ้างเล็กน้อย ตรงจุดนี้ใช้ไปสักพักน่าจะเกิดความเคยชินครับ
ตัวคีย์บอร์ดมีไฟเรืองแสงสำหรับใช้ในการพิมพ์ในเวลากลางคืน ในกล่องของคีย์บอร์ดจะมีการแถมห่วงสำหรับคล้องปากกามาให้ แต่โดยส่วนตัวผมชอบสอดปากกาไว้ในร่องของ Type Cover มากกว่าเนื่องจากให้ความรู้สึกเหมือนการถือสมุดจดหรูๆ ตัว Track pad ด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นทำให้สามารถใช้งานได้ดีกว่ารุ่นก่อนครับ แต่ยังไม่สามารถสู้ Trackpad ของ MacBook ได้ครับ ทั้งในเรื่องของขนาด, สัมผัสและประสบการณ์การใช้งาน โดยเฉพาะท่าทางต่างๆ ซึ่งผู้ที่ใช้ Mac น่าจะเคยชินเช่น ใช้สามนิ้วลากหน้าต่าง ใช้สองนิ้วเพื่อขยาย ทั้งหมดนี้ทำให้ประสบการณ์โดยรวมยังสู้ Mac ไม่ได้ครับ
ปากกา
ตามที่ทุกท่านน่าจะได้อ่านเรื่องเทคโนโลยีของตัวปากกามาโดยละเอียดแล้วจากข่าวของ เจาะลึก Surface Pen ไขปริศนาปากกา Surface Pro 3 จากที่ผมได้ลองใช้งานจริงๆ พบว่า รูปทรงปากกาออกแบบมาได้สวยกว่ารุ่นที่ผ่านมาและจับได้กระชับมือดีมาก ปุ่มบนตัวปากกาออกแบบให้ใช้สำหรับการลบและเลือกใน OneNote การใช้งานจริงพบว่าขณะจับปากกาเขียนนิ้วมักไปโดนปุ่มค่อนข้างบ่อย ตรงจุดนี้โดยส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะออกแบบปุ่มให้ไม่นูนออกมา คือให้ใช้แรงกดลงไปเพื่อกันการกดโดนโดยไม่ตั้งใจครับ
Surface Pen Button
ปุ่มด้านหลังของตัวปากกา สามารถกดหนึ่งครั้งเพื่อเปิด OneNote และกดสองครั้งเพื่อจับภาพบางส่วนของหน้าจอเก็บไว้ใน OneNote ได้ในทันที ซึ่งถือเป็นหนึ่งจุดขายของ Surface Pro 3 จากการใช้งานพบว่าสามารถใช้งานได้สะดวกมากครับ
จุดที่น่าเป็นห่วงคือความคงทนของหัวปากกา จากที่ผมได้ไปดูที่ Microsoft Store และ Best Buy หลายๆ สาขาพบว่าโดยส่วนใหญ่หัวจะค่อนข้างบู้บี้ทั้งที่ตั้งโชว์มายังไม่ถึงเดือน ตรงจุดนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะคนไปลองกันอย่างไม่ระวังเอาไปขูดกับของอื่นๆ หรือทำตกหรือเกิดจากการใช้งานหนักเกินไป อย่างไรก็ตามของผมยังไม่พบปัญหาในจุดนี้ครับ
การเชื่อมต่อภายนอก
ไมโครซอฟท์ให้พอร์ตเชื่อมต่อมาเพียงสี่ช่องเท่านั้น คือ USB 3.0, Mini DisplayPort, microSD card และช่องเสียบหูฟัง 3.5mm ซึ่งค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับ MacBook และอัลตร้าบุ๊กยี่ห้ออื่นๆครับ
ด้วยเหตุนี้การที่จะต่อหลายจอภาพตามข่าว เผยสเปคซีพียู แบตเตอรี่ และการสนับสนุนจอภาพภายนอกของ Surface Pro 3 อย่างละเอียด จำเป็นใช้จอที่มีพอร์ต DisplayPort Out สำหรับการต่อแบบ daisy chain ถ้าต้องการใช้จอปกติจำเป็นต้องใช้ตัว Docking Station หรือซื้อ DisplayPort MST Hub (เช่น Club3D) เพิ่มเอง ตรงจุดนี้อาจจะไม่สะดวกเท่า MacBook Pro Retina Display ที่ให้พอร์ต Thunderbolt มาทั้งหมด 2 พอร์ต และ HDMI อีก 1 พอร์ต รองรับการต่อจอภาพภายนอกได้โดยไม่ต้องใช้จอที่มีพอร์ต DisplayPort Out และไม่ต้องใช้ Hub ในการเชื่อมต่อ
การใช้ทำงานอย่างจริงจังทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ตัว Docking Station ซึ่งขายแยกในราคาเต็มที่ $199 เหรียญ ภายใน Dock จะประกอบด้วยพอร์ต USB 3.0 x 3, USB 2.0 x 2, Gigabit Ethernet, 3.5mm audio input/output และ Mini DisplayPort ตัว Docking Station ของ Surface Pro 3 นั้นแตกต่างจากของ Surface Pro 1, 2 ตรงที่ออกแบบให้สูงเพียงครึ่งเดียวของตัวเครื่องทำให้ไม่บังพอร์ต USB 3.0 และ Mini DisplayPort ที่ติดมากับเครื่อง แต่ปิดบังช่องเสียบการ์ด microSD ที่อยู่ใต้ Kickstand สำหรับตัว Docking Station จะวางขายหลังตัวเครื่องสเปคอื่นๆ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2557 ครับ (ที่สหรัฐอเมริกา)
การใช้งานเป็นโน้ตบุ๊ก
การใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กนับว่าตัว Type Cover มีความจำเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากตัว On Screen Keyboard ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่ กดง่ายและรองรับการเขียนและแปลงเป็นตัวอักษรโดยอัตโนมัติ (OCR) (ปัจจุบันยังไม่รองรับภาษาไทย) แต่ในการใช้งานจริงในโหมด Desktop แอพส่วนใหญ่ไม่รองรับการเปิดปิด On Screen Keyboard แบบอัตโนมัติ ทำให้ต้องกดที่ปุ่มคีย์บอร์ดมุมล่างขวาเครื่องเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างน่ารำคาญและใช้งานจริงไม่ได้ (สามารถเปิดค้างไว้ได้แต่กินที่หน้าจอค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในโหมดแนวนอน) จากที่ได้ทดลองพบว่า IE รุ่นเดสก์ท็อปใช้นิ้วจิ้มหน้าจอแล้วไม่มีคีย์บอร์ดขึ้น แต่ Google Chrome คีย์บอร์ดเปิดปิดอัตโนมัติได้ แต่ตัว On Screen Keyboard จะเปิดขึ้นมาเมื่อใช้นิ้วจิ่มจอแม้จะใส่ Type Cover อยู่ก็ตาม ซึ่งปัญหาเหล่านี้น่าจะถูกแก้ไขในแอพรุ่นต่อไป อย่างไรก็ตามปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นในโหมด Modern เนื่องจากตัวคีย์บอร์ดจะขึ้นมาแล้วหายไปเองได้โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว (รูปแบบเดียวกับการใช้คีย์บอร์ดของ iPad หรือแท็บเล็ต Android ทั่วๆ ไป)
เมื่อประกอบเข้ากับตัว Type Cover แล้วตัวแท็บเล็ตสามารถทำงานแทนแล็ปท็อปได้อย่างสมบูรณ์ครับ รุ่นที่ผมได้มาเป็นรุ่น Core i5 แรม 4GB การใช้งานโดยทั่วไปสำหรับผม (เขียนโปรแกรม ตัดต่อรูปเล็กน้อย เข้าเว็บ ดู YouTube) ด้วยสเปคระดับนี้แรงเพียงพออยู่แล้ว ระหว่างใช้งานไม่แสดงอาการอืดให้เห็นแต่อย่างใด เรื่องการเล่นเกมอาจจะต้องรอท่านอื่นมาช่วยเสริมเนื่องจากผมไม่เล่นเกมเลยไม่สามารถรีวิวตรงจุดนั้นได้ครับ
การใช้งานเป็นแท็บเล็ต
ด้วยน้ำหนักของตัวเครื่องทำให้สามารถถือใช้งานเป็นแท็บเล็ตได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ตามตัวเครื่องยังขาดฟีเจอร์หลายๆ อย่างที่ตัวแท็บเล็ตควรทำได้เช่น การเล่นเพลงต่อเนื่องในระหว่างที่พับปิดหน้าจอ แบตเตอรี่ที่อยู่ได้ตลอดวัน นอกจากนี้แอพต่างๆ ก็ยังมีให้ใช้งานน้อยและการใช้งานยังไม่สะดวกเท่าการเปิด iPad ขึ้นมาใช้ ปกติแล้วในวันที่ผมพกเครื่องออกไปใช้งานข้างนอกผมมักจะต้องพกตัว Type Cover ไปด้วยเสมอ ทำให้เวลาพับตัว Type Cover กลับไปด้านหลังเพื่อใช้งานเป็นแท็บเล็ตมือจะไปกดโดนตัวคีย์บอร์ดทำให้รู้สึกแปลกๆ ใช้งานได้ยาก
สรุป
ไมโครซอฟท์ทำการบ้านมาได้ดีกับตัว Surface Pro 3 ตามสโลแกนที่ว่า “The tablet that can replace your laptop” อย่างไรก็ตามการใช้งานยังพบปัญหาในหลายๆ จุดโดยเฉพาะเรื่องของความละเอียดหน้าจอ และการใช้งานในโหมดแท็บเล็ต ทั้งนี้โดยส่วนตัวผมขอยกให้ Surface Pro 3 เป็น “The tablet that can replace your laptop but not your old tablet” โดยปกติแล้วผมจะพก MacBook Pro 13” คู่กับ iPad เป็นประจำ หลังจากได้ Surface Pro 3 มาแล้ว พบว่าสำหรับวันทำงานที่ไม่ได้มีเวลาเล่นอะไรมากนัก ผมสามารถพก Surface Pro 3 ไปทำงานเพียงอย่างเดียวได้ แต่สำหรับเวลาที่ไปข้างนอกนานๆ หรือเดินทางไกลๆ ผมยังจำเป็นต้องพก Surface Pro 3 ไปคู่กับ iPad โดยเวลาอยู่ข้างนอกก็ใช้ iPad ในการเข้าเว็บ เช็กเมล เปิดแผนที่นำทาง หลังจากเข้าที่พักก็เปิด Surface Pro 3 โหลดรูปมาเก็บไว้จากกล้อง ทำงานต่อ ฯลฯ
ด้วยราคา $999 หากไม่ได้ใช้ส่วนลดบุคลากรทางการศึกษา เมื่อรวมกับราคาอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นเช่น Type Cover ($129) อาจจะดูแพงไปซักนิด และยิ่งเมื่อรวมราคา Docking Station ($199) เข้าไปด้วย หากไมโครซอฟท์ลดราคาอุปกรณ์เสริมลงหรือแถมอุปกรณ์เสริมมาพร้อมกับตัวเครื่องก็น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี
หวังว่ารีวิวนี้จะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจโดยเฉพาะคนที่คิดจะฝากหิ้วเครื่องเข้ามาใช้งานก่อนการเปิดตัวจริงในไทยช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้นะครับ
ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
บทความโดย: nuntipat