ย้อนตำนาน Nokia เดินหมากพลาดตาเดียว พ่ายแพ้ทั้งกระดาน
ย้อนตำนาน Nokia เดินหมากพลาดตาเดียว พ่ายแพ้ทั้งกระดาน
ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา เราเห็น Satya Nadella ซีอีโอไมโครซอฟท์ออกมาประกาศข่าวสำคัญหลายเรื่อง (ที่สำคัญคือทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับ "กิจการมือถือของโนเกีย") ได้แก่
- ปลดพนักงานครั้งใหญ่ 18,000 ตำแหน่ง โดย 12,500 คนจาก 18,000 คนคือพนักงานโนเกียเดิม
- เลิกทำ Nokia X ฮาร์ดแวร์ที่อยู่ในสายพัฒนาจะเปลี่ยนไปใช้ Windows Phone
- (ยังไม่ยืนยันแต่น่าจะจริง) เลิกทำ Asha และมือถือฟีเจอร์โฟนของโนเกียเดิม
ผมคิดว่าท่าทีของไมโครซอฟท์รอบล่าสุดนี้ น่าจะถือเป็น "จุดสิ้นสุด" ของธุรกิจมือถือของโนเกียอย่างเต็มตัว เพราะต่อจากนี้ไปเราจะเหลือแค่ "Windows Phone เพื่อไมโครซอฟท์" เพียงอย่างเดียว
อะไรคือความผิดพลาดของโนเกีย อดีตราชามือถือโลกติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 14 ปี บทความนี้จะพาไป "ย้อนรอย" ดูความผิดพลาดเหล่านั้นครับ
โนเกียไม่ได้เริ่มจากมือถือ
บริษัทชื่อ "โนเกีย" มีประวัติความเป็นมายาวนานถึง 149 ปี โดยเปิดกิจการตั้งแต่ปี 1865 เพื่อเป็น "โรงเลื่อยไม้" และเริ่มใช้ชื่อ "โนเกีย" ครั้งแรกพร้อมกับจดทะเบียนบริษัทในปี 1871
จากนั้นเส้นทางของโนเกียก็บุกตะลุย ฝ่าฟันกาลเวลามาอย่างโชกโชน เอาตัวรอดผ่านสงครามโลกสองครั้ง ภาวะเกือบล้มละลายหลายครั้ง และทำธุรกิจหลากหลายตั้งแต่ยาง สายเคเบิล กระดาษ รองเท้า ยุทโธปกรณ์ (เช่น หน้ากากป้องกันแก๊ส) พลาสติก เคมีภัณฑ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม และคอมพิวเตอร์ (โนเกียเคยขายคอมพิวเตอร์มาก่อนในยุค 80s แถมยังเคยทำจอภาพ CRT/LCD ก่อนขายให้ ViewSonic)
อ่านประวัติของโนเกียเพิ่มเติมได้จาก เว็บไซต์โนเกีย
ช่วงปลายทศวรรษ 80s โนเกียประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักในธุรกิจทีวี ถึงขนาดซีอีโอ Kari Kairamo ฆ่าตัวตายในปี 1988
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของโนเกียคือปี 1992 ซีอีโอคนใหม่ Jorma Ollila (ปัจจุบันเป็นประธานบอร์ดของ Royal Dutch Shell) ตัดสินใจเลิกทำธุรกิจทุกอย่าง แล้วหันมาทุ่มให้ "โทรศัพท์มือถือ" เพียงอย่างเดียว
ช่วงทศวรรษ 80s โนเกียเป็นแกนหลักในการพัฒนามาตรฐาน GSM มาก่อน เมื่อกระแสโทรศัพท์มือถือเริ่มมาแรง บวกกับเทคโนโลยี GSM สามารถเอาชนะ CDMA ได้ ทำให้กระแสเหล่านี้ช่วยหนุนเสริมให้โนเกียภายใต้การคุมบังเหียนของ Ollila กลายเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์อันดับหนึ่งของโลกได้สำเร็จในปี 1998
ย้อนดู "ระบบปฏิบัติการ" ของโนเกีย
นับจากนั้นเป็นต้นมา ยุคทองอันยาวนานของโนเกียก็เริ่มต้นขึ้น แต่ทว่า... เกือบ 20 ปีหลังจากนั้น มันก็สิ้นสุดลง
ในความรับรู้ของคนทั่วไป ความผิดพลาดของโนเกียเกิดจากการปรับตัวไม่ทันเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน แต่คำถามก็คือ โนเกียไม่รู้เลยหรือว่า "สมาร์ทโฟน" กำลังจะมา?
โทรศัพท์มือถือในยุคก่อนเป็น "อุปกรณ์สื่อสาร" ไม่ใช่ "อุปกรณ์คอมพิวเตอร์" หน้าที่หลักของมันคือเชื่อมต่อกับเครือข่าย cellular เพื่อสื่อสารด้วยเสียงเป็นหลัก
จุดขายของโทรศัพท์ในยุคนี้จึงเน้นคุณภาพของสัญญาณ บวกกับการออกแบบตัวเครื่อง ชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ คุณภาพของงานประกอบ ในขณะที่ซอฟต์แวร์นั้นเป็นแค่ "ส่วนเสริม" ที่เป็นลูกเล่นหรือจุดขายเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
ในยุคแรกๆ โนเกียจึงไม่มีชื่อเรียก "ระบบปฏิบัติการ" ของโทรศัพท์มือถือ ในลักษณะเดียวกับระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ (คนทั่วไปอาจเรียกกันเล่นๆ ว่า Nokia OS แต่มันไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการนะครับ) พอมาถึงช่วงปี 2000 บวกลบเล็กน้อย โนเกียก็คลอด "แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์" (ไม่ใช่ OS เต็มตัว อาจพอเทียบได้กับ Desktop Environment ของฝั่งพีซี) ออกมาทั้งหมด 6 ตัว (อ้างอิง) ไล่จากรุ่นเล็กไปใหญ่ดังนี้
- Series 20
- Series 30
- Series 40
- Series 60
- Series 80
- Series 90
ตัวอย่างสถาปัตยกรรมของ Series 40
ตัวอย่างสถาปัตยกรรมของ Series 60
แพลตฟอร์มที่มีชีวิตรอดมาได้จนถึงทศวรรษ 2010s เหลืออยู่ 3 ตัวคือ Series 30, Series 40 และ Series 60 (ภายหลังถูกเรียกว่าเป็น S30+, S40, S60/Symbian) ถ้าเทียบรุ่นตามแบบปัจจุบันก็คือ
- S30+ ใช้กับมือถือโนเกียรุ่นแป้นตัวเลข เช่น Nokia 10x
- S40 ใช้กับมือถือโนเกียรุ่นแป้นตัวเลขความสามารถเยอะขึ้นมาอีกหน่อย เช่น Nokia 11x หรือ 2xx บางรุ่น และคาบเกี่ยวไปถึงสมาร์ทโฟน Asha รุ่นล่างที่ใช้รหัส 2xx กับ 3xx (แต่ไม่ใช่ Asha 5xx)
- S60 หรือภายหลังเรียก Symbian ใช้กับสมาร์ทโฟนโนเกียในยุค 2000s แทบทุกตัว จนมาจบที่ 808 PureView เป็นตัวสุดท้าย
ส่วน Series 80/90 เคยถูกวางตัวไว้ใช้กับสินค้าตัวท็อปสาย Nokia Communicator แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ถูกผนวกรวมกับ S60 แทน
Symbian/S60 ราชาแห่งทศวรรษ 2000s
เมื่อพูดถึงระบบปฏิบัติการของโนเกีย หลายคนมักนึกถึง Symbian แต่เอาเข้าจริงแล้ว โนเกียไม่ได้เป็นผู้สร้าง Symbian ครับ
Symbian มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมาก ต้นกำเนิดของมันมาจากบริษัทชื่อ Psion (อ่านว่า ไซออน) ที่สร้างอุปกรณ์ PDA ยุคแรกๆ ชื่อ Psion Organizer โดยใช้ระบบปฏิบัติการทำเองชื่อ EPOC มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980s
EPOC ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ โดยมีโมเดลธุรกิจคือการขายไลเซนส์ให้บริษัทฮาร์ดแวร์อื่นๆ นำไปใช้งาน พอถึงปี 1998 มันก็กลายร่างเป็นบริษัท Symbian Inc. โดยมีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 4 รายคือ Psion เดิม, โนเกีย, โมโตโรลา และอีริคสัน
Nokia 7650 (2002) สมาร์ทโฟนตัวแรกของโนเกียที่ใช้ S60 และ Symbian OS 6.1, ภาพจาก Nokia
เนื่องจาก Symbian Inc. เป็นบริษัทที่เกิดจากการลงขันกันของ 3 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการมือถือในยุคนั้น ตัวระบบปฏิบัติการ Symbian OS จึงมีปัจจัยด้านการเมืองภายในบริษัทมาเกี่ยวข้อง ตัวระบบปฏิบัติการจึงทำงานที่ฮาร์ดแวร์ระดับล่าง และเปิดให้แต่ละบริษัทสามารถสร้าง UI ของตัวเองขึ้นมาครอบระบบปฏิบัติการได้ ซึ่ง UI ก็ถูกแบ่งออกเป็น 3 ค่ายใหญ่ๆ คือ
- S60 (สนับสนุนโดยโนเกีย ซัมซุง แอลจี)
- UIQ (สนับสนุนโดยอีริคสัน โมโตโรลา)
- MOAP (สนับสนุนโดยบริษัทฝั่งญี่ปุ่น เช่น ฟูจิตสึ ชาร์ป)
ถึงแม้แกนหลักของระบบปฏิบัติการเป็นตัวเดียวกัน แต่ด้วยความแตกต่างด้าน UI และแพลตฟอร์มการพัฒนา บวกกับการเมืองระหว่างค่ายมือถือ ทำให้การเขียน "แอพ" บนมือถือในยุคนั้นทำได้ยากมาก เพราะต้องเขียนเจาะเป็นรายรุ่นเท่านั้น (และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ Andy Rubin ต้องการสร้างระบบปฏิบัติการเพียงตัวเดียวที่ทุกคนมาใช้ได้ และการันตีว่าแอพรันได้เสมออย่าง Android ขึ้นมา)
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในโลกมือถือยุค 2000s ก็ไม่ได้บีบให้ผู้ผลิตมือถือต้องจริงจังเรื่องซอฟต์แวร์มากนัก เพราะรูปแบบการใช้งานยังเน้นการสนทนาด้วยเสียง แอพพลิเคชันยังเป็นแค่ส่วนเสริมการใช้งานเท่านั้น ดังนั้นการใช้งาน Symbian จึงถือว่าตอบโจทย์ของยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โนเกียมีระบบปฏิบัติการที่ "ดีในระดับหนึ่ง" ใช้งาน เมื่อบวกกับแสนยานุภาพของโนเกียในยุคนั้นก็สามารถทำยอดขายได้ถล่มทลาย เบียดบังคู่แข่งร่วมยุคอย่าง Windows Mobile, Palm OS และ BlackBerry มาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
Maemo แท็บเล็ตที่มาก่อนยุคสมัย
ปัญหาของ Symbian คือสถาปัตยกรรมของมันค่อนข้างเก่าแก่ เพราะสร้างมาตั้งแต่สมัย Psion ออกแบบมาสำหรับมือถือปุ่มกด เน้นการสื่อสารด้วยเสียงเป็นสำคัญ
แต่ภาพอนาคตที่ทุกคนมองเห็นเด่นชัดคือ โทรศัพท์มือถือกับคอมพิวเตอร์จะถูกหลอมรวมเข้าด้วยกัน แนวคิดการทำงานโดยอิง "ข้อมูล" (data) แบบคอมพิวเตอร์กำลังวิ่งเข้าหาวงการมือถือ เทคโนโลยีการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์อย่าง EDGE และ 3G กำลังเริ่มกลายเป็นกระแสหลัก
โนเกียเห็นภาพอนาคตนี้ก่อนใครๆ และกระโจนเข้าไป "ทดลอง" รับมือกับมันผ่านโครงการชื่อ Maemo (อ่านว่า "เมโม") ตั้งแต่ปี 2005
Maemo เรียกตัวเองว่าเป็น "Internet Tablet" มันคืออุปกรณ์จอสัมผัสขนาดเล็กประมาณ 4-6 นิ้ว มีเว็บเบราว์เซอร์และโปรแกรมอีเมลในตัว เชื่อมต่อเน็ตผ่าน Wi-Fi ทำงานได้ "เทียบเท่า" คอมพิวเตอร์จริงๆ โดยสถาปัตยกรรมภายในของมันคือ "ลินุกซ์" (เป็น Debian) ที่รันด้วยส่วนติดต่อผู้ใช้ที่ดัดแปลงมาจาก GNOME
แผนผังแนวคิดและฟีเจอร์ของ Maemo ที่ถือว่าล้ำสมัยมากในยุคนั้น (ลองเปลี่ยนคำว่า Maemo ในแผนภาพออก แล้วเอาคำว่า Android ใส่เข้าไป ยังใช้ได้เลย)
สถาปัตยกรรมของ Maemo เน้นเทคโนโลยีสาย Debian/GNOME เป็นหลัก, ภาพจาก Maemo.org
สินค้าตัวแรกของโนเกียที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Maemo คือ Nokia 770 (เปิดตัวปลายปี 2005) จากนั้นโนเกียก็ออกแท็บเล็ตประมาณปีละ 1 ตัวโดยใช้ชื่อเรียกว่า Nxxx ได้แก่ N800 (2007), N810 (2007/2008) และ N900 (2009)
Nokia N900 แท็บเล็ต Maemo ตัวสุดท้ายพร้อมระบบปฏิบัติการ Maemo 5 (ออกปี 2009)
แผนการของโนเกียในตอนนั้นค่อนข้างชัดเจนว่า ทำ Maemo ขนานไปกับ Symbian โดยวาง Maemo ไว้ที่ตลาดบน จับลูกค้าที่ต้องการฟีเจอร์จากอุปกรณ์พกพาในลักษณะที่ใกล้เคียงกับ คอมพิวเตอร์ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนผ่านจาก Symbian ไปยัง Maemo อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ตาม แผนการ Maemo ไม่ออกดอกออกผลอย่างที่หวัง การพัฒนาเป็นไปอย่างเชื่องช้า และสุดท้ายโนเกียต้องประกาศรวมโครงการ Maemo เข้ากับโครงการ Moblin ของอินเทลในปี 2010 กลายเป็นโครงการใหม่ชื่อ MeeGo แต่สุดท้ายก็ยังล้มเหลวอีก เราได้เห็นสมาร์ทโฟน MeeGo วางขายจริงได้เพียงรุ่นเดียวคือ Nokia N9 ในปี 2011 (วางขายช่วงที่เมืองไทยมีน้ำท่วมใหญ่พอดี) แล้วก็ถูกยกเลิกโครงการไป
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้โนเกียเปลี่ยนผ่านไม่สำเร็จ?
วิสัยทัศน์ของโนเกียในช่วงนั้น (ปี 2005-2007) ดูจะถูกต้องสมบูรณ์ มองการณ์ไกล บริษัทออกสินค้ากลุ่มแท็บเล็ตหรือสมาร์ทดีไวซ์จอสัมผัสก่อน iPhone ถึง 2 ปี, ก่อน iPad ถึง 5 ปี แต่ทำไม Maemo ยังล้มเหลว?
ผมคิดว่าปัญหาที่สำคัญของโนเกียในช่วงยุคเปลี่ยนผ่านคือ "การเมืองภายในบริษัท"
ถ้าเราย้อนดูประวัติซีอีโอของโนเกียตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โนเกียมีซีอีโอเพียงแค่ 3 คน คือ
- Jorma Ollila อยู่กับโนเกียนานถึง 14 ปี (1992-2006) เขาเป็นคนพาโนเกียเข้าสู่ยุคทอง กลายเป็นราชาโลกมือถือติดต่อกันนานเป็นสิบปี
- Olli-Pekka Kallasvuo เนื่องจากชื่อเขาค่อนข้างยาว ในวงการจึงเรียกชื่อย่อ OPK เขาเป็นลูกหม้อของโนเกียมานาน และสืบทอดอำนาจของ Ollila ในปี 2006 มาจนถึงปี 2010
- Stephen Elop ผู้บริหารที่ชาว Blognone น่าจะคุ้นเคยกันดี เขาเป็นคนแคนาดา ย้ายข้ามวิกมาจากไมโครซอฟท์ในปี 2010 และอยู่เป็นซีอีโอถึงปี 2013 ในตอนที่ไมโครซอฟท์ประกาศซื้อกิจการมือถือของโนเกีย)
ช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญคือการถ่ายโอนอำนาจจาก Ollila มาเป็น OPK ในปี 2006 ครับ โลกมือถือในช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน
- ปี 2005 โนเกียเริ่มโครงการ Maemo
- ปี 2006 เปลี่ยนตัวซีอีโอเป็น OPK
- ปี 2007 แอปเปิลเปิดตัว iPhone รุ่นแรก
- ปี 2008 กูเกิลเปิดตัว Android รุ่นแรก
โนเกียเห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เบื้องหน้า ว่าโทรศัพท์มือถือต้องเปลี่ยนเป็นจอสัมผัส ต้องเน้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก และคู่แข่งหน้าใหม่ๆ จากสายไอทีเริ่มกระโดดเข้ามาสู่วงการโทรคมนาคม
ทางเลือกของโนเกีย ณ ช่วงปี 2006-2007 มีอยู่สองทางคือ จะอยู่กับ Symbian ต่อไป (ของที่คุ้นเคย พิสูจน์ตัวเองแล้ว แต่เก่าคร่ำครึ) หรือจะมุ่งหน้าสู่ Maemo (ของใหม่ที่น่าจะดีกว่า แต่ยังไม่เคยพิสูจน์ตัวเอง)
โนเกียในช่วงเวลานั้นจึงตัดสินใจอยู่กับ Symbian เป็นหลัก และแบ่งทรัพยากรมาให้ Maemo อีกนิดหน่อย การพัฒนาแยกทีมกันชัดเจนไม่ยุ่งกันนัก
เหตุผลอีกอย่างที่ผมคิดว่าโนเกียเลือก Symbian คือโครงสร้างอำนาจภายในบริษัท เพราะโนเกียมีผู้บริหารใหญ่อีกคนชื่อ Anssi Vanjoki เป็นหนึ่งในสามผู้บริหารยุค "ดรีมทีม" ร่วมกับ Ollila และ OPK ซึ่งเขาถูกคาดหมายว่าจะได้เป็นซีอีโอคนต่อไป ถัดจาก OPK
Anssi Vanjoki เติบโตมากับอาณาจักรของ Symbian ตลอดมา ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือผู้อำนวยการฝ่ายโทรศัพท์มือถือ (ในขณะที่ทีม Maemo เป็นผู้บริหารคนอื่น) เมื่อคนในคาดกันว่าเขาจะกลายเป็นซีอีโอคนต่อไป ผนวกกับสถานการณ์ในตอนนั้นที่ Symbian ยังแข็งแกร่ง ขายได้เป็นหลักร้อยล้านเครื่อง จึงไม่น่าแปลกใจนักที่โนเกียจะยัง "play safe" เลือกอยู่กับ Symbian ต่อ
สัญลักษณ์สุดท้ายของ Symbian Foundation ที่เหลือเพียงความทรงจำ
Symbian ยุคใหม่ใต้เงา Foundation
เมื่อโนเกียเลือกได้แล้วว่า "เอา Symbian" กระบวนการปรับปรุง Symbian ให้ทันสมัย (modernization) จึงเริ่มต้นขึ้น
อย่างที่เขียนไปข้างต้นว่า Symbian เป็นระบบปฏิบัติการที่ 4 บริษัทร่วมลงขันกันทำ กระบวนการพัฒนาจึงไม่ค่อยคล่องตัวนัก เพราะทิศทางในการพัฒนาแยกไปคนละทาง (ตัว UI แต่ละระบบก็แตกต่างกัน ใช้งานร่วมกันไม่ได้) ในปี 2008 (หลัง iPhone รุ่นแรกวางขายได้ประมาณหนึ่งปี) โนเกียจึงซื้อหุ้นทั้งหมดใน Symbian ประกาศเปิดซอร์สโค้ดเท่าที่จะทำได้ และตั้ง Symbian Foundation เป็นองค์กรกลางขึ้นมาดูแลกระบวนการพัฒนา Symbian ทั้งหมด (ตอบโต้ Android ที่โอเพนซอร์สมาตั้งแต่ต้น)
ในแง่เทคนิคแล้ว Symbian มีปัญหาเรื่องกระบวนการพัฒนาแอพที่ยุ่งยากซับซ้อน ช่วงต้นปี 2008 โนเกียจึงแก้เกมโดยซื้อบริษัท Trolltech เจ้าของเฟรมเวิร์ค Qt ที่มีชื่อเสียงด้านความง่ายในการพัฒนาแอพ งานนี้โนเกียหวังยิงนกสองตัวพร้อมกัน โดยใช้ความง่ายของ Qt ดึงดูดนักพัฒนา และใช้ Qt เป็นตัวเชื่อมการพัฒนาแอพบนระบบปฏิบัติการสองตัวคือ Symbian และ Maemo (แนวคิดคือ เขียนแอพให้รองรับ Qt ก็พอ ไม่ต้องสนใจว่าเป็น Symbian หรือ Maemo)
ช่วงปี 2008-2009 ถือว่ากระบวนการปรับปรุง Symbian ของโนเกียเริ่มต้นได้ค่อนข้างสวย (ประกอบกับ iPhone/Android ในยุคนั้นก็ยังพัฒนาไม่ดีพอ ความสามารถยังจำกัด แอพยังน้อย) เราเห็นกระบวนการที่น่าสนใจหลายอย่างจากฝั่งโนเกีย ได้แก่
- เปิด Nokia App Store มาแข่งกับ App Store ของแอปเปิล (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Ovi Store)
- แผนการออก Symbian รุ่นใหม่ทุก 6 เดือน (มาแนว Ubuntu) โดยจะใช้ชื่อ Symbian^1, Symbian^2 ไปเรื่อยๆ
- โครงการสนับสนุนนักพัฒนามากมาย ทั้งช่วยทำตลาด ลดความยุ่งยากในระบบ SDK และการ sign โปรแกรม, ระดมความเห็นจากนักพัฒนาและผู้ใช้, ปรับปรุงฟีเจอร์ด้านมัลติมีเดีย
- เจรจาให้ไมโครซอฟท์ทำ Microsoft Office เวอร์ชัน Symbian
- ยกเครื่อง UI ครั้งใหญ่ ปรับหน้าจอให้เรียบง่าย ไม่รก เหมาะกับจอสัมผัส ใช้จำนวนคลิกน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้ของ Symbian Foundation กลับไม่ออกมาเป็นไปตามที่หวัง กระบวนการพัฒนาต่างๆ ล่าช้ากว่าที่คาดไปมาก จนทำให้โทรศัพท์มือถือเรือธงของโนเกียหลายๆ รุ่นในช่วงนั้นต้องเลื่อนออกไปเยอะ
ปี 2008 ในช่วง Symbian ก่อนยุคเปลี่ยนผ่าน โนเกียยังสามารถออกมือถือเด่นๆ อย่าง 5800 XpressMusic, มือถือคีย์บอร์ด E71, หรือมือถือรุ่นท็อป N96
แต่พอมาถึงปี 2009-2010 มือถือเรือธงออกน้อยลงและช้าลงมาก กว่าเราจะได้เห็น Symbian รุ่นท็อปตัวต่อมาคือ N97 ก็ต้องรอถึงกลางปี 2009 (พร้อมกับระบบปฏิบัติการ S60 5th Edition หรือ Symbian^1) และกว่าเราจะได้เห็น Symbian ตัวแรกในยุค Foundation ที่เริ่มใช้งานได้ (Symbian^3) ก็ต้องรอถึงปลายปี 2010 (ออกพร้อม Nokia N8)
ช่วงเวลา 2-3 ปีในโลกไอทีถือว่าเร็วมากนะครับ พอโนเกียเข็น N97 ออกมาสำเร็จในปี 2009 ก็ต้องเจอกับคู่แข่งอย่าง iPhone 3GS ที่พัฒนาขึ้นจากเดิมมาก พอมาถึงปี 2010 มือถือเรือธงอย่าง N8 ก็ต้องเผชิญหน้ากับทั้ง iPhone 4 และ Galaxy S1 ที่พัฒนาจนเริ่มอยู่ตัวแล้ว
MeeGo มีความพยายามแต่ยังอ่อนหัด
ในฝั่งของ Maemo/MeeGo เองที่ได้ทรัพยากรน้อยกว่า Symbian มาก ก็มีชะตากรรมที่น่าเศร้าไม่ต่างกันนัก เพราะต้องผ่าน "การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย" หลายครั้ง ตั้งแต่เปลี่ยนจาก GTK+ เป็น Qt ในปี 2008 และการรวมโครงการ Maemo กับ Moblin ของอินเทลในปี 2010
โนเกียออกสินค้า Maemo ตัวสุดท้ายคือ N900 ในปี 2009 และต้องรออีกสองปีกว่าเราจะได้เห็นผู้สืบทอดสาย MeeGo (ที่ออกมาเพียงรุ่นเดียว) คือ N9 ในช่วงปลายปี 2011 ซึ่งก็ออกมา "ช้าเกินไป" ในช่วงที่โนเกียตัดสินใจทิ้ง Symbian/MeeGo และหันไปเลือก Windows Phone แทนแล้ว
Nokia N9 มือถือตัวแรกและตัวเดียวที่ใช้ระบบปฏิบัติการ MeeGo
ผู้อ่าน Blognone คงทราบกันดีว่ามีทีมงานหลายคนของ Maemo/MeeGo ออกไปเปิดบริษัท Jolla สืบทอดเจตนารมณ์ ต้องรอดูกันต่อไปครับว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน
ความล่าช้าของโนเกีย
ความล่าช้าของโนเกียมีเหตุมาจากหลายปัจจัย
อย่างแรกที่สุดคงเป็นเรื่องการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีครั้งใหญ่ในปี 2008 โดยแนวคิดของโนเกียคือการเปลี่ยนจาก S60/C++ มุ่งไปสู่ Symbian/Qt เป็นหลัก แนวคิดนี้ในเชิงทฤษฎีฟังดูดี แต่ในเชิงปฏิบัติคือการเขียนใหม่ทั้งในส่วนของระบบปฏิบัติการเอง และส่วนของแอพจากนักพัฒนาภายนอก
แนวคิดของโนเกียคือยุบรวม S60/C++ กับ Maemo/GTK+ ให้มาอยู่ใต้ร่มของ Symbian/Qt ให้หมด แต่กลับกลายเป็นว่าแอพบน S60/C++ กับ Maemo/GTK+ เดิมก็ไม่สามารถนำไปใช้ต่อบน Qt ได้ ในขณะที่ Qt เองที่มีรากฐานมาจากระบบปฏิบัติการเดสก์ท็อป ก็ต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการปรับตัวเข้าสู่โลกของอุปกรณ์พกพา (เบื้องหลังความล้มเหลวของโนเกียในการสร้าง UI ใหม่ให้ Symbian)
ปัจจัยที่สองคือ Symbian เดิมเป็นระบบปฏิบัติการหลายบริษัทร่วมกันทำ การเปลี่ยนมาเป็น Symbian Foundation ก็ดูดีในแง่ทฤษฎี แต่การโอเพนซอร์สมีประเด็นเรื่องกฎหมายเข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะ Symbian Foundation ต้องไล่เจรจาคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์โค้ดทีละส่วนทีละราย ให้ยินยอมเปิดซอร์สโค้ด (มีกระบวนการทางกฎหมายยุ่งยากมากมาย, โครงการ Mozilla ยุคแรกๆ ก็เจอปัญหานี้มาก่อน) ดังนั้นกว่า Symbian Foundation จะเปิดซอร์สโค้ดสำเร็จก็ต้องใช้เวลานานมาก (บางส่วนก็ต้องเขียนใหม่ขึ้นทดแทนโค้ดเดิม) ดังนั้นเราจึงเห็นว่าโนเกียประกาศโอเพนซอร์ส Symbian ในปี 2008 แต่กว่าจะทำเสร็จต้องรอถึงปี 2010
ปัจจัยที่สามคือวัฒนธรรมองค์กรของโนเกียเองที่ไม่รีบร้อนมากนัก อาจเป็นเพราะคงความเป็นอันดับหนึ่งมายาวนาน มีโครงสร้างองค์กรซับซ้อน (โดยเฉพาะถ้าเทียบกับกระบวนการพัฒนา iPhone ยุคแรกๆ ที่สตีฟ จ็อบส์ ลงมาคุมเอง และทำงานกันหนักมาก) เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นผ่านเรื่องเล่าของ Adam Greenfield ดีไซเนอร์ภายนอกที่เคยทำงานกับโนเกียระหว่างปี 2008-2010 เขาเล่าถึงวัฒนธรรมของ "ฟินแลนด์" ประเทศที่อากาศหนาวเกือบตลอดปีว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่เป็นหน้าร้อน (อันหายาก) สำนักงานของโนเกียแทบร้าง เพราะพนักงานและผู้บริหารนิยมไปพักร้อนในกระท่อมส่วนตัวกลางป่าเขา ดังนั้นถ้าเขาต้องการให้โนเกียอนุมัติงานใดๆ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ต้องรอถึงเดือนกันยายนกว่าผู้บริหารจะเริ่มกลับมาทำงานกัน (Bloomberg)
ดังนั้นเราอาจพอสรุปได้ว่า เมื่อแอปเปิลวางขาย iPhone รุ่นแรกในเดือนกรกฎาคม 2007 ผู้บริหารของโนเกียน่าจะยังพักผ่อนกันอยู่ และไม่ได้สนใจมากนักกับ "ภัยคุกคามใหม่" ที่กำลังพุ่งเข้าหาตัวเอง
(Stephen Elop ให้สัมภาษณ์ไว้ในบทความเดียวกันของ Bloomberg ว่า สิ่งที่โนเกียต้องปรับปรุงเป็นอันดับแรกคือ "ความรวดเร็ว" ในการทำงาน)
Juhani Risku อดีตผู้บริหารของโนเกีย เคยให้สัมภาษณ์เรื่องปัญหาของโนเกีย (ข่าวเก่า) เอาไว้ว่าฝ่ายวิจัยของโนเกียคิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากมายแต่ผู้บริหารไม่สนใจ, ความล่าช้าด้านการตัดสินใจภายในองค์กร (ซื้อ Navteq มา 6 เดือนแล้วไม่ทำอะไร), แต่ละฝ่ายขององค์กรไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (บริการ Ovi และแบรนด์ Nokia ดูแลโดยบริษัทภายนอกจากอังกฤษ), ระบบปฏิบัติการ Symbian ซับซ้อนมากจนคนข้างในเองก็ยังไม่เข้าใจมันนัก
วิกฤตโนเกียปี 2010
สถานการณ์ของโนเกียในปี 2010 ค่อนข้างเลวร้าย เพราะมือถือเรือธงทั้งสองตัว (N8 สาย Symbian และ N9 สาย MeeGo) ไม่สามารถต่อกรกับคู่แข่งได้ทั้งในแง่ฟีเจอร์และแอพ (Symbian ยังเปลี่ยนผ่านไม่สำเร็จ ส่วน MeeGo ก็ยังพัฒนาไม่เสร็จ-ไม่มีแอพ)
ผลคือ ส่วนแบ่งตลาดของ Symbian ที่เคยสูงเกินครึ่งเริ่มลดลง นักพัฒนาเริ่มตีจาก ผลประกอบการและมูลค่าหุ้นลดฮวบ ผู้ถือหุ้นเริ่มทนไม่ไหว และกดดันให้เปลี่ยนซีอีโอและบอร์ด
นักวิเคราะห์จาก Gartner เปรียบเทียบสถานการณ์ของโนเกียในปี 2010 ว่าบริษัท "กำลังย้ายเก้าอี้บนเรือไททานิคที่กำลังจะจม" แต่ดันมัวสนใจเรื่องไร้สาระที่ไม่ใช่ประเด็นหลักในการตัดสินใจซื้อมือถือของ ลูกค้า ในขณะที่ปัญหาเรื่อง UI ของ Symbian ก็ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง และต้องรอไปถึง Symbian^4 ที่ไม่รู้ว่าจะออกเมื่อไร (ข่าวเก่า)
เดือนกันยายนปี 2010 บอร์ดของโนเกียก็ออกมาประกาศข่าวที่ทุกคนรอคอยคือ โนเกียตั้ง Stephen Elop เป็นซีอีโอคนใหม่แทน OPK ซึ่งถือเป็นผู้บริหารคนนอกคนแรกในรอบหลายสิบปีของโนเกีย (ข่าวเก่า)
ส่วน Anssi Vanjoki ที่ถูกคาดหมายว่าจะได้เป็นซีอีโอคนถัดไปก็ลาออกจากบริษัทหลังจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ (ข่าวเก่า) ในอีกด้าน Ari Jaaksi หัวหน้าฝ่าย MeeGo ก็ประกาศลาออกหลังจากนั้นไม่นานเช่นกัน (ข่าวเก่า)
2011: โนเกียบนทางแพร่ง เลือกอะไรดี Symbian, MeeGo, Android หรือ Windows Phone?
ช่วงรอยต่อของโนเกียในปี 2010-2011 ภายใต้ซีอีโอคนใหม่ Stephen Elop ถือเป็น "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญของโนเกียว่าจะเลือกไปในทิศทางใด ระหว่างระบบปฏิบัติการภายใน 2 ตัวคือ Symbian, MeeGo (ที่ไม่พร้อมทั้งคู่) หรือจะมุ่งสู่ระบบปฏิบัติการของบริษัทอื่นอย่าง Android หรือ Windows Phone (นักวิเคราะห์เสนอ 4 ทางเลือกของโนเกีย)
ช่วงนี้เราเห็น "วาทะเด็ด" ของโนเกียออกมามากมาย เช่น การเปลี่ยนมาใช้ Android เปรียบเหมือนการฉี่รดกางเกงให้อบอุ่นในฤดูหนาว ของ Anssi Vanjoki ที่กำลังจะลาออก หรือ Burning Platform ของ Elop
สุดท้ายการตัดสินใจก็เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2011 โดย Elop และโนเกียเลือก Windows Phone และประกาศทิ้ง MeeGo/Qt/Symbian โดยยังเก็บ S40 ไว้
โนเกียที่ต้องผ่าน "การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย" หลายครั้งในปี 2008-2009 ก็ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอีกครั้ง สายการพัฒนามือถือ Symbian/MeeGo ถูกระงับ และเราก็ต้องรออีกประมาณครึ่งปี กว่าจะได้เห็น Nokia Windows Phone รุ่นแรก (Lumia 800 ช่วงปลายปี 2011)
2011-2014 เมืองขึ้นชื่อ "โนเกีย" ไร้อิสระแต่ต้องดิ้นรน
โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการเลือก Windows Phone ค่อนข้างสมเหตุสมผล ณ เวลานั้น คือทิ้งระบบปฏิบัติการเก่าคร่ำครึอย่าง Symbian ออกไปก่อน พอเหลือระบบปฏิบัติการอีก 3 ตัว จะเห็นว่า MeeGo อ่อนแอที่สุดเพราะไม่มียักษ์ใหญ่หนุนหลังเลย ตัวเลือกที่น่าสนใจจึงเหลือแค่ 2 ตัวคือ Android กับ Windows Phone
สถานการณ์ในตอนนั้น Android กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และบริษัทมือถือจำนวนมากก็ร่วมขบวน Android กันหมด (HTC เข้าเป็นรายแรกในปี 2008, ซัมซุงมาปี 2009) ในปี 2011 โนเกียอาจถือว่า "ออกตัวช้า" ถ้าจะเข้าร่วมขบวน Android กับเขาบ้าง (แถมมีข่าวว่าเจรจากันแล้วกูเกิลไม่ให้สิทธิพิเศษใดๆ ทำให้โนเกียไม่สามารถสร้างจุดแตกต่างของตัวเองกับ Android รายอื่นๆ ได้)
ทางเลือกสุดท้ายที่เหลืออยู่คือการ "เสี่ยง" กับ Windows Phone แพลตฟอร์มที่ "น่าจะดูดี" เพราะมียักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์หนุนหลังอยู่ ไมโครซอฟท์เป็นเจ้าโลกเดสก์ท็อปมานาน แถมยังเคยมีประสบการณ์กับ Windows Mobile มาอย่างโชกโชน และยังทุ่มเต็มที่ดึงโนเกียมาเป็นพันธมิตร ช่วยสนับสนุนเงินค่าการตลาดมากมาย
ปัจจัยทุกอย่างพร้อมสรรพ โนเกียเลือก Windows Phone และทุ่มสุดตัวไปกับมัน แต่ปัจจัยหนึ่งที่ตอนนั้นคงไม่มีใครคาดคิด (รวมถึง Elop ในฐานะอดีตผู้บริหารไมโครซอฟท์ด้วย) คือไมโครซอฟท์เองพัฒนา Windows Phone ช้ากว่าที่ทุกคนคิดไปมาก เพราะไมโครซอฟท์ก็เป็นบริษัทที่อยู่ระหว่าง "การเปลี่ยนผ่าน" เหมือนกัน
ช่วงปี 2011-2013 โนเกียฝากความหวังไว้กับไมโครซอฟท์เต็มที่ และออกมือถือที่น่าสนใจใน (เชิงฮาร์ดแวร์) มาหลายตัว แต่ผลกลับออกมาไม่ดีดังหวังเพราะฝั่งซอฟต์แวร์ที่ไมโครซอฟท์รับผิดชอบนั้น เดินหน้าไปช้ามาก โนเกียจึงต้องหาทางเลือกอื่นๆ ให้ตัวเอง (ในฐานะบริษัทอิสระ) กระบวนการคัดเลือกเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ ผลสุดท้ายออกมาได้เป็น Asha Platform (จากบริษัท Smarterphone ที่ซื้อมาในปี 2012) และ Nokia X มือถือพลัง Android
สถานการณ์ช่วงปี 2013-2014 ของโนเกียจึงวนกลับมาคล้ายกับช่วงปี 2008-2009 คือโนเกียมีระบบปฏิบัติการในสังกัดเยอะมากจนน่าตกใจ (ที่แย่คือไม่สมบูรณ์เลยสักรุ่น) ถึง 5 รุ่นได้แก่
- สมาร์ทโฟนตลาดกลาง-บน: Windows Phone
- สมาร์ทโฟนตลาดกลาง-ล่าง: Nokia X/Android
- สมาร์ทโฟนตลาดล่าง (จอสัมผัส): Asha Platform
- สมาร์ทโฟนตลาดล่าง (ปุ่มกด): Asha S40
- ฟีเจอร์โฟน: S30+
ลองคิดดูนะครับว่าทรัพยากรที่ต้องถูกแบ่งแยกไปยังระบบปฏิบัติการแต่ละตัว จะกระจัดกระจายแค่ไหน และโนเกียลงทุนซ้ำซ้อนมากเพียงใด
2014: ปิดตำนานมือถือโนเกีย, มุ่งสู่โนเกียยุคใหม่
โนเกียที่สับสนวุ่นวายกับระบบปฏิบัติการ 5 ตัว ดูยังไงก็คงไปไม่รอด แต่สุดท้าย ช่วงปลายปี 2013 โนเกีย (ในฐานะบริษัท) ก็เอาตัวรอด (แบบเสียศักดิ์ศรี) โดยการขายกิจการมือถือและบริการให้กับไมโครซอฟท์
ไมโครซอฟท์ (ที่กำลังดิ้นรนปรับตัวเต็มที่เช่นกัน) ตัดสินใจทิ้ง Nokia X, Asha, S40, ฟีเจอร์โฟน เพื่อมุ่งเน้นไปที่ Windows Phone เพียงอย่างเดียว ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมกับยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์เอง ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นก็ขึ้นกับฝีมือของ Satya Nadella แล้ว
ส่วนโนเกีย (ในฐานะบริษัท) ยังมีชีวิตอยู่แม้จะขายกิจการมือถือออกไปแล้ว บริษัทยังไปได้ดีในธุรกิจอุปกรณ์เครือข่าย NSN ที่ลงทุนทิ้งเอาไว้ตั้งนานแล้ว (แถมลุ่มๆ ดอนๆ อยู่พักใหญ่) แต่สุดท้ายแล้วมันก็พิสูจน์ตัวเองว่าในยามที่โนเกียบริษัทหลักกำลังย่ำแย่ ก็ยังเหลือ NSN ที่พยุงชีวิตให้อยู่รอดต่อไปได้ในฐานะ "โนเกียรัฐอิสระ" และก้าวเดินต่อไปภายใต้การดูแลของ Rajeev Suri ซีอีโอคนใหม่ที่มาจากธุรกิจฝั่ง NSN
ผมคิดว่าถ้าเราย้อนดูประวัติศาสตร์อันยาวนานนับร้อยปีของโนเกียแล้ว บริษัทฝ่าฟันคลื่นลมมามาก ทำธุรกิจมาหลายแขนง ผ่านการเปลี่ยนแปลง ขายทิ้งและเริ่มกิจการใหม่มาโดยตลอด (น่าจะเป็นบริษัท "แมวเก้าชีวิต" อีกรายหนึ่ง) ธุรกิจโทรศัพท์ที่สร้างชื่อให้โนเกียมีอายุแค่ประมาณ 30 ปี ถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บริษัท แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ในภาพรวมแล้วก็น่าดีใจแทนโนเกียที่สามารถเอาตัวรอดต่อไปได้ แม้จะต้องทิ้งธุรกิจโทรศัพท์ไปอย่างน่าเสียดาย (เป็นกรณีศึกษาที่ดีของการกระจายธุรกิจให้หลากหลายยามรุ่งเรือง เพื่อช่วยพยุงบริษัทต่อไปได้แม้ธุรกิจหลักจะมีปัญหาในอนาคต)
ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
บทความโดย: mk