กว่าจะมาเป็น "ไอโฟน" จุดกำเนิดและความบังเอิญ
กว่าจะมาเป็น "ไอโฟน" จุดกำเนิดและความบังเอิญ
ก่อนที่ "ไอโฟน" จะโด่งดังเป็นพลุแตกและปฏิวัติวงการสมาร์ทโฟนอย่างทุกวันนี้ เคยสงสัยไหมว่า โทรศัพท์ฉลาด ๆ ของ "แอปเปิล" มีจุดเริ่มต้นอย่างไร ในจังหวะที่ไอโฟนรุ่นใหม่ ซึ่งเดินมาถึงไอโฟน 6 แล้วกำลังจะเปิดตัว
ลองย้อนไปดูเรื่องราวของจุดกำเนิด "ไอโฟน" ที่ได้รับการเปิดเผย เพราะสงครามกฎหมายระหว่างแอปเปิลและซัมซุง
"แอปเปิล" ต้องอนุญาตให้ "เกรก คริสตี้" วิศวกรผู้ร่วมออกแบบซอฟต์แวร์ของ "ไอโฟน" เปิดเผยข้อมูลการคิดค้นสมาร์ทโฟนรุ่นนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อคำฟ้องร้อง กรณีที่ "ซัมซุง" ละเมิดสิทธิบัตรของบริษัท ใครจะรู้ว่าหนทางในการสร้างไอโฟนเครื่องแรกช่างทรหดอดทน ยาวนาน และเต็มไปด้วยขั้นตอนการเก็บความลับมากมาย ไม่ต่างจากหนังสายลับเลยทีเดียว
"เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล" รายงานว่า กุมภาพันธ์ ปี 2548 "สตีฟ จ็อบส์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร "แอปเปิล" ในขณะนั้น ได้ยื่นคำขาดกับ "เกรก คริสตี้" วิศวกรซอฟต์แวร์ระดับอาวุโสของแอปเปิล (ซึ่งในเวลานี้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมยูสเซอร์อินเตอร์เฟส) เนื่องจากคริสตี้และทีมงานของเขาล้มลุกคลุกคลานมาเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อวางรากฐานของซอฟต์แวร์ ซึ่งจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของไอโฟนแบบทุกวันนี้ รวมถึงออกแบบว่าจะให้ซอฟต์แวร์แต่ละส่วนทำงานด้วยกันอย่างไร
ในที่สุด ซีอีโอ "แอปเปิล" ต้องออกมาบอกพวกเขาว่า มีเวลาอีกแค่ 2 สัปดาห์ในการตีโจทย์ให้แตก ไม่อย่างนั้นจะโยกโปรเจ็กต์นี้ไปให้ทีมอื่นทำแทน
"สตีฟน่าจะหมดความอดทนแล้ว เขาต้องการไอเดียและคอนเซ็ปต์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม" คริสตี้พูดถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น
สิ่งที่ "คริสตี้" และทีมของเขาทำคือ คิดค้นฟังก์ชั่นการทำงานหลายอย่างของไอโฟน เช่น ฟังก์ชั่นการใช้นิ้วสไลด์จอเพื่อปลดล็อกโทรศัพท์, การกดโทร.ได้ทันทีจากสมุดโทรศัพท์ (ในเครื่อง) รวมถึงโปรแกรมเล่นเพลงแบบสั่งการด้วยหน้าจอสัมผัส
ดังนั้น "ไอโฟน" รุ่นแรกจึงเป็นการโละแป้นพิมพ์ทิ้ง แทนที่ด้วยหน้าจอขนาดใหญ่สุดทันสมัยรองรองรับระบบสัมผัส และใช้ระบบปฏิบัติการที่ละม้ายคล้ายคลึงกับโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์มากกว่าระบบปฏิบัติการสำหรับโทรศัพท์มือถือ
ก่อนหน้านี้ "คริสตี้" เข้ามาทำงานกับแอปเปิลตั้งแต่ปี 2539 เพื่อพัฒนาโปรแกรม "นิวตัน" อุปกรณ์ไอทีที่ทำหน้าที่เป็นเลขาฯส่วนตัว มาพร้อมหน้าจอสัมผัสที่ต้องใช้คู่กับปากกาสไตลัส แต่นิวตันยังเป็นของใหม่เกินไปสำหรับตลาดในเวลานั้น มันทั้งใหญ่ ทั้งแพง และมีซอฟต์แวร์ที่ไม่ตอบสนองการใช้งานเท่าที่ควร
แม้นิวตันจะผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ความสนใจของคริสตี้ในการสร้างอุปกรณ์ประมวลผลคอมพิวเตอร์ขนาดเหมาะกับกระเป๋าเสื้อ (หรือกระเป๋ากางเกง) ยังไม่เลือนหายไปไหน
จนกระทั่งอีก 8 ปีต่อมา ระหว่างที่เขากำลังทำงานด้านซอฟต์แวร์เครื่องแมคอินทอชของแอปเปิล "สก็อต ฟอร์สตอลล์" หนึ่งในสมาชิกทีมซอฟต์แวร์ระดับอาวุโสในเวลานั้นก็เดินเข้ามาหา และชักชวนให้คริสตี้เข้ามาทำงานในโปรเจ็กต์ลับที่มีชื่อว่า "เพอร์เพิล" โดยทีมของโปรเจ็กต์นี้จะร่วมกันพัฒนาโทรศัพท์ที่สามารถใช้เป็นเครื่องฟังเพลงได้ และใช้งานด้วยระบบหน้าจอสัมผัส
ช่วงนั้น "สตีฟ จ็อบส์" เข้ามาคืนชีพ "แอปเปิล" แล้ว และกำลังให้ความสำคัญกับสายผลิตภัณฑ์หลักแค่ไม่กี่ตัว
หนึ่งในนั้นคือสายสินค้า "ไอพอด" ซึ่ง "เกรก จอสเวียค" รองประธานด้านการตลาดของไอโฟนและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไอโอเอสมองเห็นสัญญาณว่า ผู้ผลิตรายอื่นที่สร้างโทรศัพท์ผสมผสานกับเครื่องเล่นเพลงถือเป็นภัยสำหรับไอพอด
"คริสตี้" ให้สัมภาษณ์ว่า ทีมงานต้องพยายามคิดว่าความเร็วในการเลื่อนหาบัญชีรายชื่อโทรศัพท์ต้องประมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสมที่สุด และต้องทำอย่างไรถึงจะทำให้การเด้งภาพกลับมาหลังจากผู้ใช้เลื่อนลงจนสุดหน้าจอดูเป็นธรรมชาติ
นอกจากนี้ ทีมของเขายังหัวชนฝาเกี่ยวกับการหาทางเปลี่ยนข้อความตัวอักษรที่เคยเรียงแยกกันตามลำดับเวลามาเป็นกล่องข้อความสนทนาแบบแยกเป็นส่วน ๆ ที่คล้ายกับโปรแกรมส่งข้อความสนทนาบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญทีมของเขายังมีขนาด "เล็กจนน่าใจหาย" อีกด้วย
เขายังต้องทำพรีเซนเทชั่นเสนอให้ "จ็อบส์" ฟังเดือนละสองหนเป็นเวลาติดต่อกันหลายต่อหลายเดือนในห้องไร้หน้าต่างที่ชั้นสองของบริษัทแม่แอปเปิลในแคลิฟอร์เนีย ห้องนั้นมีเพียงพนักงานไม่กี่คนเท่านั้นที่มีสิทธิ์เหยียบย่างเข้าไป และแม้แต่พนักงานทำความสะอาดก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปได้ หลังจากทีมของคริสตี้สามารถทำให้ "จ็อบส์" ประทับใจกับซอฟต์แวร์ไอโฟนของพวกเขาได้ เขาก็ต้องไปพรีเซนต์ให้ "บิล แคมป์เบลล์" หัวหน้าของแอปเปิลฟังอีกที
"คริสตี้" จำได้ว่า บิล แคมป์เบลล์ ชมว่าโทรศัพท์ตัวนี้จะทำผลงานได้ดีกว่าเครื่องแมคเครื่องแรกเสียอีก 2-3 วันหลังจาก "จ็อบส์" เห็นดีด้วย เขาก็เรียกทีมของคริสตี้เข้ามาพรีเซนต์อีกครั้ง โดยให้ "โจนี่ ไอฟ์" หัวหน้าฝ่ายออกแบบของแอปเปิลเข้ามาร่วมฟังด้วย ซึ่งทีมของเขานี่เองที่เป็นผู้ออกแบบกระจกที่จะมีการนำมาใช้กับไอโฟน
หัวหน้าฝ่ายออกแบบของแอปเปิลค่อนข้างสงสัยในประเด็นที่ว่า ทีมซอฟต์แวร์พัฒนาฟีเจอร์ที่ดูน่าอัศจรรย์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างไร ขณะที่ "จ็อบส์" ทำหน้าที่ปะติดปะต่อเรื่องราวไอโฟนในสไตล์ของตนเอง แต่ที่สำคัญกว่าคือเขาตื่นเต้นกับไอโฟนเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกัน "สตีฟ จ็อบส์" ต้องการเก็บเรื่องนี้ให้เป็นความลับที่สุด เขาสั่งให้พนักงานทุกคนทำงานกับโปรเจ็กต์นี้จากที่บ้าน และใช้คอมพิวเตอร์ที่วางเอาไว้ในส่วนที่ไม่เคยมีคนเดินผ่าน เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครเห็นรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ตัวใหม่โดยบังเอิญ นอกจากนี้ ไฟล์ภาพทั้งหลายเกี่ยวกับโครงการนี้ก็ต้องเข้ารหัสเอาไว้ทั้งหมดด้วย
ในที่สุดในช่วงต้นปี 2548 "แอปเปิล" ไฟเขียวให้โปรเจ็กต์นี้ และเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานมาราธอนนาน 2 ปีครึ่ง
"คริสตี้และทีมงาน" ต้องนั่งคิดกันตั้งแต่จะให้ผู้ใช้เช็กวอยซ์เมล์อย่างไร จะทำให้ปฏิทินปรากฏในรูปแบบไหน ซึ่งซีอีโอแอปเปิลในตอนนั้นจู้จี้กับทุกรายละเอียด
จนในช่วงปลายปี 2549 ไม่กี่เดือนก่อนที่ "จ็อบส์" จะเปิดตัวไอโฟนอย่างเป็นทางการ เขาก็เรียกคริสตี้ไปปรึกษาว่า จะเอาอัลบั้มรูปอะไรสำหรับไปโชว์ฟังก์ชั่นเลื่อนภาพในไอโฟน (ต้องเป็นภาพที่มีสีสดและมีหน้าคนในภาพเยอะ ๆ เพื่อโชว์ให้เห็นศักยภาพของหน้าจอ)
ส่วนเรื่องเพลงที่เปิดโชว์ "จ็อบส์" ล๊อกเอาไว้แล้วว่าต้องเป็นเพลง "Sgt.Pepper"s Lonely Hearts Club Band" ของวงเดอะบีทเทิลส์ 6 เดือนหลังจากการเปิดตัวไอโฟนและกำลังเตรียมวางจำหน่าย "คริสตี้และทีมของเขา" ยังคงต้องปรับแก้ฟังก์ชั่นต่าง ๆ เป็นระยะ แต่ช่วงเวลาที่เขาจำได้แม่นที่สุดคือตอนที่เขาได้เห็น "จ๊อบส์" ยืนอยู่บนเวที ม่านด้านหลังค่อย ๆ เลื่อนเปิดออก และปรากฏให้เห็นภาพหน้าจอโฮมสกรีนของ "แอปเปิล" เด่นเป็นสง่าขึ้นมาในห้องมืด
มันทำให้เขาตระหนักได้ว่า "ไอโฟน" เกิดขึ้นจริงแล้ว และกำลังจะเป็นเรื่องใหญ่ในอีกไม่ช้า ซึ่งจากวันที่ไอโฟนวางตลาดในเดือนมิถุนายน 2550 จนถึงวันนี้ มันมียอดขายรวมกันถึง 470 ล้านเครื่องทั่วโลก