'สมาร์ทโฟนซินโดรม' โรคใหม่ที่ใครๆ ก็เป็น

'สมาร์ทโฟนซินโดรม' โรคใหม่ที่ใครๆ ก็เป็น

'สมาร์ทโฟนซินโดรม' โรคใหม่ที่ใครๆ ก็เป็น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'สมาร์ทโฟนซินโดรม' โรคใหม่ที่ใครๆ ก็เป็น

เทคโนโลยีหากใช้ไม่ดีจะเกิดผลเสียตามมามากมาย สังคมสมัยนี้ใช้โทรศัพท์จนเป็นเหมือนอวัยวะหนึ่งในร่างกาย ก่อให้เกิดภาวะสังคมก้มหน้า หรือ สมาร์ทโฟนซินโดรม ซึ่งโรคดังกล่าวมีวิธีแก้มากมาย แต่วิธีที่ดีสุดคือการไม่ใช้มันจนกลายเป็นกิจวัตร



ในยุคโลกาภิวัตน์คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมโลกปัจจุบันเติบโตแบบก้าวกระโดดในอัตราที่รวดเร็ว ผู้คนเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เนื่องจากมีคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถรวบรวมข้อมูล เรื่องราวต่างๆ ที่มีอย่างไม่จำกัด มาใส่ไว้ในอินเตอร์เน็ต แต่ในทางกลับกันหากเราต่างขะมักเขม้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ก็จะส่งผลเสียตามมา เช่น ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ หรือปวดแขน จนกลายเป็นสังคมก้มหน้า หรือ "โรคสมาร์ทโฟนซินโดรม"

สาเหตุสำคัญของสมาร์ทโฟนซินโดรม อาจารย์ปรีดา ตั้งตรงจิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ(วัดโพธิ์) เปิดเผยว่า เกิดจากการที่ต้องก้มหน้า เพ่งสายตา นั่งคูดคู้หลังโก้ง เกร็งแขน เกร็งมือ ขยับนิ้วไปมา และอยู่ในอิริยาบทเดิมเป็นเวลานานๆ ซึ่งจะนำไปสู่อาการผิดปกติทางร่างกายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หลับไม่สนิท อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หน้ามืด คลื่นไส้ กล้ามเนื้อใบหน้าหย่อน หน้าย่น คางย้อย เมื่อยคอ บ่า ไหล ปวดหลังปวดเอว หรือแม้กระทั่งนิ้วล็อค มือชา ข้อเอ็นอักเสบ

นอกจากนั้นการหมกหมุ่นอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารตลอดเวลาจะทำให้เราขาดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง แยกตัวออกจากสังคม สมาธิสั้น พลั้งเผลอจนเกิดอุบัติเหตุ ก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน คิดช้า มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง จนกลายเป็นปัญหาครอบครัว

อาจารย์ปรีดา กล่าวอีกว่า โรคนี้กำลังกลายเป็นโรคใหม่ที่คนสมัยปัจจุบันกำลังเผชิญแบบไม่รู้ตัว ถ้าหากเทียบกับจำนวนมือถือหลายพันล้านเครื่องทั่วโลก นั่นหมายความว่ามีคนหลายล้านคนบนโลกนี้ กำลังป่วยเป็นโรคสมาร์ทโฟนซินโดรมด้วยเช่นกัน อาการของโรคดังกล่าวเป็นภาวะที่เราสร้างขึ้นมาเอง และสามารถรักษาได้ง่ายๆ ด้วยการนวดแผนไทย โดยเริ่มต้นจากการบริหารดวงตา

1. หลับตาแล้วบีบหนังตาให้แน่น ลืมตาออกและทำซ้ำหลายๆ ครั้ง จะช่วยลดอาการตาเบลอได้
2. กดฐานกะโหลกศีรษะ 3 จุด
3. ประสานมือทาบไปด้านหลังศีรษะ แล้วใช้มือโป้งทั้งสองข้างกดไปที่โค้งคอ 3 จุด
4. ใช้ปลายนิ้วกดบ่าฝั่งตรงข้าม สลับทำทั้งสองข้างไปมา
5. กดหัวคิ้วด้านซ้าย กึ่งกลางหัวคิ้วและหัวคิ้วด้านขวา
6. ใช้ปลายนิ้วคลึงขมับ แล้วใช้อุ้งมือกดขมับทั้งสองข้างเบาๆ
7. ใช้ฝ่ามือลูบผ่านปากขึ้นไปทางแก้ม และใช้หลังมือไล้จากใต้คางผ่านไปถึงหลังใบหู โดยทำสลับกัน 5-10 รอบ

ส่วนปัญหาปวดแขน เมื่อยบ่า นิ้วล็อค แก้โดยเริ่ม

1. กดแขนตามแนวนิ้วหัวแม่มือ ไล่จากแขนท่อนบนลงไปท่อนล่าง
2. กดจุดโคนกระดูกนิ้วหัวแม่มือ
3. กดจุดกึ่งกลางเนินนิ้วหัวแม่มือ
4. กดจุดระหว่างร่องนิ้วหัวแม่มืดและนิ้วชี้

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเป็นเหมือนดาบสองคม ใช้ดีก็จะเกิดประโยชน์ ใช้ไม่ดีก็จะเกิดผลเสีย ควรแบ่งเวลาเล่นให้พอเหมาะพอควร ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาตามมาจนไม่สามารถแก้ไขได้

เรื่องโดย: Ekachai

สนับสนุนเนื้อหา: www.voicetv.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook