ฮ่องกง-สงครามไซเบอร์ มิติใหม่ของการชุมนุมประท้วง

ฮ่องกง-สงครามไซเบอร์ มิติใหม่ของการชุมนุมประท้วง

ฮ่องกง-สงครามไซเบอร์ มิติใหม่ของการชุมนุมประท้วง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฮ่องกง-สงครามไซเบอร์ มิติใหม่ของการชุมนุมประท้วง

โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com

ในการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่ฮ่องกง กลุ่มหลักๆ ที่มีจำนวนมากคือ นักเรียนนักศึกษาคนหนุ่มคนสาว เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าจับตาว่าถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเอาอย่างไรแน่ คำสัญญาเรื่อง 1 ประเทศ 2 ระบบ โดยที่ระบบซึ่งใช้กับฮ่องกงเหมือนจะมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลงเป็นสิ่งที่ผู้ประท้วงไม่ยอมรับและออกมาเรียกร้องกัน

ตรงข้ามกับการชุมในบ้านเราที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องเผด็จการทหาร

เงี่ยหูฟังเพื่อนพ้องหลายคนมีแนวโน้มไปในทางเชื่อว่า ถึงอย่างไรอำนาจรัฐก็คงชนะ แต่เชื่อว่าจะไม่จบลงแบบเหตุการณ์เทียนอันเหมินอันเป็นการล้อมปราบอย่างบ้าคลั่ง ไม่ต่างจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในบ้านเรา ซึ่งเวียนมาบรรจบครบรอบ 38 ปีเอาวันนี้พอดี ถึงตอนที่กำลังอ่านอยู่นี้ก็ไม่รู้ว่าเหตุการณ์คลี่คลายไปทางไหน

ในเหตุการณ์ประท้วงของฮ่องกงมีสิ่งใหม่ๆ อยู่บางประการที่น่าสนใจ นั่นก็คือเป็นการประท้วงที่มีมิติของโลกไฮเทคเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างที่เป็นข่าวคราวไปแล้วเมื่อปลายเดือนกันยายนก็คือการที่ผู้ชุมนุมประท้วงแห่แหนกันติดตั้งแอพพลิเคชั่น Firechat บนโทรศัพท์มือถือ ทั้งบน iOS ของแอปเปิล และแอนดรอยด์ เอาไว้สำหรับการติดต่อสื่อสารกันในหมู่ผู้ชุมนุม หลังจากโจชัว หว่อง แกนนำการชุมนุมวัย 17 ออกมาประกาศเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมติดตั้งใช้งานเผื่อไว้สำหรับกรณีถูกตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต

Firechat เป็นผลงานของ บริษัท โอเพ่น การ์เดน ในสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อการแชตหรือการติดต่อสื่อสารระยะใกล้โดยไม่พึ่งพิงสัญญาณอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นจากโทรศัพท์มือถือหรือไวไฟ แต่อาศัยสัญญาณบลูทูธ เครื่องที่ติดตั้งและเปิดใช้งานจะเชื่อมต่อกันผ่านสัญญาณบลูทูธในระยะ 70 เมตร ที่ขยายวงต่อกันไปเรื่อยๆ แต่ละคนสามารถเชื่อมต่อได้ถึง 10,000 คนในเวลาเดียวกัน เพื่อเเชต รับส่งข้อความหรือภาพ

แอพพลิเคชั่นนี้เปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม จากที่มีคนดาวน์โหลดติดตั้งอยู่จำกัด ปรากฏว่าเพียงสองวันจากวันที่ 28 กันยายนหลังแกนนำการชุมนุมแนะนำแอพพลิเคชั่นตัวนี้ ยอดดาวน์โหลดจากฮ่องกงพุ่งลิ่วขึ้นไปถึง 200,000 ครั้ง และมีการส่งข้อความมากถึง 2 ล้านข้อความ

เทคโนโลยีไอทีบนโทรศัพท์มือถือมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง การชุมนุมต่างๆ เพื่อฝ่าข้อจำกัดในการปิดกั้นของอำนาจรัฐ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์ เพื่อป้องกันตัวและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการชุมนุมให้สูงขึ้น

ในขณะเดียวกันเมื่อไม่กี่วันมานี้ บริษัท ลากูน โมบาย ซีเคียวริตี้ ก็ออกมาเปิดเผยว่าค้นพบแอพพลิเคชั่นสอดแนมที่ส่งต่อกันหรือแพร่ลามผ่าน Whatsapp แอพพลิเคชั่นแชตยอดนิยมตัวหนึ่ง มีข้อความเชิญชวนให้ผู้รับกดลิงก์เพื่อติดตั้งแอพพลิเคชั่นโดยอ้างว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นโดย Code4HK สำหรับประสานงานในกลุ่มออคคิวพาย เซ็นทรัล เริ่มจากพบบนแอนดรอยด์ และมาพบบน iOS ในเวลาต่อมา

ลากูนเชื่อว่าแอพพลิเคชั่นปลอมทั้งสองตัวนี้น่าจะมาจากรัฐบาลจีนเองเพื่อสอดแนมผู้ประท้วง เพราะตัวซอฟต์แวร์มีความสามารถระดับสูงมากในการล้วงข้อมูลแทบทุกอย่างจากโทรศัพท์มือถือ รายละเอียดตัวตน ข้อมูลการใช้งานเว็บ การแชต แอดเดรสบุ๊ก บันทึกใช้การโทรศัพท์ และเสียงในการพูดคุยโทรศัพท์รวมถึงข้อมูลระบุตำแหน่ง รายละเอียดที่เก็บจากโทรศัพท์ที่ติดตั้งจะส่งไปยังเว็บเซิร์ฟเวอร์เดียวกันในเกาหลีใต้ ซึ่งลากูนเชื่อว่าน่าจะควบคุมจากจีนแผ่นดินใหญ่อีกที

ถือเป็นครั้งแรกของมาลแวร์บนโทรศัพท์มือถือที่ทำงานข้ามแพลตฟอร์ม กล่าวคือ ทำงานทั้งบน iOS และแอนดรอยด์ และยังถือเป็นมิติใหม่ของการสอดแนมไซเบอร์ที่ยกระดับจากการเข้าควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์มาเป็นการเข้าแทรกแซงโทรศัพท์มือถือแทน

ถ้าแอพพลิเคชั่นสอดแนมดังกล่าวมีรัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลังจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะขึ้นชื่อว่าประเทศมหาอำนาจแล้ว การใช้เทคโนโลยีไอทีในการสอดแนมเป็นเรื่องปกติ ทุกวันนี้ก็มีสงครามไซเบอร์กลายๆ ดำเนินอยู่ในโลกนี้ มีการแฉกันไปมาอยู่เนืองๆ คู่กรณีที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ก็คือจีนแผ่นดินใหญ่กับสหรัฐอเมริกานั่นเอง

หากจะใหม่ก็ตรงเที่ยวนี้พุ่งเป้าเจาะจงลงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมในฮ่องกงเป็นการเฉพาะ

เพราะฉะนั้นสำหรับแกนนำในการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหลาย อย่าได้ซี้ซั้วกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือเลยทีเดียว

(ที่มา:มติชนรายวัน 6 ตุลาคม 2557)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook