พาชม มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จุดกำเนิดของซิลิคอนวัลเลย์

พาชม มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จุดกำเนิดของซิลิคอนวัลเลย์

พาชม มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จุดกำเนิดของซิลิคอนวัลเลย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารวงการไอทีมาบ้าง คงคุ้นเคยกับคำว่า "ซิลิคอนวัลเลย์" ซึ่งเป็นจุดกำเนิดบริษัทไอทีชั้นนำจำนวนมาก คำว่า "ซิลิคอนวัลเลย์" เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของพื้นที่ตอนใต้ในแถบ Bay Area ของรัฐแคลิฟอร์เนีย (อยู่ระหว่างเมืองซานฟรานซิสโก กับซานโฮเซ่)

บริษัทที่ตั้งอยู่ในแถบซิลิคอนวัลเลย์ จะกระจายตัวอยู่ตามเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่มาก ตัวอย่างชื่อเมืองในแถบนี้ที่อาจคุ้นๆ หูกันก็ได้แก่ Palo Alto (เอชพี), Menlo Park (เฟซบุ๊ก), Mountain View (กูเกิล), Sunnyvale (ยาฮู), Cupertino (แอปเปิล), Santa Clara (อินเทล), Redwood City (EA) เป็นต้น

แต่ถ้าพูดถึงจุดศูนย์กลางและจุดกำเนิดของซิลิคอนวัลเลย์ ก็ย่อมหมายถึงมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเมือง Palo Alto ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน บทความนี้จะพาไปชม "จุดกำเนิดของซิลิคอนวัลเลย์" ครับ

ประวัติคร่าวๆ ของซิลิคอนวัลเลย์

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 1885 หรือประมาณร้อยกว่าปีมาแล้ว โดย Leland Stanford อดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเขาก็เป็นคนก่อตั้งเมือง Palo Alto ในบริเวณเดียวกันด้วย (สมัยนั้นไม่มีอะไรเลย หักร้างถางพงขึ้นมากันหมด)

สแตนฟอร์ดค่อยๆ สร้างตัวขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงราวปี 1940 ช่วงเดียวกับสงครามโลกครั้งที่สอง เทคโนโลยีด้านวิทยุ-การทหารเริ่มพัฒนา เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตามมา

บริษัทไฮเทคที่เริ่มเติบโตขึ้นมาในช่วงนั้นคืออินเทล (ที่แยกตัวมาจาก Shockley และ Fairchild) และเอชพี ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษา-อาจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าของสแตนฟอร์ด

บุคคลสำคัญที่สร้างพื้นที่แถบนี้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของโลกคือ Frederick Terman คณบดีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ในช่วงนั้น (ภายหลังได้เป็นอธิการบดีของสแตนฟอร์ดด้วย) ที่แบ่งพื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยมาตั้งเป็น Stanford Industrial Park โดยมีแนวคิดให้บริษัทไฮเทคเหล่านี้มาเช่าพื้นที่ตั้งบริษัท เพื่อดึงทรัพยากรนักศึกษาจากสแตนฟอร์ดส่งต่อให้ภาคธุรกิจ

บริษัทรุ่นแรกๆ ที่มาใช้พื้นที่โซนนี้คือ HP, GE, Lockheed และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทไฮเทคอื่นๆ ในภายหลัง ปัจจุบันบริษัทที่มีสำนักงานอยู่แถบนี้ได้แก่ HP, Cloudera, Skype, VMware เป็นต้น นอกจากนี้ห้องวิจัยที่มีชื่อเสียงของโลกอย่าง Xerox PARC (ที่สตีฟ จ็อบส์ไปเห็น GUI และเมาส์) ก็ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน

เกริ่นเสร็จแล้วก็ไปชมมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกันครับ

พาชมมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ต้องออกตัวก่อนว่าผมไปชมสแตนฟอร์ดแบบไม่ได้เตรียมตัวมากนัก เลยหาข้อมูลของสถานที่สำคัญไปไม่ดีนัก (แถมไปวันอาทิตย์ช่วงเย็น ที่อาคารต่างๆ ปิดทำการเกือบหมด) ถ้ามีนักศึกษาสแตนฟอร์ดอ่านอยู่ก็ฝากช่วยเสริมข้อมูลให้ด้วยนะครับ

สแตนฟอร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีหอพักนักศึกษา-โรงพยาบาลอยู่ในมหาวิทยาลัยด้วย อย่างไรก็ตาม พื้นที่ใจกลางของสแตนฟอร์ดเป็นโซนตึกเก่า มีศูนย์กลางที่เรียกว่าลาน Memorial Court และโบสถ์ Memorial Church

ลาน Memorial Court

Stanford University

โบสถ์ Memorial Church

Stanford University

Stanford University

สถาปัตยกรรมในโซนใจกลางของสแตนฟอร์ดได้รับอิทธิพลมาจากอารยกรรมกรีกและ โรมัน มีเสาหิน ซุ้มประตู ในลาน Memorial Court มีรูปปั้นบรอนซ์ที่มีชื่อเสียง The Burghers of Calais ที่เป็นจุดถ่ายรูปของบรรดาทัวริสต์

Stanford University

ด้านหน้าของลาน Memorial Court มีสวนที่เป็นแลนด์มาร์คของมหาวิทยาลัยชื่อ Oval Park ส่วนหอคอยสูงๆ ที่เห็นนั้นเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างของมหาวิทยาลัย มีชื่อว่า Hoover Tower (ตระกูล Hoover ของอดีตประธานาธิบดี Herbert Hoover เป็นผู้อุปถัมป์รายสำคัญของสแตนฟอร์ด)

Stanford University

Stanford University

บรรยากาศในจุดอื่นๆ ของสแตนฟอร์ดก็ต้องบอกว่าร่มรื่นสวยงามครับ ตึกสมัยใหม่ก็มีแทรกตัวอยู่บ้าง น่าเสียดายว่าไปช่วงเย็นวันหยุด คนเลยดูร้างๆ ไปสักหน่อย

Stanford University

Stanford University

Stanford University

ตำนานโลกไอทีในสแตนฟอร์ด

เนื่องจาก Blognone เป็นเว็บไอทีก็ขอจบการนำเที่ยวแบบทั่วไปแต่เพียงเท่านี้ และเริ่มต้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีกันสักทีครับ

สแตนฟอร์ดถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ "มีตำนาน" ด้านเทคโนโลยีมากมาย โดยบริษัทเทคโนโลยีรายแรกๆ ที่มีบทบาทกับสแตนฟอร์ดก็คือเอชพี เพราะสองผู้ก่อตั้ง Bill Hewlett กับ David Packard มารู้จักกันระหว่างตอนเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า

เมื่อเอชพีเติบโตและร่ำรวย สองผู้ก่อตั้งจึงกลับมาช่วยสนับสนุนมหาวิทยาลัยของตัวเอง บริจาคเงินสร้างอาคารสถานที่หลายจุด แต่จุดสำคัญก็คือภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเอชพี

เราจึงได้เห็นตึก David Packard Electrical Engineering ตั้งชื่อเป็นเกียรติประวัติ

Stanford University

หน้าตาตึกแบบเต็มๆ

Stanford University

ตึกข้างกันคือ William Hewlett Teaching Center

(หมายเหตุ: ภาควิชาไฟฟ้ายังมีศิษย์เก่าชื่อดังอีกคนคือ Jen-Hsun Huang ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ NVIDIA ซึ่งบริจาคเงินสร้างศูนย์ Engineering Center ด้วย)

Stanford University

ใกล้ๆ กันยังมีตึก Paul G. Allen Building ที่ได้รับเงินบริจาคจาก Paul Allen ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ในปี 1996 โดยเป็นศูนย์ศึกษาและวิจัยด้านแผงวงจร (Center for Integrated Systems)

Stanford University

ข้ามถนนไปนิดเดียว เป็นตึกของภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่ได้คนบริจาคเงินชื่อ William Gates (บิล เกตส์ ไม่ได้จบสแตนฟอร์ด แต่บริจาคเงินสร้างตึกครับ แถมไม่ใช่แค่ที่สแตนฟอร์ดที่เดียวด้วย)

Stanford University

ตึกแห่งนี้เป็นจุดกำเนิดของเทคโนโลยีสำคัญหลายอย่าง เทคโนโลยีอย่าง TCP ที่เป็นรากฐานสำคัญของอินเทอร์เน็ตก็เกิดขึ้นที่นี่ (Vint Cerf บิดาแห่งอินเทอร์เน็ตเคยเป็นอาจารย์ที่นี่) ภายในตึกมีป้าย Birth of the Internet แปะไว้เป็นที่ระลึกด้วย (แต่เนื่องจากผมไปวันหยุดเลยเข้าไปถ่ายมาไม่ได้ครับ ดูรูปกันเองตามลิงก์)

คนดังโลกไอทีหลายคนก็เคยเรียนที่ตึกนี้ (สองผู้ก่อตั้งกูเกิล Larry Page และ Sergey Brin ก็อาศัยใบบุญของบิล เกตส์ สร้างอัลกอริทึม PageRank กันที่นี่ล่ะครับ) ส่วนทีมผู้ก่อตั้งยาฮูที่จบสแตนฟอร์ดเหมือนกันนั้นเป็นรุ่นก่อนตึกนี้

Stanford University

Sand Hill Road ถนนสาย Venture Capital

ด้านข้างของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมีถนนสายหนึ่งชื่อว่า Sand Hill Road ซึ่งไม่รู้ว่าไปทำกันยังไง บรรดาบริษัทนักลงทุน (venture capital) ชั้นนำของโลกต่างมาตั้งสำนักงานกันอยู่แถบนี้

ไหนๆ มาแถวนี้แล้วก็ขอวนรถไปดูหน่อยครับ ว่าบริษัท VC ที่เราเคยได้ยินชื่อมานาน หน้าตาเป็นอย่างไรกันบ้าง สำนักงานของบริษัท VC ชื่อดังพวกนี้มักเป็นออฟฟิศหรือบ้านสูง 2-3 ชั้น บรรยากาศเป็นสวนต้นไม่สวยงาม ไม่ได้อยู่ตึกใหญ่ครับ (เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะธุรกิจนี้ไม่จำเป็นต้องใช้คนเยอะมากด้วย)

เริ่มจาก Sequoia Capital (อ่านว่า เซ-ควอ-ย่า) ก่อตั้งปี 1972 ผลงานการลงทุนมีตั้งแต่แอปเปิล, EA, ออราเคิล, ซิสโก้, NVIDIA, NetApp, PayPal, ยาฮู, กูเกิล ฯลฯ รายชื่อทั้งหมดดูเองตามลิงก์

Sequoia Capital

ใกล้ๆ กันยังมี Kleiner, Perkins, Caufield and Byers หรือ KPCB บริษัทรุ่นเดียวกันที่ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน (ผู้ก่อตั้ง Kleiner เป็นผู้ก่อตั้ง Fairchild Semiconductor ที่เป็นต้นกำเนิดของอินเทล, Perkins เคยทำงานกับเอชพี) ผลงานการลงทุนคือ Amazon, AOL, Compaq, EA, กูเกิล, Sun, Netscape เป็นต้น

Sand Hill Road

ข้ามฝั่งถนนไปเป็นพื้นที่สำนักงานเช่า มีบริษัท Andreessen Horowitz ของ Marc Andreessen อดีตผู้ก่อตั้ง Netscape ครับ ผลงานคือบริษัทรุ่นใหม่พวก Skype, Facebook, Twitter, Groupon, Zynga, Oculus

Sand Hill Road

บริษัทลงทุนอื่นๆ ในแถบนี้ได้แก่ Elevation Partners, Greylock Partners, Accel-KKR, Kholsa Ventures, Silverlake เป็นต้นครับ ใครฝันอยากเปิดสตาร์ตอัพระดับโลกก็ต้องเร่งสร้างผลงานแล้วมาคุยกับบริษัทพวก นี้

HP Garage - Birthplace of Silicon Valley

พาชมพื้นที่ส่วนของสถาบันการศึกษาและนักลงทุนกันไปแล้ว มาดูฝั่งของผู้ประกอบการกันบ้าง บริษัทที่เป็นผลผลิตของซิลิคอนวัลเลย์ ต้นกำเนิดตำนาน "ตั้งบริษัทระดับโลกในโรงรถ" คือเอชพี (มาก่อนแอปเปิล ไมโครซอฟท์ กูเกิล เฟซบุ๊ก นานหลายสิบปี) ไหนๆ มาแถบนี้แล้วเราไปดู "โรงรถเอชพี" กันสักหน่อย

HP Garage ตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยของเมือง Palo Alto ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมากนัก ปัจจุบันบ้านหลังนี้ยังมีคนอาศัยอยู่ (และไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า เราก็ควรมีมารยาทอันดีไม่ไปรบกวน)

ตัวโรงรถ HP Garage นั้นอยู่ด้านหลังบ้าน เข้าไปดูใกล้ๆ ไม่ได้ เลยต้องดูจากนอกรั้วครับ ประตูอันสีเขียวนั่นล่ะคือ "จุดกำเนิดของซิลิคอนวัลเลย"

HP Garage

ซูมหน่อย

HP Garage

หน้าบ้านก็มีป้ายเขียนว่าเป็น Birthplace of Silicon Valley และถือเป็นอาคารเชิงประวัติศาสตร์ที่ต้องอนุรักษ์ไว้ของสหรัฐอเมริกา

HP Garage

แผนที่ของสถานที่ในบทความ เผื่อมีคนสนใจตามรอยไปดูบ้างครับ (ชื่อสถานที่ทุกอย่างสามารถหาเจอได้จาก Google Maps)

stanford-map

ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
บทความโดย: mk

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook