10 เหตุผลที่ทำให้ไม่มี engagement กับคอนเทนต์ของแบรนด์ใน Facebook
ใครๆ ก็รู้ว่าโซเชียลมีเดียทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ได้ ง่ายขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ไม่สำคัญว่าคุณจะนำเสนอตัวเองในโซเชียลมีเดียอย่างไร ถ้าคุณไม่ได้รับฟีดแบ็กใดๆ เลยจากกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้น มันคือสัญญาณว่าคุณกำลังทำอะไรบางอย่างผิดไป และถ้าไม่แน่ใจว่าทำไมโพสต์ของคุณไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้ติดตาม ได้ เหตุผลอาจจะอยู่ใน 10 ข้อด้านล่างนี้
1. รูปภาพไม่ดึงดูด
ลองย้อนกลับไปดูในแต่ละโพสต์ มันถูกสร้างขึ้นด้วยสีขาวดำ และบางครั้งก็ไม่มีรูปภาพหรือเปล่า? คุณอาจจะพบว่าไม่มีอินโฟกราฟิกหรือวิดีโอที่จะช่วยให้คอนเทนต์นั้นๆ มีความหลากหลาย หรือแปลว่ามันดูน่าเบื่อนั่นเอง นั่นแหละคือเหตุผลที่สร้าง engagement ไม่ได้
ลองสร้างสีสันให้กับคอนเทนต์ด้วยรูปภาพสวยๆ อินโฟกราฟิก meme ฉลาดๆ ที่จะช่วยตอกย้ำภาพของแบรนด์ให้ชัดเจนมากขึ้นก็น่าจะดี
2. คอนเทนต์ไม่น่าแชร์
ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวอเมริกันจะใช้เวลา 40 นาทีในการเช็คหน้ากระดานข่าว ซึ่งก็จะแบ่งออกเป็นช่วงเวลาย่อยๆ ประมาณ 2- 3 ครั้ง นั่นคือความท้าทายสำหรับนักการตลาด เพราะโจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนหยุดอ่านคอนเทนต์ของคุณ แน่นอนว่าถ้ามันไม่ดีพอให้พวกเขาหยุด มันก็จะไม่ถูกแชร์ ไม่มีการไลค์ ไม่มีการคอมเมนต์
ลองสำรวจเนื้อหาที่ถูกแชร์หลายๆ ครั้งในแต่ละวัน เพื่อค้นหาว่าจุดร่วมของโพสต์เหล่านั้นคืออะไร มันอาจจะนำมาปรับใช้กับแบรนด์ของคุณได้
3. คุณไม่ได้วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย
การที่กลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ของแบรนด์มากๆ แปลว่าแบรนด์เข้าใจกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี ทุกครั้งที่จะโพสต์อะไร คุณควรถามตัวเองว่า “ทำไมพวกเขาจะต้องอ่านมัน? ทำไมพวกเขาจึงชอบมัน? และทำไมพวกเขาต้องแชร์มัน?”
โดยทั่วไปแล้วคำตอบของมันก็คุ้นๆ อยู่ เช่น พาดหัวที่น่าสนใจ เป็นเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือตลก ถ้าคุณไม่สามารถหาคำตอบได้อย่างชัดเจน แปลว่าคุณไม่เข้าใจกลุ่มเป้าหมายของคุณดีพอ
4. คุณไม่ถามอะไรเลย
มันยากมากที่จะได้การตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายเมื่อคุณไม่ได้ตั้งคำถามออก ไปตรงๆ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผู้คนก็ชอบแสดงความเห็นที่มีต่อสิ่งต่างๆ และการมีอิสระที่จะพูด คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขารักการอยู่ในโลกโซเชียล ดังนั้น ถ้าคุณไม่ตั้งคำถาม ผู้บริโภคก็คงไม่รู้สึกว่าการตอบรับกับคอนเทนต์นั้นๆ คือเรื่องจำเป็น ในเมื่อยังมีอีกหลายๆ เรื่องให้แสดงความเห็น
คำถามคือวิธีที่ดีที่สุดที่จะสร้างบทสนทนาระหว่างแบรนด์และกลุ่มเป้าหมาย และมันอาจจะตามมาด้วยความสัมพันธ์ที่แข็งแรง ซึ่งคำถามที่ว่านี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่อยู่เบื้องหลังด้วย หรือมันอาจจะเป็นประเด็นเบาๆ ที่ชวนให้อมยิ้ม หรืออาจจะเป็นประเด็นหนักๆ อย่างการเมืองก็ได้ อย่าลืมว่าคำถามที่ใช่ จะช่วยพัฒนา engagement จากผู้ติดตาม
5. คุณตั้งคำถามผิด
การตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายใน Facebook มาจากการตั้งคำถามที่ถูกต้อง และคำถามที่เป็นส่วนตัวเกินไปหรือกว้างเกินไป ไม่ใช่คำถามที่ถูกต้อง และต้องเป็นคำถามที่แบรนด์จะได้ประโยชน์เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยู่ในวงการสุขภาพและฟิตเนส ลองตั้งคำถามว่า “อาหารเพื่อสุขภาพที่อร่อยที่สุดที่คุณเคยกินคืออะไร?” มันเฉพาะเจาะจงมากพอที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายสนใจตอบคำถาม และมันก็มีความกว้างพอประมาณ ซึ่งจะไม่ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่าถูกลุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว
6. คุณไม่สร้าง Call to Action
ทุกวันนี้ผู้คนชอบที่จะถูกขอร้องให้ทำอะไรต่อมิอะไร ถึงแม้พวกเขาจะไม่ยอมรับก็ตาม การเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า Call to action หรือการเรียกร้องให้พวกเขาทำบางสิ่งบางอย่าง คือการกระตุ้นทางจิตวิทยาให้พวกเขาไปสู่ทิศทางที่แบรนด์ต้องการ แต่อย่าลืมว่าการขอร้องอะไรสักอย่างในนามของแบรนด์บนโลกโซเชียลไม่ควรจะเป็น การขายแบบ Hard sale เพราะมันจะเป็นการผลักลูกค้าออกไปไกลๆ มากกว่า
7. คุณไม่ได้สร้างคุณค่าให้กลุ่มเป้าหมาย
สำหรับ Facebook เมื่อใครบางคนเป็นเพื่อนกับอีกคน นั่นแปลว่าพวกเขารู้สึกอยากติดตามกันและกัน และเมื่อใครก็ตามกดไลค์เพจของธุรกิจใน Facebook โดยทั่วๆ ไปแล้วมันแปลว่าเพจนั้นมีอะไรบางอย่างที่พวกเขามองหา และถ้าคุณไม่สามารถส่งมอบความคาดหวังนั้นได้ พวกเขาก็จะลืมคุณไปในที่สุด
การทำตลาดแบบเดิมๆ อย่างเช่น โปรโมชั่น แจกส่วนลด หรือคูปอง ก็ยังเป็นวิธีการที่ดีสำหรับธุรกิจที่อยากเรียกร้องความสนใจจากกลุ่มเป้า หมาย ส่วนคอนเทนต์ที่มีคุณค่าก็เป็นอีกวิธีการที่จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายมีปฏิ สัมพันธ์กับแบรนด์
เมื่อผู้บริโภครู้สึกว่าได้อะไรบางอย่างจากแฟนเพจของธุรกิจ พวกเขาก็จะไม่ไปไหน ที่สำคัญคือมันมีผลต่ออัลกอรึธึ่มของ Facebook และการเห็นโพสต์ของกลุ่มเป้าหมายแน่นอน
8. แบรนด์ของคุณไม่ชัดเจน
แฟนเพจของคุณกำลังมีปัญหาเรื่องตัวตนหรือเปล่า? มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่แต่ละโพสต์ควรจะมีตัวตนของแบรนด์ ทั้งรูปภาพและเนื้อหา เพื่อให้คนที่อ่านรู้ได้ทันทีว่ามันมาจากไหน
มันไม่ได้ช่วยแค่เรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์เท่านั้น แต่ในกรณีที่ผู้อ่านเกิดความสับสน ไม่แน่ใจว่าใครเป็นเจ้าของโพสต์นี้ หรือเป็นผู้นำเสนอส่วนลดนี้ พวกเขาก็จะไม่สามารถบอกต่อกับคนอื่นๆ ได้ และพวกเขาก็จะลืมว่าทำไมจึงมีส่วนร่วมกับแบรนด์ในตอนแรก
9. โพสต์ของคุณไม่สร้างแรงจูงใจ
เมื่อพูดถึงการพูดคุยกับแฟนๆ ใน Facebook จำไว้ว่าคุณกำลังพูดกับคน ผู้ติดตามของคุณกำลังมองหาคอนเทนต์ที่จะนำไปสู่บทสนทนา หรือไม่ก็สร้างแรงบันดาลใจในทางใดทางหนึ่ง ดังนั้น โพสต์ที่ไม่มีชีวิตชีวาจะไม่ตอบโจทย์นี้แน่นอน
ภาพรวมของแฟนเพจควรจะดูเป็นการพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่มีลักษณะเฉพาะ และเป็นการพูดในสิ่งที่วิเคราะห์มาแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายจะเข้าใจ หลังจากนั้นจึงส่งมอบแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่าน ซึ่งแรงบันดาลใจในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำให้กลุ่มเป้าหมายลุกขึ้นมาทำอะไร เท่ๆ แต่อย่างใด มันหมายถึงการทำคอนเทนต์ให้โดนกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งของมนุษย์ จนทำให้กลุ่มเป้าหมายอินไปกับมัน เช่น ขบขัน ตื่นเต้น และอื่นๆ พูดง่ายๆ คือมันควรจะเป็นการนำเสนอคอนเทนต์ที่เหมือนการพูดคุยกับคนด้วยกัน
10. คุณเองนั่นแหละที่ไม่มีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย
เลิกสนใจบทความชิ้นนี้ซะเถอะ บางทีอาจจะเป็นตัวคุณเองนั่นแหละที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย ในฐานะแบรนด์หรือบริษัท คุณมีชื่อที่ทุกคนรู้จัก นั่นแปลว่าควรตอบรับผู้บริโภคในเวลาที่เหมาะสม หลังจากพวกเขาเริ่มสร้างบทสนทนากับแบรนด์ เพราะไม่มีใครอยากพูดคนเดียว และผู้บริโภคส่วนมากก็จะไม่พยายามนานนักหรอก
ดังนั้น หมั่นตอบคำถามของผู้บริโภคอยู่เสมอ พร้อมทั้งแสดงความขอบคุณที่พวกเขาสนใจ การถามและตอบจะช่วยเพื่อคุณภาพของความสัมพันธ์ และจะช่วยดึงกลุ่มเป้าหมายมาที่เพจของคุณมากขึ้น
ที่มา : Inc