โจ้ ธนา มองอนาคต 4G และการอยู่รอดของผู้เล่นหน้าใหม่
การประมูล 4G ทั้งสองรอบที่ผ่านมาถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์เรียบร้อย ทั้งเรื่องการประมูลที่ใช้เวลายาวนานติดต่อกันข้ามวันข้ามคืน และราคาของการประมูลทั้งสองรอบที่สร้างรายได้เข้ารัฐรวมแล้วกว่าสองแสนล้านบาท
หลังจากการประมูลผ่านพ้นไม่กี่วัน Sanook! Hitech มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ อดีตผู้บริหารค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ถึงอนาคตของ 4G เมืองไทย ว่าจะสดใสอย่างที่คิดหวังหรือไม่ รวมถึงผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง Jas จะเป็นอย่างไรในสมรภูมิเดือดแห่งนี้
แน่นอนว่าวันนี้ โจ้ ธนา เป็นคนวงนอกไปแล้ว แต่ประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการโทรคมนาคมที่ยาวนานกว่า 14 ปี คงจะสะท้อนให้เห็นได้บ้างว่าวงการมือถือบ้านเราต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น
Q: การทำธุรกิจของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้
สิ่งที่กำลังจะเริ่มคือ "สงครามพันธมิตร" เราจะได้เห็นการจับมือกันของบางค่ายที่ยังไม่สมบูรณ์ เช่นขาดคลื่นความถี่ต่ำ หรือบางค่ายไม่มีคลื่นความถี่สูง หรือบางค่ายมีเสาแต่ไม่มีความถี่ เป็นต้น ดังนั้นการจับมือกันหรือการแลกเปลี่ยนความร่วมมือจะมีมากขึ้น โดยคนที่ได้เปรียบคือคนที่สามารถทำสัญญาพันธมิตรได้รวดเร็วกว่า
Q: ยังมีค่ายที่ต้องการทำเสาของตัวเองไหม
เนื่องจากต้นทุนจากการประมูลสูง ทำให้การทำเสาหรือเครือข่ายเองมีอุปสรรค เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้นไปอีก ดังนั้นการจับมือและการยืม เป็นทางออกที่ได้เปรียบมากกว่า
อีกสงครามหนึ่งที่จะพบคือ การแย่งคนและทีมงาน เพราะมีผู้ให้บริการเกิดใหม่ ทำให้มีการดึงวิศวกร หรือฝ่าย IT รวมถึงฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด เพราะบุคลากรเหล่านี้มีความสำคัญในการทำงานด้านนี้ บริษัทที่ถูกดึงคนออกไปก็ต้องหาคนเพิ่มเข้ามาเช่นเดียวกัน ดังนั้นบริษัทไหนที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงจะได้เปรียบกว่า
Q: การประมูลในราคาสูงจะมีผลกับราคาค่าบริการไหม
ราคาของการประมูลกับราคาค่าบริการสำหรับผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน ต่อให้ประมูลแพงแต่คู่แข่งเคาะราคาถูก เราต้องทำราคาให้ถูกพอๆกับคู่แข่ง และตอนนี้ กสทช คุมราคาได้ก็ต้องทำตามกฎ หากรายใหม่จะทำให้ราคาลงมาเกินครึ่งก็สามารถทำได้ แต่เครือข่ายก็ต้องทำให้ดีเพื่อดึงดูดใจผู้บริโภค แต่ที่น่าสนใจกว่าคืออีก 3 ปีข้างหน้าจะมีการประมูลคลื่น 1800 MHz อาจจะทำให้มีผู้ให้บริการรายที่ 5 ปรากฏตัวก็ได้
Q: หากเทียบกับการประมูล Digital TV สุดท้ายแล้วผู้เล่นหน้าใหม่สู้ไม่ไหว วงการมือถือจะเป็นแบบนี้ไหม
วงการ Digital TV กับ โทรคมนาคม มีความแตกต่างกัน โดยโทรคมนาคมจะมีช่วงของลูกค้าที่รอผู้ให้บริการเปิดเพื่อเข้าไปใช้ และต่อให้คนที่พลาด ธุรกิจโทรคมนาคมก็ยังได้รับความสนใจจากต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้บริโภคยังจะเห็นชื่อครบแน่นนอน แต่จะมีการบริหารโดยใครเป็นอีกเรื่อง ในความเห็นผมต้องมีพันธมิตรต่างชาติอยู่แล้ว เพราะใช้เงินปริมาณเยอะ ยังไงก็คนไทยเอาไม่ไหวแน่นอน