กสทช.สางปมทีวีดิจิทัล-คุมเข้มบริการ 4G
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ปี 2559 สำนักงาน กสทช.จะลุยงานด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ โดยเฉพาะทีวีดิจิทัลเต็มตัว
หลังจากปีที่ผ่านมาให้เวลากับการประมูล 4G พร้อมเร่งรัด 8 งานสำคัญ ได้แก่ 1.แนวทางแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการดิจิทัลทีวี โดยจะตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างผู้ประกอบการทั้ง 24 ช่อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) และสถาบันการเงินที่ออกหนังสือค้ำประกันเงินประมูลให้ 24 ช่อง รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด กระทรวงการคลัง
"คณะกรรมการชุดนี้จะหารือร่วมกันทุกสัปดาห์ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาว่าต้องมีประกาศ คสช.หรือไม่ โดยต้องมีข้อสรุปภายใน 90 วัน เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรี"
สำหรับกรณี 2 ช่องของบริษัท ไทยทีวี กัด ที่ยุติออกอากาศไปแล้วละเลยเวลาผ่อนผันในการยึดแบงก์การันตี จึงเข้าสู่กระบวนการยึดหลักประกันเงินประมูลที่เหลือ แต่บริษัทได้ร้องต่อศาลปกครองว่า ถ้าจะยึดต้องรอคำสั่งศาลก่อน จึงหวังว่าคณะกรรมการร่วมจะช่วยแก้ไขปัญหาได้เช่นกันเรื่องที่ 2.การกำกับดูแลต้องเข้มข้น และรวดเร็วขึ้นทั้งด้านโทรคมนาคมและบรอดแคสต์ โดยเฉพาะบริการ 4G ต้องทำให้ผู้ใช้บริการเชื่อมั่นได้ว่า กสทช.จะกำกับให้เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูลที่ต้องไม่แพงกว่า 3G โดยค่าบริการเสียงต้องไม่เกิน 69 สตางค์/นาที ดาต้าไม่เกิน 26 สตางค์/ต่อ MB และคิดตามจริงเป็นวินาทีในทุกแพ็กเกจ
ส่วนด้านบรอดแคสต์ที่มักมองว่า กสทช.เป็นเสือกระดาษ จะต้องมีการกำกับดูแลให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะทีวีดาวเทียมที่กระทำผิดต่างๆ ต้องเร่งให้มีการออกคำสั่งเมื่อมีการกระทำผิด ทั้งโทษปรับ การพักใช้ใบอนุญาต เพื่อให้ชัดเจนที่สุด
3.เร่งเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติเรื่องค่าเยียวยาช่วงสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 1800 MHz ของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด ให้ได้ก่อน มี.ค.นี้ เพื่อให้นำส่งรายได้ในส่วนนี้ราว 1 หมื่นล้านบาท เข้าเป็นรายได้แผ่นดิน
4.เร่งจัดหาผู้บริหารการประมูล "เบอร์สวย" ราว 10.32 ล้านเลขหมาย ที่ กสทช.เก็บไว้ ภายใน เม.ย. นี้ 5.จัดการเงินค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน (พรีเพด)ที่ยังค้างในระบบของโอเปอเรเตอร์ ราว 100 ล้านบาทจาก 10.8 ล้านเลขหมายที่ถูกยกเลิกบริการเพราะไม่ลงทะเบียนซิม
"จะหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ออกประกาศนำเงินส่วนนี้ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน"
6.การลงทุนระบบรับคืนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มเพื่อให้โอเปอเรเตอร์คืนเลขหมายได้ทันที โดยไม่ต้องรอคืนยกหมวดทีละ 10,000 เลขหมาย
7.แก้ปัญหาวิทยุชุมชนเสียงธรรม ของมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน วัดป่าบ้านตาด โดยจะสรุปแจ้งให้คณะรัฐมนตรีใน 90 วัน หลังไปร้องเรียนว่า กสทช.ลิดรอนพื้นที่ออกอากาศ
8.มุ่งมั่นในการเป็นองค์กรโปร่งใส ทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การให้ใบอนุญาต การดำเนินการต่างๆ โดยตั้งตู้แจ้งข้อมูลการทุจริตทุกจุดให้บริการประชาชน