5 เรื่อง Start-Up ที่สังคมไทยควรรู้
เอ่ยคำว่า Start-Up หลายคนคุ้น แต่เชื่อว่าแม้จะคุ้นแต่ก็มีความสับสน แม้กระทั่งภาครัฐที่จะจัดงาน Start-Up หรือคลอดแผนที่จะส่งเสริมก็ยังเป็นที่คลางแคลงใจของคนในวงการอย่างยิ่ง แล้วแท้ที่จริง Start-Up คืออะไรกันแน่ เรามาทำความรู้จักกันคร่าวๆ ก่อน
1. Start-Up เป็น SMEs ก็ได้ แต่ SMEs อาจไม่ใช่ Start-Up
เรานิยาม SMEs คือบริษัทขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง ที่เพิ่งจะตั้งหรืออยู่มาระยะหนึ่งแล้วก็ได้ SMEs จะเป็นฝ่ายผลิตหรือเป็นการค้าและบริการก็ได้ SMEs จะคิดค้นอะไรใหม่ๆ หรือ หรือดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้วในตลาดให้ดูแตกต่าง หรือจะทำซ้ำๆ เดิมๆ กับธุรกิจที่มีอยู่แล้วก็ได้ แต่สิ่งที่ Start-Up แตกต่างก็คือ เป็นธุรกิจที่คิดค้นใหม่ และมีแนวทางการระดมทุนเพื่อให้เจ้าของธุรกิจสามารถ Exit หรือออกจากธุรกิจนั้นๆ ได้อย่างเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการขายหุ้น การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ไปจนถึงการขายกิจการในที่สุด เรียกว่ามีเกมการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องนั่นเอง
2. คนแก่รุ่นเก่าก็ทำ Start-Up ได้ ไม่สงวนสิทธิ์เฉพาะคนรุ่นใหม่
ในแง่ของ SMEs คนเป็นเจ้าของจะมีความรู้สึกว่ายังไงตนเองก็เป็นเจ้าของ บริษัทที่ตั้งมากับมือแม้จะต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ แต่ยังไงเจ้าของก็ต้องรับผิดชอบบริษัทของตนเองตลอดไป แต่กับ Start-Up ผู้ก่อตั้งคือคนที่สามารถทำธุรกิจนั้นๆ ได้แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อธุรกิจเติบโต คนก่อตั้งอาจไม่เหมาะกับการบริหารบริษัทขนาดใหญ่ต่อไปได้ ดังนั้นเมื่อขายธุรกิจในคนที่ถนัดในการบริหารธุรกิจที่ใหญ่กว่า คนก่อตั้งก็ต้องไปคิดอะไรใหม่และกลายเป็น Start-Up รายใหม่ ซึ่งคนก่อตั้งอาจเป็น Start-Up หน้าเดิมๆ
3. เกมการเงินของ Start-Up เกมการเงินระดับอินเตอร์ฯ
มีบริษัททำงานด้านไอทีอยู่ในวงการมากว่า 10 ปี ได้รายได้จากการขายซอฟต์แวร์และทำซอฟต์แวร์ให้บริษัทต่างๆ รายได้มีกำไรประมาณ 10% ทุกปี อยู่รอดไปเรื่อยๆ แต่ไม่หวือหวา ไม่ก้าวกระโดด แต่พอตัดสินใจเป็น Start-Up คิดใหม่ทำใหม่ นั่นคือพร้อมจะก้าวเข้าสู่เกมการเงินเร่งสีเร่งโต จากขายซอฟต์แวร์ให้กับบริษัทไม่กี่รายต้องการเปลี่ยนมาขายซอฟต์แวร์ให้กับคนทั่วโลก การจะนำเงินตัวเองมาทำรับรองสายป่านไม่ยาว โอกาสมีน้อยและต้องใช้เวลานาน
ยิ่งทำยิ่งมีคู่แข่งเพราะธุรกิจไอทีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เวลาคือศัตรูตัวฉกาจ ดังนั้นการประกาศหาเงินที่ไม่ใช่ระบบเงินกู้ แต่เป็นการเพิ่มทุนเป็นระยะ ทุนที่เข้ามาใหม่เกิดจากกองทุนต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งกำลังมองหาโอกาสจาก Start-Up ที่มีไอเดียเจ๋งๆ กองทุนจะมีหลายระดับตั้งแต่ seed money, angle fund, pre-series A, series A, series B, series C และเข้าตลาดหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีวงเงินและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน
แต่ที่เหมือนกันคือเจ้าของบริษัทจะต้องแบ่งจำนวนหุ้นของตนเองออกไป จนในที่สุดคือการไม่มีหุ้นเหลืออยู่เลย ดังนั้นผู้ก่อตั้ง Start-Up นอกจากจะเอาเวลาไปบริหารงานตามปกติ แต่กลับต้องเอาเวลาส่วนหนึ่งมาทำอย่างไรให้มีผู้ถือหุ้นในแต่ละขั้น ซึ่งการดำเนินงานถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยอย่างมาก เพราะทุนมีทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ต้องใช้สำนักงานกฎหมายทางด้านการเงินที่เชี่ยวชาญ และต้องมีที่ปรึกษาระหว่างประเทศที่เก่งฉกาจในการเลือกผู้ที่จะเข้ามาถือหุ้นในแต่ละระดับเพื่อสนับสนุนธุรกิจ และเป็นที่เย้ายวนของนักลงทุนในขั้นตอนต่อไป
4. เงิน Start-Up คือการอัดยาแรง เร่งสีเร่งโต
เงินที่ได้จากกองทุนที่อัดเข้ามาให้ธุรกิจ Start-Up แม้จะไม่เหมือนกับการกู้เงินจากธนาคารที่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่เงินกองทุนที่มาลงทุนนั้นคือเข้ามาเสี่ยงกับกิจการนั่นคือ Start-Up ล่มกองทุนก็สูญเงินไป แต่ถ้า Start-Up รุ่ง กองทุนก็จะได้เงินจากมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้นตามการเข้ามาของกองทุนในระยะต่างๆ เช่น หุ้น 1,000 บาท คิดเป็น 1 หุ้น ในวันนี้ ในอีก 3 ปีมูลค่าอาจสูงถึง 3 ล้านบาท แต่เงินที่กองทุนอัดให้ Start-Up แม้จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแต่ก็มาพร้อมกับเงื่อนไข เจ้าของ Start-Up จะเอาไปถลุงซื้อรถมานั่งเล่นโก้ๆ หรือเอาไปเที่ยวนั้นไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่จะให้นำไปทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ นั่นคือ การทำให้บริษัทดัง และมีลูกค้ามากมาย เราจึงมักจะเห็นบริษัทที่มีอนาคตดี มีคนใช้งานเยอะแยะ แต่ผลกำไรติดลบอยู่ในตลาดมากมาย นี่แหละคือที่มา เพราะ Start-Up จะเอาเงินที่ได้ไปเพิ่มจำนวนผู้ใช้ เพื่อสร้างชื่อของบริษัท มูลค่าของบริษัทจึงอยู่ที่ทั้งการเป็นสินค้าที่ดี และมีผู้ใช้งานมากมาย ยิ่งกระจายการใช้ไปทั่วโลกยิ่งดี ส่วนกำไรยังไม่ต้องมีก็ได้ ถือเป็นการอัดเงินเข้า Start-Up เพื่อทำให้เติบโตอย่างไวที่สุด แข่งกับเวลาให้ได้
5. ปัญหา Start-Up ยุ่งยิ่งกว่า SMEs สิบเท่า
สิ่งที่ Start-Up จะเจอนอกจากต้องรู้จักออกไปหากองทุนเพื่อมาถือหุ้นตัวเอง รู้จักเลือกกองทุนที่เหมาะสม ต้องรู้จักการหาสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศที่เก่งแต่ราคาไม่แพง ต้องเดินสายต่างประเทศเพื่อนำเสนอบริษัทเป็นว่าเล่น เมื่อได้เงินแล้วต้องรู้จักการเอาเงินมาโตแบบก้าวกระโดด ต้องรู้จักการไปซื้อกิจการอื่นเพื่อทำให้กิจการตัวเองเติบโตแบบไม่เสียเวลา ต้องรู้จักการบริหารบุคลากรภายในที่ไม่มีทางเข้าใจว่าการเร่งโตนั้นดีกับเขาไม่ใช่การดีกับเจ้าของเพียงอย่างเดียว เพราะมีพนักงานคนไทยจำนวนมากไม่คุ้นกับรูปแบบการทำงานแบบใหม่ พนักงานพวกนี้ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และคิดว่าตัวเองไม่ได้เก่งกาจเหมือนที่เจ้าของบริษัทคาดหวังไว้ ต้องรู้จักว่าภาครัฐไทยยังไม่รู้ว่าจะสนับสนุน Start-Up อย่างไรให้ถูกวิธี เพราะคิดว่า Start-Up ก็คือ SMEs และคิดว่าต้องเร่งให้นักศึกษาจบใหม่มาทำธุรกิจ Start-Up เยอะๆ ซึ่งมันใช่อย่างสิ้นเชิง