บทเรียนต่อเวลา "ซิมดับ" กสทช.ชงแก้หลักเกณฑ์ประมูลคลื่นใหม่
เป็นอีกครั้งที่มติ หรือคำสั่งทางปกครองของ "กสทช." คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมไปถึง "กทค." คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ที่มีผลบังคับเอกชนจะโดนคัดค้าน และสุดท้ายต้องไปจบในชั้นศาล และสุดท้าย กสทช.มักตกม้าตาย เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามประกาศ หรือระเบียบที่กำหนดไว้เอง
ล่า สุดกรณี "ซิมดับ" อันลือลั่น จากมติ กทค. เมื่อ 14 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา กำหนดให้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ต้องยุติการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 MHz ภายในเที่ยงคืน
วัน ที่ 15 มี.ค. 2559 เนื่องจาก กทค.ให้ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่านดังกล่าวแก่ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ผู้ชนะประมูลที่มาชำระเงินงวดแรก เมื่อวันที่ 14 มี.ค. โดยไลเซนส์ดังกล่าวจะมีผลในวันที่ 16 มี.ค. 2559 ถึง 15 มี.ค. 2574 เป็นเหตุให้ "เอไอเอส" ผู้ใช้คลื่นรายเดิม ฟ้องเพิกถอนมติ และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี เพราะยังมีลูกค้าค้างในระบบอยู่ 4 แสนราย ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยขยายเวลาเยียวยาลูกค้า AIS 2G ออกไปถึงเวลา 24.00 น. วันที่ 14 เม.ย.นี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน
เมื่อเปิดเหตุผลที่ศาลพิจารณาแล้ว เห็นควรออกคำสั่งคุ้มครองพบว่า ประเด็นสำคัญคือ "กสทช.ยังไม่ได้ดำเนินการในการกำหนดวันหยุดการให้บริการ" ตามประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุด
การอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งได้ระบุว่า กสทช.ต้องแจ้งให้โอเปอเรเตอร์ทราบกำหนดวันหยุดให้บริการเพื่อเตรียมความ พร้อม และแจ้งให้ลูกค้าผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน หรือตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน
ขณะ ที่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. "กทค." มีมติกำหนดวันปิดระบบเดิม และแจ้งให้เอไอเอสทราบในวันเดียวกับที่ซิมต้องดับ หากปล่อยให้ซิมดับจะเกิดปัญหาแก่ผู้ใช้บริการที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขภาย หลัง ขณะที่ฟากผู้ร้องสอดเป็นคู่ความร่วมอย่าง TUC ได้ยื่นข้อเสนอให้ เอไอเอส ใช้คลื่นในส่วนของตนได้ 5 MHz โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 3 เดือน ทำให้ศาลเห็นได้ว่าหากมีการทุเลาการบังคับให้ซิมดับตามมติ กทค.เดิม จะไม่ทำให้ TUC ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ด้าน "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ยอมรับว่าประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นที่ (IM) ขัดกับประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ และที่ผ่านมา กสทช.เข้าใจว่า สิ่งที่ได้แจ้งตั้งแต่ตอนรับรองผลการประมูล เมื่อปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ซิมจะดับหลังผู้ชนะประมูลรายใหม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการแจ้งล่วงหน้าครบถ้วนแล้ว แต่ศาลเห็นว่า เป็นแค่การแจ้งในภาพรวม กสทช.ยังไม่ได้กำหนดวันปิดระบบที่ชัดเจนแน่นอน ดังนั้นการนับเวลาแจ้งล่วงหน้าให้โอเปอเรเตอร์ทราบไม่น้อยกว่า 30 วัน ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้ให้บริการทราบวันที่ปิดระบบที่ชัดเจน
"ศาล แนะนำว่า กสทช.ควรปรับปรุง IM ให้สอดคล้อง ไม่ขัดแย้งกับประกาศของ กสทช. เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ ซึ่งสำนักงาน กสทช.ได้เสนอในที่ประชุมบอร์ด กสทช. และ กทค. รับทราบหลังศาลมีคำสั่งออกมาแล้ว ว่าจะมีการแก้ไข IM การประมูลครั้งต่อไป ที่จะเผื่อระยะเวลาในการแจ้งกำหนดวันปิดระบบไม่น้อยกว่า 30 วัน เช่น ให้ใบอนุญาตใช้คลื่นใหม่ มีผล 30 วัน นับจากวันที่ออกไลเซนส์"
ส่วน กรณีคลื่น 900 MHz เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งขยายระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ AIS 2G ถึงวันที่ 14 เม.ย. 2559 เวลา 24.00 น. "เอไอเอส" มีสิทธิ์ใช้คลื่นความถี่ตามไลเซนส์เดิมเฉพาะในส่วน 7.5 MHz ที่อยู่ในช่วงคลื่นของที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด เป็นผู้ชนะ ซึ่งจากการตรวจสอบของ กสทช. ขณะนี้เอไอเอสใช้คลื่นอยู่ 6.9 MHz
จากนี้ทางสำนักงาน กสทช.จะตั้งคณะทำงานตรวจสอบการใช้คลื่นของเอไอเอส เพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบ รวมถึงไม่ให้ไปรบกวนคลื่นในส่วนที่ TUC ได้รับใบอนุญาต
"คำสั่งศาลไม่กระทบไลเซนส์ TUC เพราะใช้ช่วงคลื่นคนละชุด แต่ในส่วนของแจส หากมาชำระเงินงวดแรกแล้ว ไลเซนส์จะมีผลบังคับใช้วันที่ 15 เม.ย. เพราะตามคำสั่งศาล แจสจะไม่สามารถใช้คลื่นช่วงนี้ได้จนกว่าจะสิ้นสุดการขยายเวลาคุ้มครองตามคำ สั่งศาล ดังนั้นหากแจสมาจ่ายเงิน กสทช.อาจต้องพิจารณาว่าจำเป็นต้องยื่นอุทธรณ์หรือไม่ เพราะการยื่นอุทธรณ์ต้องมีเหตุผลประกอบ แต่สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีเหตุผลที่อุทธรณ์"
การที่ไลเซนส์ของแจส โมบาย ไม่สามารถเริ่มต้นได้ทันทีหลังมาชำระเงินประมูลงวดแรก ไม่มีผลให้บริษัทใช้เป็นข้ออ้างในการเลื่อนกำหนดวันสุดท้ายในการชำระเงินจาก วันที่ 21 มี.ค.นี้ออกไป เพราะเป็นเงื่อนไขที่ IM กำหนดไว้ก่อนแล้ว
"ถ้าให้เลื่อนกำหนดจ่ายเงินได้ ผู้เข้าประมูลที่เหลือต้องฟ้องร้องแน่ เพราะ กสทช.ทำผิดเงื่อนไขการประมูลที่ประกาศไว้ หากแจสเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องร้องต่อศาลปกครอง เพราะกรณีนี้ กสทช.ปฏิบัติตามคำสั่งศาล แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะออกไลเซนส์ช้าไปแค่ 3 สัปดาห์ และอาจมีการเจรจาเพื่อผ่อนผันให้ แจส นำเข้าอุปกรณ์ขยายโครงข่ายได้ก่อนที่ไลเซนส์จะมีผลบังคับใช้"