5 เหตุการณ์ที่ทำให้คอไอทีเหลียวมอง

5 เหตุการณ์ที่ทำให้คอไอทีเหลียวมอง

5 เหตุการณ์ที่ทำให้คอไอทีเหลียวมอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เผลอแป๊ปเดียวจะครึ่งปีไปแล้ว มีคนถามว่าต่อจากนี้จนจบปี ในวงการไอทีไทยจะมีอะไรให้ตื่นตาตื่นใจ หรือน่าจับตามองบ้าง จริงๆ บ้านเราเคลื่อนไหวอะไรชักช้าไม่สมกับการอยู่วงการไอทีซะเลย เอาเป็นว่าในสายตามผม 5 เรื่องนี้น่าจับตามอง


    1. Start-up SMEs โครงการใหญ่ของภาครัฐ ที่ทำให้ Start-Up ตัวจริงปวดหัว ก็จะอะไรหละครับอยู่รัฐบาลก็คิดว่าประเทศไทยต้องสนับสนุน Start-up ให้เยอะๆ ในประเทศไทย ดังนั้นก็ต้องเอาทั้งเงินและมาตรการสนับสนุนต่างๆ เช่น การลดหย่อนภาษี การให้เงินเปล่าๆ และอื่นๆ อีกมากมายเพื่อให้คนไทยมาเป็น Start-up กัน

    แต่ช้าก่อน แค่เอ่ยเช่นนี้ก็รู้แล้วว่า คำว่า Start-up ของรัฐบาลมันก็กึ่งๆ ประชานิยม แต่เป็นประชานิยมสำหรับคนมีรายได้ปานกลางที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง หาได้ตั้งใจสนับสนุนธุรกิจ Start-up ในความหมายของคนวงการไอทีไม่ เพราะสิ่งที่ Start-up จริงๆ ต้องการนั่นคือ

    มันต้องมีองค์กรอย่างเช่น เทมาเส็ค ของสิงคโปร์เกิดขึ้นในประเทศไทย เข้ามาลงทุนตั้งแต่ไอเดียยังเป็นวุ้น เข้ามาเป็น seed money หรือเงินทุนแบบให้เปล่า ไม่ใช่ผ่านแบงค์ด้วยการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ไปค้ำประกันเงินกู้แน่ๆ

    มันต้องแก้กฎหมายให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นใน Start-up ไทยแบบไม่โดนหักภาษีซ้อน ถ้าไม่แก้รับรอง Start-up ไทยก็ต้องซิกแซก เสียเงินค่าทนายกันบานถ้าไม่อยากให้บริษัทของตัวเองกลายเป็นบริษัทต่างชาติในที่สุด

    ส่วนตัวผมเชื่อว่าโครงการนี้ของรัฐบาลสร้างได้แค่ให้เกิด SMEs มากขึ้น แต่ไม่ได้สร้าง Start-up ในความหมายของวงการไอทีแน่ และนี่เป็นอีกโครงการหนึ่งที่คนไอทีจะจับตา ด้วยหางตาแบบเคืองๆ "งานนี้ริวจะไม่ยุ่ง อย่าเอาชั้นไปอ้างรับเงินก็แล้วกัน"

    2. จุดเปลี่ยนของวงการอีคอมเมิร์ชไทย ก้าวกระโดดหรือสูญพันธุ์ ช่วงนี้มีข่าวใหญ่หลายข่าวประกอบกัน เช่น Rakuten ที่เคยเข้ามาซื้อ Tarad.com ถอนตัวปล่อยให้เจ้าของเดิมอย่าง ป้อม ภาวุธ กลับมาโอบอุ้มสู้ศึกอีคอมเมิร์ชในไทย วิเคราะห์ตามเนื้อผ้าคืออีคอมเมิร์ชไทยและอีคอมเมิร์ชย่านอาเซียนทั้งหมดต้องคนท้องที่เท่านั้นที่จะทำรอด แบรนด์ยักษ์ใหญ่มาซื้อกิจการและคิดแผนระดับโลกยังไม่มีใครฝ่าด่านไปได้

    แต่ใช่ว่ายักษ์ใหญ่ระดับโลกจะเข็ดขยาด เพราะข่าววงในที่เข้าหูผมตลอดเวลา รวมถึงติดต่อให้เป็นนายหน้าในการซื้อกิจการอีคอมเมิร์ชในเมืองไทยจากแหล่งทุนเมืองนอก ยังมีมาตลอดเวลาหาได้ว่างเว้นไม่ แต่ดูเหมือนธุรกิจอีคอมเมิร์ชบ้านเราจะใจแข็งเหลือเกิน ยังไม่ทันเห็นราคาก็รีบปฏิเสธกันซะแล้ว

    ขณะที่อีคอมเมิร์ชไทยกำลังปรับฐานเตรียมพุ่งทยาน ส่งผลให้เกิดแผนการเผื่อแผ่ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แน่นอนอีคอมเมิร์ชไทยกำลังขยายการลงทุนออกนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการหาคู่ค้าท้องถิ่น การเข้าไปจองตลาด ยิ่งเข้าก่อนยิ่งได้เปรียบ ผมบอกได้เลยว่าตอนนี้เทคโนโลยีและความรู้ด้านอีคอมเมิร์ชบ้านเรานี่ใช่ย่อย แต่การจะไปเอาชนะได้ในต่างแดน มีแต่ต้องใช้เงินและเวลาเท่านั้น ใครสายป่านสั้นก็เตรียมตัวตายได้เลย

    อีกทั้งข่าวที่แจ็ค หม่า มาลงทุนใน Lazada โดยพุ่งเป้าหมายมาที่การจะเอาสินค้าจีนจากอาลีบาบามาเจาะตลาดอาเซียนมากขึ้น, ข่าว Builk เจ้าพ่อวงการก่อสร้างเมืองไทยกำลังจะขายวัสดุก่อสร้างแบบ B2B และจะมีอีกหลายคนที่จะเข้ามาทำโดยเฉพาะวงการรถยนต์เมืองไทย ที่จะเริ่มขายอะไหล่รถผ่านระบบ B2B ดังนั้นการปลุกตลาด B2B หลังจากที่ตลาด B2C เริ่มมั่นคงจึงเป็นสิ่งที่หลายคนรอคอย กลัวอย่างเดียวว่าต่างชาติจะเข้ามาฮุบตลาดไทยได้ เราคงต้องถอยกลับอีกครั้ง

    3. การลงทุนของแบรนด์ใหญ่อินเทอร์เน็ตโลกในไทย ว่าแล้วมันต้องมา อเมซอน เฟซบุ๊คส์ กูเกิ้ล เอาแค่ 3 ชื่อนี้มาตั้งในเมืองไทยก็ส่งผลอย่างยิ่งต่อธุรกิจไอทีสยามประเทศแล้ว พวกนี้เป็นพวกธุรกิจไอทีใหม่ คนละแนวกับพวกโลกโบราณอย่าง HP ไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม อะไรพวกนั้นแล้ว พวกเดิมๆ จะเข้ามาลงทุนตั้งสำนักงานขายในเมืองไทย หน้าที่หลักจริงๆ ก็แค่ส่งเสริมการขายเท่านั้น โอกาสน้อยมากจะมาสร้าง Lab หรือมาสร้างฐานการลงทุน อาจจะมีสร้างโรงงานบ้าง แต่โรงงานในไทยมันไม่สร้างมูลค่าเพิ่มอีกต่อไปแล้ว

    จริงอยู่ว่า 3 ชื่อที่เอ่ยบางชื่อนี่ตั้งสำนักงานเป็นเรื่องเป็นราว แต่บางชื่อก็เพิ่งตั้งทีมบริหาร หรือข่าวปล่อยที่ออกมาว่าอเมซอนเตรียมลงทุนสร้างระบบคลาวด์คอมพิวติ้งในเมืองไทยเป็นอีกฐานหนึ่ง หลังจากที่ตั้งในสิงคโปร์ เกาหลี จีน ถ้าตั้งได้คงสนุกไปอีกแบบ เราจะมีคลาวด์กูรูเกิดขึ้นในเมืองไทยแน่ แต่ที่แย่คลาวด์ท้องถิ่นเตรียมตัวสลบ หรือหนีไปเก่งเฉพาะทางจะดีกว่า

    สิ่งที่วงการไอทีไทยจับตาก็คือ การทำธุรกิจของยักษ์ใหญ่พวกนี้จะไปในแนวทางใด และการเชื่อมโยงธุรกิจไทยเข้ากับฟีเจอร์ต่างๆ ของยักษ์ใหญ่จะทำได้ง่ายขึ้น และจะทำให้เกิดประโยชน์กับวงการไอทีในประเทศเรายังไง แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่มากันเยอะๆ เถอะ เชื่อว่ามาดีกว่าไม่มาแน่นอน

    4. ดิจิตอลทีวี หรือจะหมดอนาคตเพราะยักษ์ไอที บ้านเราเพิ่งจะมีดิจิตอลทีวีในช่วงเวลาที่สื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มเข้าไปครองเวลาของทุกบ้าน เด็กๆ ทั่วโลกไม่ได้ติดทีวีเหมือนกับคนยุคก่อนแล้ว พวกเขาดูซีรียส์เกาหลีแบบยิงสดผ่านเน็ต ไม่ต้องรอทีวีบ้านเราไปซื้อลิขสิทธิ์ หรือรอดูจากแผ่นทีวี พวกเขาดูคอนเสิร์ตจากอีกฝากของโลก พวกเขาเล่นเกมออนไลน์แข่งกับคนทั้วโลก นั่นจึงทำให้เด็กใช้เวลากับโน้ตบุ๊คส์หรือโทรศัพท์มือถือมากกว่าดูทีวีปกติ

    แนวโน้มเช่นนี้มีมาเป็นระยะแล้วและจะเริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะการใส่ลูกเล่นใหม่ของวงการไอทีจะมีมาเรื่อยๆ อย่างล่าสุด เฟซบุ๊คส์ก็ออก เฟสบุ๊คส์ไลฟ์ ขึ้นมา เด็กยุคใหม่นั้นคุ้นชินกับการดูการถ่ายทอดสดรายการสำคัญๆ ผ่านยูทูป โดยไม่รอทีวีมานานแล้ว แต่จะถ่ายทอดสดเองอาจจะยากหน่อย แต่พอมีเฟสบุ๊คส์ไลฟ์ขึ้นมา เราก็เลยเห็นเน วัดดาว ถ่ายทอดการยิงหัวตัวเองแต่ไม่ตาย ขึ้นมาซะอย่างนั้น, เราได้เห็น เพลย์บอยประเทศไทย พาสาวๆ ในเครือออกมาเดินแฟชั่นในลานกว้างหน้าสตูดิโอของตัวเองแทบจะทุกวันเพื่อเรียกเรทติ้งอย่างสบายใจเฉิบ, คนมีวงดนตรี อยากให้คนอื่นดูก็ถ่ายทอด ใครไปเที่ยวไหนก็ถ่ายทอดสด โอ้แม่เจ้า เราจะมีทีวีไว้ทำอะไรอีก

    5. ประมูล 4G รอบสองน้ำนองเต็มตลิ่ง ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงหละครับ คนไอทีนั้นเสียดายแจ็สไม่มาตามนัดจริงๆ เพราะการที่เกิดรายใหม่ขึ้นในประเทศก็จะมีการลงทุนทางด้านไอทีใหม่ๆ ตามมาด้วย โอกาสที่ฝากไอทีจะเข้ามายุ่มย่ามกะเขาด้วยก็ต้องมี แต่สุดท้ายต้องปล่อยให้รายเก่าได้คลื่นไป แม้การลงทุนจะต้องเกิดแน่แต่โอกาสใช้รายเก่าๆ ที่เคยใช้อยู่มันสูงเสียเหลือเกิน

    แล้วถามว่าโอกาสที่ประมูลรอบนี้จะสำเร็จหรือไม่ บอกเลยว่าเดาใจยากมากแบบว่า 50/50 กันเลยทีเดียว ความคิดในการเตะถ่วงให้เลื่อนออกไปก็มีอยู่และไม่ใช่เล็กน้อย แต่มีกระแสแรงพอสมควรทีเดียว การเลื่อนจะทำให้การปรับฐานของทุกองค์กรเข้าที่เข้าทาง ขณะที่บางกระแสกลับต้องการให้มันจบๆ เพื่อตีหัวเข้าบ้านครองความได้เปรียบกันยาวๆ เอาแบบทิ้งกันไม่เห็นฝุ่น ทั้งคนในวงและนอกวงตอนนี้ได้แต่ลุ้นด้วยหางตาว่า เน็ตบ้านเราจะทั้งถูกและเร็วจะได้มีอะไรให้ทำอีกเยอะนะพ่อคุ๊ณ         

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook