รีวิว Nexus 6P หนึ่งในสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดของปี 2015

รีวิว Nexus 6P หนึ่งในสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดของปี 2015

รีวิว Nexus 6P หนึ่งในสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดของปี 2015
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าจะว่าไปแล้วสองสามปีที่ผ่านมา ผมชักจะเริ่มเบื่อกับการรอคอยการอัพเดตระบบปฏิบัติการของมือถือแอนดรอยด์ รุ่นเรือธง รวมไปถึงการปิดช่องโหว่ความปลอดภัยที่ไม่รู้จะมาเมื่อไร อย่างเร็วที่สุดก็สองเดือนบ้างหรือบ้างก็ไม่มากันเลย ยิ่งถ้าเปิดตัวมาเกินหนึ่งปีแล้ว (ภาษาชาวบ้านเรียก “ตกรุ่น”) อันนั้นก็อย่าได้หวัง แล้วกันไปใหญ่

ประจวบเหมาะกับ Google ก็เริ่มมีการลดราคา Nexus รุ่นที่เจ็ด อย่าง Nexus 6P ที่ล้างจุดอ่อนประจำตระกูล Nexus อย่างเรื่องกล้องไป ทำให้เป็นข้ออ้างให้ตัวเองในการโบกมือลาเจ้าสมาร์ทโฟนเพื่อนยากที่รับใช้ อย่างซื่อสัตย์กว่าสามปี หลังจากใช้งานได้ประมาณสามสัปดาห์จึงอยากจะเล่าประสบการณ์ให้ฟังกัน

คำเตือน: รูปประกอบเยอะนะครับ

แกะกล่อง


แพ็คเกจของ Nexus 6P เป็นกล่องกระดาษแข็งสีขาวเรียบเนียน ขอบมน คาดทับด้วยปลอกกระดาษสีเงิน ด้านหน้ามีโลโก้ P ด้านหลังมีรูปเครื่อง Nexus 6P เจ้าปลอกนี่ก็แสบ ตอนจะแกะพบว่าปลอกติดกับกล่องไม่สามารถรูดออกได้ ถ้าไม่คิดมากก็สามารถฉีกทิ้งได้เลย แต่ถ้าจะพยายามเก็บปลอกนี้ด้วยก็ควรจะใช้คัตเตอร์ตัดเอาจะช้ำน้อยที่สุด อันที่จริงน่าจะทำให้มีรอยปรุเสียหน่อย จะได้เปิดได้ง่ายขึ้น


เปิดมาจะมีแผ่นกระดาษสีเงินขนาดใหญ่ มีโลโก้ P สีเทาปิดทับ


ด้านหลังมีรูปอธิบายการใช้งานอย่างง่ายๆ


พอเปิดกล่องขึ้นมา ภายในกล่องมีการจัดเรียงไว้อย่างดี ด้านซ้ายคือช่องเจ้า Nexus 6P (ที่ไม่ได้อยู่ในรูป) ด้านบนขวามีสาย USB type-C (ทั้งสองปลาย) ยาวหนึ่งเมตรหนึ่งเส้น และด้านล่างอะแดปเตอร์แปลงไฟขนาด 15 W (3A) 1 ตัว

หลังจากหยิบเจ้า Nexus 6P ออกมาจากช่อง ด้านล่างจะมีบัตรเชิญให้ทดลองใช้ Google Play Music และซองกระดาษบรรจุข้อมูลการรับประกันและ SIM ejector pin ล่างสุดจะมีสาย USB type-A to type-C ยาวหนึ่งฟุตอีกหนึ่งเส้น

ตัวเครื่อง


เจ้า Nexus 6P ถือเป็น Nexus รุ่นแรกที่มีบอดี้เป็นอะลูมิเนียมอัลลอยยูนิบอดี้ ให้ความรู้สึกพรีเมียมสมกับเป็นรุ่นเรือธง ขนาดหน้าจอที่ใหญ่ 5.7” ตัวเครื่องแบนบางเรียบลื่น ด้านหน้าเรียบโล่ง ไม่มีโลโก้หรือปุ่มใดตามสไตล์ Nexus ด้านบนของเครื่อง (ในรูปอยู่ด้านขวา) มีไฟแจ้งเตือน (notification LED) กล้องหน้า 8 ล้านพิกเซล ลำโพงสเตอริโอซ้ายที่หันช่องเข้าหาตัว เซนเซอร์วัดแสง (ambient light sensor) และ proximity sensor ส่วนท้ายเครื่องเป็นลำโพงสเตอริโอขวา ตัวเครื่องรองรับปกแม่เหล็ก (magnetic sleep/wake case)


ถ่ายคู่กับ Note 3 เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นขนาด


ด้านซ้ายมีแต่ช่องใส่ Nano-SIM


ด้านขวามีปุ่มเปิด/ปิด และปุ่มปรับเสียงอยู่บริเวณกลางเครื่อง


ด้านล่างตรงกลางมีพอร์ต USB-C รองรับ OTG ไม่รองรับ MHL


ด้านบนมีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร


ด้านหลังเป็นโลหะเรียบลื่น ภายใต้แถบกระจกสีดำ มีกล้องหลัง 12.35 ล้านพิกเซล แฟลชคู่ และเลเซอร์ช่วยปรับโฟกัส ตรงกลางเครื่องมีเซนเซอร์ลายนิ้วมือ (Nexus Imprint)


สำหรับใครที่กังวล ส่วนบนตำแหน่งของกล้องนูนขึ้นจากฝาหลังเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ยกตัวขึ้นมากมาย พอใส่ bumper หรือเคสซิลิโคนความหนาปกติก็เพียงพอที่ทำให้ส่วนกระจกนี้ก็จะไม่แตะพื้นเวลา วาง


สำหรับขนาดที่ใหญ่โตระดับ Phablet แบบนี้ สำหรับผมใช้งานมือถือขนาดไม่เกิน 5 นิ้วมาตลอด เวลาเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนจอใหญ่ต้องอาศัยเวลาปรับตัวสักเล็กน้อย ถ้าใช้มือเดียวถือแบบกำรอบเครื่องเพื่ออ่านข้อความก็ทำได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเมื่อไรต้องใช้นิ้วโป้งจิ้มหน้าจอ ศูนย์ถ่วงเครื่องจะเลื่อนไปอยู่ที่ปลายนิ้ว อาจจะดูไม่มั่นคง ซึ่งคงต้องปรับตัวกันซักหน่อย แต่สำหรับคนที่คุ้นเคยกับการใช้โทรศัพท์หน้าจอใหญ่ อาจจะไม่ใช่ประเด็นนัก

ซอฟต์แวร์

เครื่องที่ผมซื้อมาเป็นรุ่น H1512 (Global) 64 GB ซอฟต์แวร์ที่รีวิวเป็น รอมศูนย์ Android Marshmallow 6.0.1 build MHCI119Q (April 2016) ไม่ปรับแต่งและยังไม่รูท


เครื่องผมความจุ 64 GB (53.67 GiB) หลังเสร็จขั้นตอนตั้งค่าอุปกรณ์ ตัวระบบใช้พื้นที่ไปราว 490 MiB ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขต่ำสุดที่เป็นไปได้ แต่ถ้าใช้งานจริงๆ มีการอัพเดตแอพ ติดตั้งแอพเพิ่มเติม มีแคช ระบบจะใช้พื้นที่เยอะกว่านี้มากครับ

ภาษา

ตัวรอมรองรับภาษาไทยและอังกฤษ สามารถสลับสับเปลี่ยนได้ตามถนัดครับ
Home Screen


 Nexus 6P ใช้ Google Now Launcher โดยมี Home Screen เริ่มต้นมาให้สองหน้า หน้าที่สองเป็นหน้าหลัก สามารถลากปรับตำแหน่งไอคอนได้ตามชอบใจ และสามารถสร้างหน้าใหม่เพิ่มได้ ส่วนหน้าแรกซ้ายสุดเป็นหน้า Google Now แต่ถ้าเราปิดฟีเจอร์ Google Now หน้านี้ก็จะหายไป

ส่วน App Drawer จะแบ่งเป็นสองส่วน แถวแรกจะแสดงรายการแอพ 4 ตัวที่ระบบคาดว่าเราจะใช้งานในขณะนั้นๆ (App suggestions) ซึ่งถ้ารำคาญสามารถซ่อนไม่ให้แสดงได้ ส่วนล่างจะแสดงรายชื่อแอพทั้งหมดที่มีในเครื่อง แสดงเป็นตารางสี่หลักเรียงตามชื่อแอพ ไล่จากซ้ายไปขวาและบนลงล่าง

ถ้าว่ากันตามตรงก็คือมีฟีเจอร์พื้นฐานแบบพอเพียง ปรับแต่งได้น้อยมาก ที่สำคัญตัว Launcher ไม่รองรับ notification badge (ตัวเลขเล็กๆ ที่มุมขวาบนของไอคอนที่แสดงจำนวนอีเมลหรือข้อความที่ยังไม่ได้อ่าน) ซึ่งถ้าต้องการปรับแต่งได้มากกว่าอาจจะต้องมองหา Launcher อื่น

Settings


ในรุ่น 6.0 Settings จัดเป็นกลุ่ม 5 หมวด ได้แก่ Wireless & Networks, Device, Personal และ System ซึ่ง รองรับการค้นหา สามารถกดปุ่มแว่นขยายแล้วพิมพ์คำค้นเพื่อข้ามไปยังหน้าจอการตั้งค่าที่ต้อง การได้เลย

Application Permission

ในแง่ความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้เป็นจุดอ่อนของแอนดรอยด์มาตลอด เดิมผู้พัฒนาคิดอยากจะเข้าถึงอะไรบ้างก็ประกาศไปเลยว่าแอพของตัวเองมีสิทธิ์ ที่จะเข้าถึงข้อมูลอะไรบ้าง เช่น เกมตัวนี้จะขอเข้าถึง SMS ปฏิทิน และ เบอร์ติดต่อ ผู้ใช้งานมีทางเลือกแค่จะรับทั้งหมดหรือไม่ก็ไม่ติดตั้งแอพไปเลย

แต่ใน Marshmallow เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเข้าควบคุมสิทธิ์การใช้งานได้มากขึ้น สามารถดูได้เป็นกลุ่มฟังก์ชัน เช่น กล้อง, location, โทรศัพท์, SMS เป็นต้น มีแอพไหนบ้างที่ต้องการสิทธิ์กลุ่มไหนและเราอนุญาตแอพไหนไปแล้วบ้าง ซึ่งถ้าภายหลังเปลี่ยนใจก็สามารถถอดสิทธิ์ออกภายหลังก็ย่อมได้

หรือจะดูเจาะเป็นรายแอพ เพื่อดูว่าขอสิทธิ์อะไรบ้าง รวมถึงสามารถปิดการเข้าถึงเมื่อไรก็ได้

เรียกว่าฟีเจอร์นี้ทำให้คนที่กังวลเรื่องความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล สามารถเลือกใช้แอพได้สบายใจมากขึ้น เมื่อไรที่แอพพยายามจะเข้าถึงข้อมูลที่เราปิดกั้นไว้ ระบบจะแสดงข้อความขออนุญาตการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งผู้ใช้มีสิทธิ์จะปฏิเสธการเข้าถึงได้ทันที

File Manager

ตัว Stock ROM ไม่มีตัวจัดการไฟล์เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการเหมือนกับของผู้ผลิตแอนดรอยด์ ค่ายอื่นๆ อย่าง Samsung (My Files) หรือ Xioami (Explorer) อันที่จริงก็พอจะมีให้ใช้งานแก้ขัดได้ โดยสามารถเข้าถึงได้ผ่านหน้าจอ Settings > Internal storage > Explore แต่มีความสามารถก็จำกัดอย่างมาก เพียงแค่ สามารถดูโฟลเดอร์ได้ ทำสำเนา ลบ แชร์ และ ค้นหา ได้ แต่ไม่สามารถดูหรือแก้คุณสมบัติไฟล์ ไม่สามารถเปลี่ยนชื่อหรือย้าย ไม่สามารถติดตั้งไฟล์ APK ได้ และไม่สามารถเรียกตรงจาก App Drawer ได้ ต้องเรียกใช้งานผ่าน Settings อย่างเดียว ซึ่งไม่คล่องตัวเอาเสียเลย ซึ่งแนะนำว่าให้หา File Manager อื่นมาใช้ ชีวิตจะดีขึ้นมาก

Keyboard

Nexus 6P ใช้ Google Keyboard ที่ไม่มีลูกเล่น ปรับแต่งไม่ได้ ข้อเสียที่เห็นได้ชัดคือลากคำ (swift หรือ gesture typing) ภาษาไทยไม่ได้
Music


 Nexus 6P ใช้ Google Play Music หน้าตาสวยงามตามแบบฉบับ Material Design เข้ากับสไตล์ Marshmallow แต่ลูกเล่นจำกัดมาก เช่น ไม่รองรับเนื้อเพลง (lyric) ที่ฝังลงมาในไฟล์ หรือ เวลาฟังเพลงไม่สามารถปรับ equalizer ทันที ต้องฝ่าเมนูเข้าไป 4 ขั้นกว่าจะปรับได้

Video

Nexus 6P ใช้ Google Photos ในการเล่นไฟล์หนัง ซึ่งมีความสามารถจำกัดอย่างมาก ตัวแอพเองไม่มีตัวเลือกปรับความสว่าง ระดับเสียง รวมถึงเร่งระดับเสียงให้ดังพิเศษไม่ได้ (boost volume) ไม่รองรับไฟล์ซับไตเติลแยก (SRT) จำตำแหน่งที่เล่นค้างไม่ได้ ซูมหรือปรับสัดส่วนการแสดงผลไม่ได้ โดยรวมๆ น่าจะเหมาะกับการเล่นกลับไฟล์วิดีโอที่บันทึกจากมือถือเองเท่านั้น ถ้าจะต้องการดูหนังหรือซีรีส์ น่าจะหาโปรแกรมอื่นมาใช้งานแทนจะเหมาะกว่า

Nexus Imprint

Nexus 6P รองรับการใช้ลายนิ้วมือในการปลดล็อกหน้าจอหรือยืนยันการซื้อแอพ ซึ่งโดยรวมถือว่ารวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 1 วินาที ตั้งแต่วางนิ้วลงไปจนแสดงหน้าโฮม โดยรองรับการจดจำสูงสุด 5 นิ้วมือ

โดยส่วนตัวผมชอบตำแหน่งเซนเซอร์ปัจจุบันเพราะสำหรับเครื่องจอใหญ่ขนาดนี้ การแตะเซนเซอร์ที่อยู่ปลายเครื่องด้านหน้าอาจถือมือเดียวไม่ถนัดนัก เสียวจะหล่นต้องใช้สองมือช่วยประคอง แต่การที่เอาเซนเซอร์ไปวางอยู่ด้านหลัง เวลาหยิบนิ้วชี้ก็วางพอดี ทำให้การใช้งานมือเดียวง่ายและลดความหวาดเสียวเครื่องจะหล่นได้มาก

กล้อง

ตัวแอพกล้อง (Google Camera) มีโหมดน้อยมาก มีแค่โหมดถ่ายรูปปกติ, Photo Sphere, Panorama, Lens Blur และ Slow Motion ไม่มีโหมดหน้าสวยที่สาวๆ ส่วนใหญ่คาดหวัง (เอาเป็นว่าสวยตามธรรมชาติ)

ตัวอย่างรูปถ่ายจากกล้องหลังนะครับ

โดยส่วนตัวถือว่ากล้องทำงานได้รวดเร็วพอสมควร นับตั้งแต่ล็อกเครื่องปิดจอ กดปุ่ม Power ย้ำสองครั้งเพื่อเรียกเข้าแอพกล้องถ่ายรูป ภายในสองวินาทีก็พร้อมถ่ายรูปได้เลยครับ

แม้ว่ากล้อง Nexus 6P จะไม่มี Optical Image Stabilizer แต่การที่ Nexus 6P ใช้เซนเซอร์ขนาดใหญ่ 1/2.3” ทำให้การถ่ายรูปกลางคืนได้รายละเอียดขึ้นมามาก

รูปล่างเป็นรูปถ่ายภายในอาคารที่มีแสงน้อย เพื่อสาธิตความแตกต่างระหว่างการปิดกับเปิด HDR


รูปทางซ้ายถ่ายแบบไม่เปิด HDR ส่วนทางขวาเปิด HDR

รูปบนถ่ายแบบไม่เปิด HDR ส่วนรูปล่างเปิด HDR

ส่วนแอพกล้องก็ยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร มีตัวเลือกหลักๆ มีแค่กำหนดคุณภาพภาพถ่าย (resolution) และ สัดส่วนภาพ (4:3 รึว่า 16:9) เท่านั้น ส่วนตัวเลือกขั้นสูงสำหรับการถ่ายรูปได้น้อยมาก ไม่มีโหมดแมนนวล ไม่มีชดเชยแสง เปิดหน้ากล้องให้นานๆ รึยังไม่สามารถถ่าย RAW ได้ เป็นต้น

Benchmark A1 SD Bench

จากการทดลอง 6 ครั้ง (สำหรับการทดสอบ Internal Memory ใช้วิธี Accurate – with reboot) ผลเฉลี่ยได้ดังนี้

RAM copy: 5,015.56 ±295.04 MB/s
Internal Memory Read: 223.81 ±45.79 MB/s
Internal Memory Write: 101.43 ±17.57 MB/s

3D Mark – Sling Shot ES 3.1

ผลการรันทดสอบในห้องปรับอากาศ 5 ครั้ง ผลอยู่ที่ 1,688 ± 131 คะแนน แต่ถ้าทดสอบอีก 5 ครั้งในอุณหภูมิห้องปกติกรุงเทพในเดือนเมษายน (34-38 องศาเซลเซียส) ผลคะแนนจะหล่นวูบอย่างกับหนังคนละม้วน เหลือแค่ 1,035 ± 151 คะแนน หลักจากตรวจสอบสาเหตุอยู่พักหนึ่ง จึงพบคำอธิบายที่ดูน่าเชื่อถือว่าน่าจะเกิดจากฟีเจอร์ thermal throttling กับซีพียูอันร้อนแรงอย่าง Snapdragon 810

จากการตรวจสอบข้อมูลของ 3DMark พบว่า ถ้าเครื่องยังเย็น (ภาพซ้าย) ซีพียูจะรันที่ 800 MHz เป็นส่วนใหญ่และไปแตะที่ 1.6 GHz ได้ แต่ถ้าเมื่อไรที่อุณหภูมิขึ้นเลย 35 ขึ้นไป (ภาพขวา) กราฟซีพียูเป็นยอดตัดเหมือนจะโดนล็อกไว้ไม่รันเกิน 600 MHz (แกนกราฟความเร็วซีพียูสองภาพนี้คนละสเกลกัน)

AnTuTu

ผลทดสอบจาก AnTuTu Benchmark v6.0.1 จากการรัน 6 ครั้ง ในห้องปรับอากาศ อุณหภูมิเครื่องอยู่ระหว่าง 26-31 องศา คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 84,650 ±10,900 แต่ถ้าอยู่ที่อุณหภูมิห้อง อุณหภูมิเครื่องระหว่างการทดสอบขึ้นไปแตะ 37-40 องศา ผลจะหล่นเหลือ 44,137 ±4,370 คะแนน จากการรันอีก 6 ครั้ง

แต่ถ้าเอาแยกรายกลุ่มจะเห็นกว่าคะแนนทั้ง 3D, UX, CPU ต่างร่วงลงเกือบครึ่ง ยกเว้นแต่ RAM เท่านั้นที่ดูจะไม่เปลี่ยนแปลง

หูฟัง

ส่วนที่น่ารำคาญที่สุดของแอนดรอยด์คือเรื่องปุ่มปรับเสียง เนื่องจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแต่ละเจ้าก็ใช้เทคนิคต่างกันไปในการส่งสัญญาณปรับ ระดับเสียง ทำให้เวลาเอาสายหูฟังแอนดรอยด์ข้ามยี่ห้อมาเสียบกันอาจจะใช้งานไม่สมบูรณ์ Google เพิ่งออกข้อกำหนดมาตรฐานเปิด Wired Audio Headset Specification ในช่วงปี 2014-2015 ที่ผ่านมา เพื่อให้ใครๆ สามารถผลิต headset ตามมาตรฐานที่สามารถทำงานร่วมกันได้ ข้อเท็จจริงคือมันเพิ่งออกมา ผู้ผลิตหลายเจ้ายังปรับตัวไม่ทัน ทำให้สายรุ่นเก่าที่มีอยู่ในตลาดส่วนใหญ่ทำงานได้ไม่สมบูรณ์

ผมทดสอบกับหูฟังแบบเสียบสาย สรุปผลคร่าวๆ ได้ตารางด้านล่างดังนี้
ประสบการณ์การใช้งาน

  • ฟีเจอร์กล้องถือว่าดีกว่าที่คาดไว้มาก ด้วยอานิสงส์ของเซนเซอร์ขนาดใหญ่และฟีเจอร์ HDR ที่โดยรวมทำงานได้ค่อนข้างดี ถ่ายได้ดีทั้งกลางแจ้งและในร่ม หรือแม้ในแสงที่แสงน้อยก็ตาม แต่ถ้าต้องถ่ายรูปติดๆ กันหน่อย แนะนำให้ปิด HDR เพื่อจะได้ถ่ายต่อเนื่องได้ ไม่ต้องประมวลผลภาพให้เสร็จก่อนจึงจะถ่ายต่อได้
  • ควรพกอะแดปเตอร์แปลงไฟที่ให้มาไว้กับตัวเวลาไปทำงานหรือออกนอกสถานที่ (ที่ยังมีไฟฟ้าใช้) เพราะชาร์จแบตให้เต็มได้เร็วมาก สามารถชาร์จได้จาก 0 ถึง 40% ได้ภายในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น โดยเฉลี่ยจะเร็วกว่าอะแดปเตอร์อื่นเกือบเท่าตัว
  • Nexus 6P เป็นเครื่องที่มีศักยภาพ เพียงแต่แอพที่มาด้วยกันมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้ทั่วไปน้อย หลายครั้งจึงต้องอาศัยแอพภายช่วยทำงานบางอย่างบ้าง
  • เครื่องโดยรวมทำงานได้ลี่นไหลดี ไม่เคยเจอปัญหาใหญ่โต มีสองสามครั้งที่เจอว่าแอพกล้องไม่ยอมทำงานแต่รีบู๊ตใหม่ก็หาย (เจอปัญหาขณะกำลังท่องเที่ยวและถ่ายรูปอยู่ สงสัยว่าเพราะว่าถ่ายรูปต่อเนื่องและอากาศร้อนจัด)

คุณสมบัติเครื่อง

  • Google Nexus 6P (Angler) รุ่น International (H1512)
  • ขนาด 15.93 x 7.78 x 0.73 เซนติเมตร น้ำหนัก 179 กรัม
  • หน้าจอ AMOLED 5.7” ความละเอียด QHD 1440x2560 @518 PPI กระจก Corning Gorilla Glass 4
  • ซีพียู Snapdragon 810 v2.1 (MSM8994) ประกอบด้วย ARM Cortex-A57 4 คอร์ @1.95 GHz (Big) และ ARM Cortex-A53 อีก 4 คอร์ @ 1.55 GHz (Little) สามารถใช้งานได้พร้อมกันทั้งแปดคอร์ ส่วนจีพียูเป็น Adreno 430 @650 MHz รองรับ OpenGL ES 3.1 และ Vulkan 1.0
  • กล้องหลัง 12.35 MP เซนเซอร์ Sony Exmor IMX377 f/2.0 ขนาด 1/2.3” 1.2 µm
  • แรม 3GB
  • พื้นที่เก็บข้อมูล มีให้เลือกสามขนาด 32, 64 และ 128 GB ไม่รองรับ microSD
  • รองรับ GPS/AGPS/GLONASS
  • Bluetooth 4.2
  • Wi-Fi รองรับ 802.11 a/b/g/n/ac และรองรับทั้งสองความถี่ 2.4G/5G
  • มีเซนเซอร์ Fingerprint sensor, Gyroscope, Accelerometer, Barometer, Proximity sensor, Digital Compass, Ambient Light sensor, Hall sensor, Android Sensor Hub
  • กล้องหลัง 12.35 MP เซนเซอร์ Sony Exmor IMX377 f/2.0 ขนาด 1/2.3” ขนาดพิกเซล 1.2 µm
  • กล้องหน้า 8 MP เซนเซอร์ Sony Exmor IMX179 f/2.4 ขนาด 1/3.2” ขนาดพิกเซล 1.4 µm
  • แบตลิเทียมโพลิเมอร์ขนาด 3450 mAh (3.82V 13.18 Wh) เปลี่ยนไม่ได้
  • OS: Android Marshmallow 6.0.1

สรุปข้อดี

  • หน้าจอใหญ่เกือบ 6 นิ้ว อ่านข้อความ เล่นเกมสบายตา
  • มีการอัพเดตซอฟต์แวร์ที่สม่ำเสมอ และน่าจะอัพเดตเร็วที่สุดในสายแอนดรอยด์ด้วยกัน (ขณะที่เขียน ก็ได้รับอัพเดตความปลอดภัยรุ่นเดือนพฤษภาคมแล้ว)
  • กล้องดี ไม่มีปัญหา แม้จะถ่ายในร่ม แสงสลัว
  • Nexus Imprint ทำงานได้ดี (ยกเว้นระหว่างออกกำลังกายเหงื่อออกมากๆ หรือหลังอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ)
  • ระบบป้องกันความร้อนดี เล่นเกมหนักก็แค่อุ่นๆ ไม่มีร้อนลวกมือแน่นอน
  • ชาร์จได้เร็วมาก 0-40% ภายใน 30 นาทีเท่านั้น

สรุปข้อเสีย

  • ไม่รองรับ microSD
  • ไม่รองรับ HDMI/MHL
  • แอพของระบบค่อนข้างมีฟีเจอร์จำกัดมาก
  • ถ้าต้องการประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่โฆษณา ควรจะใช้งานในห้องปรับอากาศ ไม่งั้นประสิทธิภาพจะตกลงครึ่งหนึ่ง (-_-')
  • หาอุปกรณ์เสริมที่ใช้ USB type-C ยังยากอยู่


ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
บทความโดย:

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook