Zbing z. นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส เกมแคสเตอร์หญิงอันดับหนึ่งของไทย
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ
เวลาว่างของแต่ละคนก็มีกิจกรรมที่ต่างกันออกไป แต่แน่นอนว่าการเล่นเกมจะเป็นอันดับแรกๆ ที่หลายคนเลือกทำ ซึ่งหากใช้เวลาได้อย่างถูกต้องในการเล่นเกมแล้ว ปัญหาที่เราพบอย่างเด็กติดเกมในปัจจุบันคงจะพบเห็นไดน้อยลง และหากมีความรักในการเล่นเกมแล้วก็สามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่ดีในอนาคตได้อีกด้วย เช่นเดียวกับ แป้ง-นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส แคสเตอร์หญิงอันดับหนึ่งของไทยเจ้าของชาแนล zbing z. ใน YouTube ที่ล่าสุดมียอดผู้ติดตามถึง 1 ล้านคน จากการแคสเกม ในระยะเวลาเพียง 2 ปี
จากเด็กติดเกมสู่การประกอบอาชีพแคสเตอร์
เพราะมีความผูกพันกับเกมมาตั้งแต่เด็ก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการแคสเตอร์ โดยหลังจบการศึกษาคณะบริหารธุรกิจคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในช่วงที่เพื่อนๆ หลายคนหางานทำ เธอใช้เวลาทุ่มเทให้กับการศึกษาวิธีทำคลิปวิดีโอลง YouTube เนื่องจากชอบดูรีวิวเกมของต่างชาติ และพบว่าช่องทางนี้สามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ จึงเริ่มต้นอย่างจริงจัง
“แป้งเองก็เคยเป็นเด็กติดเกมมาก่อน พอโดนที่บ้านว่าบ่อยๆ เราก็หันมามองตัวเอง ที่เขาว่าเราเพราะว่าไม่รู้จักการแบ่งเวลาหรือเปล่าพอจากนั้นก็ปรับตัว ให้รู้ว่าเวลาไหนเล่นเกม หรือเวลาไหนต้องทำอะไร จนที่บ้านก็ยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะเล่นเกม สำหรับตัวเองสิ่งที่ได้จากเกมคือได้สังคม ได้ภาษา เพราะอย่างคำไหนเราไม่รู้ คือต้องเปิด Dictionary เพื่อหาความหมายในการแก้ไข ซึ่งก็ทำให้เราได้ฝึกฝนมากด้วย”
โดยคลิปแรกที่เริ่มทำคือ เป็นเกมอินดี้ที่ทางผู้ผลิตไม่ได้ทำมาขาย แต่ทำมาเพื่อให้ทดลองเล่น โดยใช้รูปแบบ Walkthrough เป็นการเล่นทั้งเกมต้นยันจบเพื่อทำบทสรุป โดยเราเพิ่มการตัดต่อสร้างเรื่องราวและพากย์เสียงลงไปให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าในช่วงแรกมีผู้เข้าชมเพียงหลักร้อย แต่ด้วยความรักและพยายามทำให้เธอค้นหาแนวทางในการนำเสนอ และทำรูปแบบรายการต่างๆ ออกมาให้ถูกใจแฟนคลับจนมีผู้ติดตามมากมายถึงปัจจุบัน ที่มีตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ เพราะคอนเทนต์ที่หลากหลายทั้งเกม ท่องเที่ยว และสินค้าต่างๆ
บทบาทของผู้หญิงในวงการเกมแคสเตอร์
แป้ง เล่าว่า ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้การแคสเกมยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมในเมืองไทย แต่ช่วงหลังมานี้ก็เริ่มเติบโตและแตกแขนงออกไป ลักษณะของการแคสจะมีแบบสตรีมมิ่ง หรือเรียกว่า แคสสด ที่ได้รับความนิยมมาก ส่วนอีกแบบคือ แคสเป็นวิดีโอ มีการตัดต่อใช้เอฟเฟ็กต์เข้าช่วย ในปัจจุบันนี้คนที่ลองทำการแคสเกมทั่วโลกมีประมาณหลักแสน ส่วนในประเทศไทยเองก็อยู่ในหลักหมื่น
“สังคมเกมที่คนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของผู้ชาย เพราะคนที่อยู่ในวงการนี้มีผู้ชายเยอะกว่า แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเลย แค่เราชอบเล่นเกมมันไม่ได้จำกัดเพศ ซึ่งข้อแตกต่างของเพศมันก็มีจุดเด่นที่ต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละคนก็มีจุดเด่นเฉพาะตัวที่ต่างกันไป ผู้ชายอาจจะใช้อารมและน้ำเสียงที่โผงผางดุดัน ซึ่งมันก็เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ที่คนทั่วไปอินไปด้วย ส่วนแป้งเองจุดเด่นคือ การดัดเสียง เพราะเราเป็นผู้หญิงก็สามารถทำเสียงได้หลายๆ แบบ และมีการปูเรื่องราวที่ดึงดูดคนดูด้วย”
ด้วยความที่การแคสเกมได้รับความนิยมมาก ก็มีแคสเตอร์หน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ คนที่เข้ามาดูมีทั้งเด็กเล็กๆ ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ การใช้คำพูดต้องมีความเหมะสม เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของวงการ ให้คนภายนอกคนเล่นเกมในมุมมองที่ดี ทั้งนี้ยังคาดหวังให้หลายๆ ภาคส่วนส่งเสริมกีฬาอีสปอร์ตให้ได้รับความนิยมมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนวงการเกมได้ก้าวหน้าต่อไปในระดับโลก
สร้างสรรค์คอนเทนต์แบบรับผิดชอบต่อสังคม
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทำให้ต้องมีการคัดกรองคอนเทนต์ที่นำเสนอมากยิ่งขึ้น โดยมีเบื้องหลังอย่างสังกัด ONLINE STATION ภายใต้บริษัท ทรู มีเดีย โซลูชั่นส์ จำกัด คอยคัดกรองการลงโฆษณาและเลือกเกมที่ถูกลิขสิทธิ์มาลงในช่องเพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมอีกทางหนึ่งด้วย
“พอมีคนรู้จักเพิ่มมากขึ้น การใช้ชีวิตปกติที่เคยทำก็เปลี่ยนไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก การสร้างสรรค์คอนเทนต์ก็ต้องระมัดระวังให้มากขึ้น เราก็ดีใจที่มีคนมาหา มาตามงานต่างๆ มารอถ่ายรูปด้วย แป้งก็อยากให้ความใกล้ชิดกับทุกคน แป้งแคร์และอยากใส่ใจทุกคนที่รู้จัก หรือมาติดตาม ชื่นชม เพราะว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของเราที่ทำให้เราได้มีวันนี้”
สุดท้าย เธอยังฝากถึงคนที่อยากจะสานฝันการเป็นเกมแคสเตอร์ว่า เวลาไม่ได้เป็นข้ออ้างในการสร้างสรรค์ผลงาน เพราะตอนที่เริ่มแรกเธอเองก็ไม่ได้มีเวลามาก แต่สิ่งที่ต้องมีคือ ความกล้าและใจรัก ส่วนการศึกษาตัดต่อลงเสียงตอนนี้เราก็สามารถหาดูได้ใน YouTube เพราะเดี๋ยวนี้ก็มีคนทำวิธีทำให้ทุกอย่างแล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ถ้าเรากล้าที่จะเริ่มต้นในสิ่งที่เรารักก็จะประสบความสำเร็จแบบแป้งได้อย่างแน่นอน
สามารถติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร digital Age ฉบับที่ 209 หรือทาง www.digitalagemag.com
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ