อยากเป็น start-up ต้องประกวดเหมือนนางงาม เวทีไหนน่าจับตา วานบอก???
หัวข้อถกเถียงกันว่า การทำ start-up เหมาะสมกับเมืองไทยหรือไม่ ไหนเรื่องคนทำซอฟต์แวร์เริ่มขาดแคลน ไหนเรื่องการ disruptive หรือการยกเครื่องธุรกิจ จะยังไม่เวิร์คในสังคมไทย ไหนจะเรื่องโน้นเรื่องนี้อย่ามองว่ามันเป็นปัญหา อย่ามองว่าเราต้องไปแก้ไข ปล่อยให้บิ๊กๆ เขามาจัดการ ส่วนพวกเราที่จะเข้าทำ start-up ก็มุ่งมั่นกันต่อไป
ในฐานะที่ผมเองก็ผ่านเวทีการประกวด ไม่ใช่แล้ว เป็นกรรมการการประกวดซอฟต์แวร์ต่างหาก เป็นมาหลายสนาม มีประสบการณ์ มีสิ่งดีๆ มาแชร์ให้น้องๆ ที่อยากเข้าสู่วงการ start-up ในอนาคตได้เปิดหูเปิดตาดังนี้
1. ถ้าคุณยังเป็นนักศึกษา ปี 3-4 และอยากเข้าสู่วงการ start-up แนะนำให้รวมทีมกับเพื่อนประมาณ 3-4 คน อย่างน้อยโปรแกรมเมอร์หนึ่ง กราฟิกหนึ่ง และบริหารธุรกิจ ที่รวมการตลาด ประชาสัมพันธ์ และบริหารได้ในตัว
ห้ามเด็ดขาดคือการรวมทีมโปรแกรมเมอร์ยกแผง เพราะโปรแกรมเมอร์ส่วนใหญ่มักอยากเขียนโปรแกรมที่ตัวเองอยากเขียน แต่ไม่สนใจว่าผู้ใช้จะอยากใช้หรือไม่ และที่สำคัญสกิลในการพรีเซนเตชั่นถือว่าติดลบ พูดอะไรยังต้องแปลงรหัสกันอยู่
รวมกลุ่มกันได้ให้หาเวทีประกวดซ้อมมือ ก่อนประกวดให้ตัดสินใจว่าจะเอาโปรเจคจบหรือคิดค้นเรื่องราวใหม่เข้าประกวด และอย่าลืมว่างานนี้จะเพิ่มความยุ่งยากในช่วงเวลาเรียนของคุณเพิ่มอีกอย่างน้อยเท่าตัว ทางที่ดีก่อนประกวดควรศึกษามาก่อนว่าเวทีประกวดแต่ละที่เป็นอย่างไร และจะมีผลต่อเราอย่างไรในอนาคต ที่สำคัญกลับไปดูย้อนหลังด้วยว่าแต่ละปีรุ่นพี่เราเอาอะไรเข้าประกวดแล้วส่วนใหญ่อะไรตกอะไรรอด
สิ่งที่ผมเห็นทุกปีของการประกวดก็คือ มีเด็กที่คิดจะทำแอพแนะนำท่องเที่ยวเยอะมาก หลายครั้งที่ผมและกรรมการส่วนใหญ่จะแนะนำกลับไปว่า เลือกเล็กๆ ก่อนดีมั๊ย เอาแนะนำพื้นที่ที่ตัวเองถนัด อยู่เยาวราช ก็ทำแค่เยาวราชมา อยู่เชียงใหม่ก็ทำแค่ที่ตัวเองอยู่มา จุดตายของนักศึกษาคิดก็คือ เดี๋ยวไปเอาข้อมูลจากการท่องเที่ยวมาใส่ก็จบ content management สมัยนี้มันไม่ได้แล้ว มันต้องเป็นเฉพาะทาง และคนทำต้องรู้จริงจึงจะขายได้นะจ๊ะ
สำหรับทีมที่อยากประกวดในรุ่นนักศึกษาผมแนะนำสองเวทีที่ไม่ควรพลาด 1. รางวัลสามารถอินโนเวชั่น อวอร์ด รางวัลนี้แจกจริง ไม่ใช่แค่รางวัลแต่เพราะกระบวนการที่พยายามทำให้คุณเก่งจนมาถึงรอบแข่งจริง และบอกเลยกรรมการโหดๆ จะช่วยให้น้องๆ ได้เตรียมตัวก่อนจะไปเจอของจริงในอนาคต แต่เงินรางวัลหาใช่ประเด็นหลักของรางวัลนี้ ผมอยากให้น้องๆ ได้คว้ารางวัลจากที่นี่เพราะจะเอาเรื่องการเข้า Incubation ของซอฟต์แวร์พาร์ค เพราะการได้เป็นสมาชิกของศูนย์บ่มเพาะที่นี่นอกจากจะได้เจอพวกตัวจริงๆ ในวงการที่จะทำให้น้องๆ ได้ต่อยอดได้จริงแล้ว คำปรึกษาและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่น้องๆ จะได้ ถือว่าคุ้มสุดๆ ดังนั้นก่อนจบควรมีรางวัลนี้ติดมือ
เวทีที 2. MEGA ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เป็นรางวัลที่เพิ่งเกิดไม่นาน แต่นานๆ ที่จะเห็นรัฐบาลจัดประกวดเป็นเรื่องเป็นราว รางวัลนี้ยิ่งใหญ่ในระดับนักศึกษาเพราะเป็นรางวัลของสมเด็จพระเทพรัตนสุดา สยามบรมราชกุมารี ในแง่ของเงินรางวัลไม่ต้องพูดถึง แต่สิ่งที่อยากให้น้องๆ ได้ผ่านเวทีนี้คือ การไปเข้าตาวงการราชการ
แอพฯราชการส่วนใหญ่จะว่าจ้างบริษัทเอกชนทั้งหลายมาทำงานให้ ราชการเขียนเองไม่เป็นหรอก ดังนั้น EGA ก็เหมือนเป็นเอเย่นต์ให้กับเรา คอยปั้นเราให้โด่งดังขึ้นมาได้นั่นเอง หรือหากเราไม่สนงานราชการ แต่จะบอกว่าข้อมูลของหน่วยงานรัฐนี่แหละขุมทรัพย์เลย แค่รู้ว่าเขาปล่อยอะไรออกมา และเราคิดอะไรเพิ่มเติมใส่ไปได้ โอกาสหาเงิน โอกาสที่จะรุ่งมีสูง ตลาดนี้ถือเป็นตลาดใหม่ เข้าก่อนมีสิทธิ์ก่อน และที่สำคัญเบื้องต้นก็แค่ตัดสินที่แนวคิดยังไม่ต้องทำออกมาจริงยังได้
คราวนี้หากน้องจบแล้ว และอยากเข้าเวที start-up สองรางวัลที่น้องๆ ไม่ควรจะพลาดในการเข้าประกวดก็คือ 1. เลือกเวที start-up ของโอเปอเรเตอร์มือถือ ซึ่งตอนนี้ทั้งสามยักษ์ใหญ่ต่างระดมมือดีเข้าค่ายของตัวเองอยู่ ถามผมว่าถ้าต้องเลือกจะเลือกเข้าเวทีประกวดของค่ายไหนดี ผมตอบว่าแต่ละค่ายมันมีเอกลักษณ์และความดีงามของมันอยู่ อย่างค่ายเอไอเอส แน่นอนเป็นค่ายใหญ่ คนใช้งานเยอะ โอกาสที่จะบิวท์ผลงานของเราให้กับผู้ใช้ได้เยอะตามก็มี แต่สิ่งที่ยังเป็นจุดอ่อนก็คือ กระบวนการการถือหุ้นอาจทำให้ฐานไม่กว้างเท่าไหร่
ส่วนเวทีของค่ายทรู นี่ถ้าได้ก็เตรียมเข้าสังกัด แต่งตัวเป็นศิลปินของค่ายในระยะยาวได้เลย คนที่ชอบความมั่นคง ไม่เน้นเรื่อง exit อยู่ไปได้เรื่อยๆ อันนี้ผมแนะนำ โอกาสที่จะกลืนหรือถูกหลอมไปกลับผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ๆ ของค่าย ทำให้ผลงานเรายิ่งใหญ่ขึ้นก็มีสูง
สำหรับเวทีของค่ายดีแทค รายไหนที่อยากเข้าสู่การเป็น start-up ของแท้ ที่ต้องเล่นกับไอเดียจริงๆ กระโดดเข้าเวทีการใช้เงินทำงาน ต้องวิ่งหากองทุน วางกลยุทธ์เพื่อจะ exit ก็ต้องรายนี้เลย นอกจากจะมีพี่เลี้ยงตัวเป้งๆ ของวงการคอยให้คำปรึกษา ยังมีกองทุนหลากหลายทั้งในและต่างประเทศยืนรอรับไอเดียคุณอยู่
อีกรางวัลที่พวกคุณไม่น่าพลาดคือ รางวัล TICTA ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA กับบรรดาสมาคมไอทีทั้งหลายที่จัดร่วมกันมาหลายปี งานนี้เป็นงานของทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ ที่โดดเด่นของรางวัลนี้คือ ถ้าเข้ารอบจะได้ไปแข่งในระดับเวทีนานาชาติต่อไป ใครผ่านรางวัลนี้ถือว่าเอารางวัลไปการันตีกับลูกค้าได้เลย บริษัทใหม่ๆ ไอเดียดีๆ แจ้งเกิดกับเวทีนี้ได้หลายแห่งเลยทีเดียว
แน่นอนพวกนี้คือรางวัลพื้นฐาน ยังมีเวทีประกวดอีกมากมายที่ไปเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นเวทีในประเทศอย่าง รางวัลเจ้าฟ้าไอที หรือถ้านอกประเทศอย่าง echelon และอื่นๆ พวกนี้ผมแนะนำว่าควรผ่านเวทีที่ผมแนะนำมาก่อน การได้ฝึก การได้มีประสบการณ์ จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นใครจะกระโดดเข้าวงการนี้ ควรผ่านเวทีเหล่านี้แม้จะได้รางวัล แต่เชื่อผมเหอะ คุณจะได้ connection ที่ช่วยให้คุณสำเร็จในวงการนี้ได้ไม่ยากเลย