เราเห็นอะไรบ้างจากเหตุ Diamond Reynolds ใช้ Facebook Live ถ่ายทอดสดแฟนถูกตำรวจยิง
จากเหตุการณ์ที่ผู้หญิงผิวสี Diamond Reynolds ใช้ Facebook Live ถ่ายทอดเหตุการณ์คู่หมั้นของเธอ Philando Castile ถูกตำรวจยิงจนเสียชีวิตบนรถ หลังจากนั้น Facebook ก็ลบคลิปดังกล่าวออก
เหตุการณ์นี้มี 3 ประเด็นใหญ่ที่ควรกล่าวถึง หนึ่งคือ เป็นอีกครั้งที่คนผิวสีถูกตำรวจยิงตาย สอง Facebook กลายเป็นที่พึ่งของคนที่รู้สึกไม่ปลอดภัย และสาม Facebook กลายเป็นด่านเซ็นเซอร์ข้อมูลก่อนออกสู่สังคมไปแล้ว
ไล่เรียงเหตุการณ์กันก่อน
เมื่อวันพุธที่ผ่านมาในเมืองเซนต์ปอล รัฐมินนิโซตา Philando Castile ชายเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิตบนรถ หลังถูกเรียกให้จอดเพราะเห็นไฟหลังรถแตก และคู่หมั้นคือ Diamond Reynolds ผิวสีเช่นกัน หยิบสมาร์ทโฟนถ่ายทอดสดทันที เป็นเวลา 10 นาที
ภาพที่เห็นคือนาย Castile นอนจมกองเลือดที่เบาะนั่ง ตำรวจเข้ามาและยังคงใช้ปืนจ่อที่ร่างเขา ระหว่างนั้น Reynolds บันทึกเหตุการณ์ไปพลาง หันมาพูดกับกล้องไปพลางด้วยสีหน้าตื่นตระหนก ว่า "เขา (Castile) บอกตำรวจว่าเขามีปืน และแค่จะเอื้อมไปหยิบกระเป๋าเงิน และเขาก็ถูกยิงตั้ง 4 นัด และยังมีลูกสาววัย 4 ขวบนั่งอยู่ที่เบาะหลังด้วย"
Castile เสียชีวิตในโรงพยาบาล วิดีโอดังกล่าวเป็นไวรัลทันที มีคนดูเป็นล้านครั้ง หลังจากนั้น Facebook นำคลิปออก (โดยให้เหตุผลว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค) และตามธรรมเนียมโลกออนไลน์ คลิปนั้นถูกนำกลับมาอีกครั้ง โดยมีป้ายข้อความคาด เตือนว่าเนื้อหามีความรุนแรง
ประเด็นคนผิวสี
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนผิวสีถูกตำรวจยิงจนเสียชีวิต เพราะก่อนหน้านี้สองวันก็มีเหตุการณ์ตำรวจรัฐลุยเซียนายิงชายผิวสีที่ถูกจับ กดอยู่จนเสียชีวิต และ 2 ปีก่อนเกิดเหตุใหญ่โตเมื่อ Michael Brown ชายผิวสีถูกตำรวจยิงเสียชีวิต สหรัฐฯที่เป็นดินแดนแห่งความหลากหลาย ตกอยู่ในจุดที่น่าสงสัยว่ายังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่ หลังเกิดเหตุการณ์ยิง Castile ก็เกิดการรวมตัวประท้วงหน้าบ้านผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา
Facebook กลายเป็นที่พึ่งแทนตำรวจ 911
เมื่อคนรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้ใจตำรวจ โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นทางออกเดียวของพวกเขา Reynolds ให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า เธอต้องการให้สิ่งนี้เป็นไวรัล ต้องการให้คนทั่วโลกเห็นว่าตำรวจทำอะไรกับเรา เพราะในระหว่างที่คุณกำลังถูกตำรวจคุกคาม คุณจะขอความช่วยเหลือจากใคร ตำรวจงั้นหรือ
แม้จะมีแอพถ่ายทอดสดเยอะ แต่ในสังคม Facebook ที่มีคนเป็นพันล้านคน คนๆ หนึ่งมีเพื่อน มีครอบครัว เป็น friend list เป็นร้อยเป็นพันคน Facebook จึงเป็นโอกาสที่ดีกว่าสำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว
Facebook กลายเป็นหน่วยเซ็นเซอร์เนื้อหา
ช่วงที่ผ่านมา Facebook นำคอนเทนต์ที่สร้างขัดแย้งออกไปจากระบบหลายครั้ง เช่น กรุ๊ปสนับสนุน Bernie Sanders ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกบล็อคชั่วคราวโดย Facebook และกรุ๊ปสนับสนุนประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ Rodrigo Duterte ที่มีสมาชิกในนั้นกว่า 3 ล้านคน ก็เคยโดนด้วย
ทั้งหมดนี้ Facebook ให้เหตุผลว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค
คนส่วนใหญ่รับข่าวสารผ่าน Facebook เป็นหลัก จากสถิติแล้ว 2 ใน 3 ของคนอเมริกัน ใช้ Facebook เป็นสถานที่อ่านข่าวใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น
Facebook กลายเป็นคนกลาง มอบข่าวที่ทุกคนอยากรู้ให้ผู้ใช้ จึงเป็นเรื่องน่าวิตกถ้า Facebook สามารถนำคอนเทนต์ใดออกไปก็ได้ โดยใช้เหตุผลว่า "ผิดพลาดทางเทคนิค" (ไม่นับเนื้อหาที่รุนแรงอย่างการสังหารเหยื่อโดยกลุ่มก่อการร้าย หรือภาพสยดสยอง)
คำถามคือเมื่อชีวิตคนส่วนใหญ่พึ่งพา Facebook มากขึ้น ไม่เพียงเป็นแหล่งข่าวสาร แต่เป็นแหล่งที่สามารถช่วยให้รอดพ้นจากอันตราย ตกลงแล้วเส้นแบ่งในการเซ็นเซอร์ของ Facebook อยู่ตรงไหนกันแน่
ภาพจาก Pew Research Center
เมื่อไม่กี่ชั่วโมงนี้เอง Mark Zuckerberg โพสต์ข้อความถึงเหตุการณ์นี้ว่า เขารู้สึกสะเทือนใจมาก คลิปดังกล่าวทำให้เห็นว่าสมาชิก Facebook คนอื่นต้องอยู่ในสังคมแบบไหน ต้องหวาดกลัวอะไร ตอกย้ำความสำคัญของการเชื่อมต่อกันให้มากขึ้น และอีกไกลแค่ไหนกว่าจะไปถึงจุดนั้น
ที่มา - CNN, Motherboard, Inc.