หาก iPhone ถูกผลิตและประกอบในสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นจนจบตามนโยบาย "ทรัมป์" จะเป็นอย่างไร?
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้วซึ่งถือเป็นเวลาอันสำคัญของชาวสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ และท้ายที่สุด Donald Trump ก็เป็นผู้ที่กำชัยชนะและได้เข้าสู่ทำเนียบขาวเป็นคนถัดไป แต่ทราบหรือไม่ว่าครั้งหนึ่ง Donald Trump เคยประกาศว่าหากตัวเขาได้เป็นประธานาธิบดีขึ้นมาจริงๆ จะสั่งให้ Apple เริ่มผลิตคอมพิวเตอร์รวมไปถึง iPhone ภายในสหรัฐฯ ที่เดียวเท่านั้นไม่ใช่ผลิตภายในประเทศจีนเหมือนกับที่กำลังทำอยู่
ข้อสงสัยต่อ Apple เกี่ยวกับการผลิตสินค้าในจีนไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะสมัยที่ Barack Obama ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เคยได้สอบถามไปยัง Steve Jobs เช่นเดียวกันว่าเพราะเหตุใด Apple จึงไม่ผลิตโทรศัพท์ภายในประเทศบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งคำตอบในเรื่องนี้อาจจะเป็นเพราะ Apple ไม่ได้จ้างเหล่าผู้ผลิตในแดนมังกรเพราะมีค่าใช้จ่ายด้านแรงงานถูกกว่าเท่านั้น แต่ภายในประเทศจีนยังคงมีแรงงานฝีมือดีกระจุกตัวอยู่ อีกทั้งแอปเปิลยังเชื่อว่าโรงงานที่ให้ทางเลือกและความหลากหลายในการผลิต (Flexible Factories) รวมถึงเหล่าซัพพลายเออร์ที่เป็นผู้ส่งต่อชิ้นส่วนต่างๆ มีความสามารถปรับปรุงซ่อมแซมได้รวดเร็วกว่าคนอเมริกันเสียอีก
อย่างไรก็ดี เราพักความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง iPhone และประเทศจีนออกไปก่อน เพราะในขณะนี้ Donald Trump ก้าวสู่การเป็นประธานาธิบดีคนใหม่แห่งสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งนโยบายการผลิตสินค้าของ Apple ให้จำกัดวงอยู่ภายในประเทศเท่านั้นคงมีสิทธิถูกเนรมิตให้เกิดขึ้นจริง ลองจินตนาการกันเล่นๆ ดูสิว่า หากแอปเปิลสนองนโยบายด้วยการผลิต iPhone ที่บ้านเกิดตัวเองเหมือนกับที่ผลิตคอมพิวเตอร์ตระกูล Mac ระดับไฮเอนด์บางรุ่นในปัจจุบันนี้จะเป็นอย่างไร? หากยังนึกภาพไม่ออก เราลองไปดูสถานการณ์จำลองความเป็นไปได้ในแต่ละรูปแบบกันดูครับ
1. สั่งซื้อชิ้นส่วนจากทั่วโลก แต่เอามาประกอบที่สหรัฐฯ
ทุกวันนี้แอปเปิลมีพาร์ทเนอร์โรงงานสำหรับประกอบ iPhone เป็นจำนวนทั้งหมด 7 แห่งด้วยกัน โดยโรงงานจำนวน 6 ที่ ตั้งอยู่ในประเทศจีน ส่วนอีกหนึ่งที่ตั้งอยู่ในประเทศบราซิล แต่หากไอโฟนถูกประกอบภายในสหรัฐฯ และแอปเปิลยังคงสั่งซื้อชิ้นส่วนสำหรับประกอบจากทั่วทุกมุมโลก ราคาค่าตัวของไอโฟนจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน?
เรื่องนี้เราอาจต้องกลับไปดูถึงราคาชิ้นส่วนแต่ละอย่างที่ IHS บริษัทด้านการวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลกได้เคยประเมินชิ้นส่วนของ iPhone 6s Plus เรือธงปีที่แล้ว ที่วางจำหน่ายด้วยราคา 749 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 26,500 บาท (รุ่น 32GB) แต่จริงๆ แล้วค่าชิ้นส่วนรวมทั้งหมดตกอยู่ที่ประมาณ 230 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8 พันกว่าบาทเท่านั้น สำหรับในส่วนของ iPhone SE มือถือรุ่นเล็กที่วางจำหน่ายในราคา 399 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็มีราคาส่วนประกอบรวมที่ 156 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5,500 บาทเท่านั้นเอง นอกจากนี้ค่าประกอบชิ้นส่วนเหล่านั้นให้ออกมาเป็นรูปร่างของไอโฟนเครื่องหนึ่งอยู่ที่ราว 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 140 บาท
อย่างไรก็ดี ราคาข้างต้นค่อนข้างจะแตกต่างกับ Jason Dedrick อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Syracuse ที่ประเมินค่าประกอบเอาไว้อยู่ที่ประมาณ 354 บาท แต่จุดที่น่าสนใจอยู่ที่ อาจารย์ท่านนี้ระบุเอาไว้ว่าหากไอโฟนถูกประกอบในสหรัฐฯ ต้องบวกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเข้าไปอีกประมาณ 30 - 40 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,000 - 1,400 บาทเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาดีดตัวสูงขึ้นเนื่องมาจากค่าแรงงานของสหรัฐฯ มีอัตราที่สูงกว่า แต่ปัจจัยหลักเลยก็คือค่าใช้จ่ายสำหรับการขนส่งเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นขณะขนส่งชิ้นส่วนต่างๆ เข้ามาในประเทศ ซึ่งหากตีราคาชิ้นส่วนตามที่ IHS ระบุมาและเพิ่มค่าใช้จ่ายขนส่งเพิ่มเติมเข้าไป ราคาค่าตัวของ iPhone 6s Plus อาจพุ่งสูงกว่าเดิมประมาณ 5% หรือพูดง่ายๆ ก็คือ iPhone 6s Plus รุ่นความจุ 32GB ที่มีราคาประมาณ 26,500 บาท ก็จะขยับเพดานราคาไปตั้งหลักที่ 27,800 บาทแทน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับรุ่นความจุที่มากขึ้น
ซัพพลายเออร์ของ Apple ที่กระจายตัวอยู่ทุกมุมโลกกว่า 28 แห่ง
แต่ถ้า Apple เกิดทำขึ้นมาจริงๆ แล้วสหรัฐฯ จะได้อะไรล่ะ? แอปเปิลเคยเปิดเผยเอาไว้ว่าซัพพลายเออร์ของบริษัทมีการจ้างคนงานรวมกว่า 1.6 ล้านคน แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการประกอบไอโฟนขั้นสุดท้าย จำนวนพนักงานที่ต้องใช้กลับลดน้อยลงมากกว่านั้น ดังนั้น แม้ว่าแอปเปิลอาจโน้มน้าวให้ Foxconn หรือซัพพลายเออร์รายอื่นให้เข้ามาประกอบ iPhone ในสหรัฐฯ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อกำไรมากนักก็ตาม สิ่งเหล่านั้นอาจจะยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงดั่งที่ Trump ตีโจทย์เอาไว้เท่าไหร่นัก เพราะ Trump เองคงต้องการให้ผลิตเองตั้งแต่ต้นจนจบเลยมากกว่า
2. ไม่ซื้อส่วนประกอบจากทั่วโลก แต่ผลิตขึ้นมาเองเลยในสหรัฐฯ
รู้หรือไม่ว่า ซัพพลายเออร์ของแอปเปิลจำนวนเกือบครึ่งจากทั้งหมด 766 ราย (นับรวมบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนสำหรับ iPhone, iPads และ Mac) ตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศจีนและญี่ปุ่นเป็นจำนวนทั้งหมด 126 ราย ส่วนในสหรัฐฯ มีอยู่ประมาณ 69 ราย และไต้หวันมี 41 ราย แต่จำนวนพวกนี้เกี่ยวกันอย่างไร? เราลองไปดูชิ้นส่วนเบื้องต้นที่ใช้สำหรับประกอบไอโฟนกันก่อน โดยหน้าจอแสดงผลของไอโฟนถูกครอบทับด้วยกระจกกันรอย Gorilla Glass จากบริษัท Corning มีโรงงานตั้งอยู่ ณ รัฐเคนทักกี (สหรัฐฯ), เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และไต้หวัน ด้านชิปต่างๆ ที่ถูกติดตั้งไว้ภายในไอโฟนคือหนึ่งในส่วนประกอบที่แพงที่สุด ซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 700 บาท ตามการประเมินราคาของ iPhone SE ส่วนอีกหนึ่งส่วนประกอบที่มีราคาแพงไม่แพ้กันคือชิปเซ็ตประมวลผลที่ Apple เป็นผู้ออกแบบพัฒนาเอง และส่งต่อให้บริษัท outsource อย่าง Samsung และ TSMC จากไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนจริงๆ
แต่ชิ้นที่ระบุมาข้างต้นทั้งหมดทั้งมวลส่วนมากถูกผลิตขึ้นภายใต้สัญญา ทำให้เราอาจไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่า จริงๆ แล้วชิ้นส่วนเหล่านี้ทำการผลิตที่ประเทศไหน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท GlobalFoundries หนึ่งในผู้ผลิตภายใต้สัญญาคนสำคัญที่ทำการผลิต microship ให้แก่บริษัทอย่าง Qualcomm ต่างก็มีสาขาอยู่ในเยอรมนี, สิงคโปร์, นิวยอร์ก และ Vermont ซึ่งสุดท้ายแล้วแม้ชิ้นส่วนจะถูกผลิตออกมาจากบริษัทแห่งเดียวกัน แต่สถานที่ที่ทำการผลิตนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่อาจทราบได้แน่ชัดเท่าไหร่
นอกจากนี้ Duane Boing วิศวกรไฟฟ้าแห่ง MIT ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิต semiconductor (สารกึ่งตัวนำ) ก็ได้เปิดเผยออกมาเช่นกันว่า ราคาจะมีความแตกต่างกันจริงในแต่ละประเทศในเรื่องของการกระบวนการผลิตชิปต่างๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานนั้นยังคงเป็นตัวแปรเล็กๆ เมื่อเทียบกับอุปกรณ์และโรงงานที่มีค่าใช้จ่ายมหาศาลเป็นจำนวนหลักพันล้านสำหรับการผลิตชิป นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยด้วยว่า ชิป semiconductor จะเกิดการตกรุ่นภายในระยะเวลาไม่กี่ปีหลังจากผลิตออกมา ซึ่งหมายความว่าเมื่อชิป semiconductor มีรุ่นใหม่ๆ ออกมาเป็นประจำ ก็เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างโรงงานสำหรับผลิตชิปดังกล่าวที่ไหนก็ได้ภายในโลกรวมไปถึงสหรัฐฯ อีกทั้ง เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิปเหล่านี้จริงๆ แล้วก็ถูกสร้างขึ้นมาในสหรัฐฯ ซะส่วนใหญ่
ราคาค่าตัวของ iPhone หากผลิตส่วนประกอบเองภายในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 800 - 849 ดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี Dedrick คาดการณ์ว่ากระบวนการผลิตส่วนประกอบในสหรัฐฯ อาจมีค่าใช้จ่ายต่อไอโฟนหนึ่งเครื่องเพิ่มขึ้นอีกราว 30 - 40 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,000 - 1,400 บาท) โดยในเบื้องต้นอาจส่งผลดีต่อโรงงานในสหรัฐฯ ในการเกิดการแข่งขันที่น้อยลงสำหรับชิ้นส่วนเหล่านี้ และส่งผลต่อการผลิตที่มีจำนวนน้อยลงด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกต่างกับภายในทวีปเอชียที่มีอัตราความต้องการสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าแอปเปิลตกอยู่ในสถานการณ์นี้จริงอาจทำให้ค่าตัวของ iPhone พุ่งสูงกว่าเดิมประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,500 บาทเลยทีเดียว หากวัตถุดิบเพื่อใช้สำหรับการผลิตส่วนประกอบต่างๆ นั้นต้องถูกซื้อมาจากตลาดโลก ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็อาจเรียกไม่ได้เต็มปากว่าสหรัฐฯ ผลิตเองตั้งแต่ต้นจนจบซักทีเดียว
3. ผลิตไอโฟนจากธาตุที่หาได้ภายในสหรัฐฯ ทั้งหมด ไม่ต้องพึ่งประเทศอื่น
อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่เกินความคาดหมายของนโยบายดังกล่าวไปซักนิดหน่อย เพราะหาก Apple ผลิตไอโฟนด้วยธาตุหรือวัตถุดิบที่มีอยู่ในสหรัฐฯ แบบแท้ๆ ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ ไม่ต้องเข้าถึงกลุ่มประเทศอื่นเพื่อนำเข้าชิ้นส่วนอันสำคัญ แค่นี้ก็หมดปัญหาแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ เรื่องนี้อาจจะเป็นไปได้ยากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะธาตุบางอย่าง เช่น อะลูมิเนียมที่ได้มาจากแร่บ็อกไซต์ (bauxite) นั้น ในสหรัฐฯ ยังไม่มีเหมืองแร่ดังกล่าวแบบรายใหญ่เลย โดยธาตุหายากเหล่านี้เราเรียกมันว่า rare earth (จริงๆ แล้วไม่ได้หายากแบบ rare ขนาดนั้น แต่ก็ยังยากต่อการขุดออกมาอยู่ดี) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้มาจากประเทศจีนที่มีกำลังการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนทั้งหมด 85% ของโลก อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ อาจหาแร่ธาตุชนิดดังกล่าวได้เองภายในประเทศ แต่ไอโฟนยังคงต้องการวัตถุดิบจากธาตุกว่า 75 ชนิดตามตารางข้างต้นเพื่อนำมาผลิตไอโฟนซักหนึ่งเครื่อง และธาตุส่วนใหญ่ก็ยังคงหาไม่ได้ในสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน
โดย Neodymium ใช้สำหรับทำมอเตอร์เพื่อทำให้โทรศัพท์สั่นได้ รวมไปถึงการนำไปใช้งานเพื่อทำไมโครโฟนและลำโพง ขณะที่ Lanthanum หนึ่งในธาตุ rare earth เช่นเดียวกันก็ถูกนำไปใช้เพื่อผลิตเลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพ ส่วน Hafnium ธาตุประเภทโลหะชนิดหนึ่งที่อาจไม่ใช่ rare earth แต่ก็ถือว่าหายากไม่แพ้แร่อื่นๆ ก็ถูกนำมาใช้สำหรับวงจรทรานซิสเตอร์ของไอโฟน ซึ่งหาก Apple ไม่มีทางเลือกและต้องเข้าสู่สถานการณ์นี้จริง คงเป็นเรื่องที่เหนื่อยกว่าการพัฒนาไอโฟนซักเครื่องแน่ นอกจากนี้ยังเคยมีความคิดเห็นจาก David Abraham ที่เคยกล่าวเอาไว้ด้วยใจความว่า ไม่มีสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีชิ้นใดที่จะสามารถผลิตได้ภายในหนึ่งประเทศ ซึ่งข้อจำกัดในครั้งนี้อาจเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นักหาก Trump ต้องการให้แอปเปิลผลิตในสหรัฐฯ เพียงที่เดียว เพราะท้ายที่สุดแล้ววัตถุดิบหลายชนิดยังคงต้องนำเข้าจากประเทศอื่นอยู่ดี
สุดท้ายแล้ว แม้ว่าเราอาจจะยังไม่ทราบถึงอนาคตของ Apple กับ iPhone ว่าจะต้องเข้าสู่สถานการณ์ใดจากทั้งหมด 3 อย่างนี้ หรืออาจจะมีแนวทางอื่นเพื่อตอบสนองนโยบาย Donald Trump ให้เกิดขึ้นได้จริงๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เรากำลังจะได้เห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของ iPhone ในเร็วๆ นี้นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ iPhone 8 ซึ่งอาจจะเป็นรากฐานชิ้นสำคัญของการก้าวสู่นวัตกรรมใหม่ๆ จากบริษัท Apple รายเดิมที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็เป็นได้