10 เหตุการณ์เด่น วงการไอทีโลก ประจำปี 2016
วิวัฒนาการของเทคโนโลยียังก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันจนอาจกล่าวได้ว่ามันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ไปแล้ว ตลอดปี 2016 เป็นอีกปีที่มีหลายเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงและอยู่ในกระแสความสนใจของผู้คนทั่วโลก บทสรุปของเหตุการณ์ในวงการไอทีโลกประจำปี 2016 จะมีอะไรบ้าง ติดตามไปพร้อมกับ aripfan ครับ
1. พลัง “ข่าวลวง” บน Facebook มีผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
จากกรณีชัยชนะของ “โดนัลด์ ทรัมป์” เหนือฮิลลารี คลินตัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ Facebook กลายเป็นเป้าโจมตีของหลายฝักหลายฝ่ายที่เชื่อว่าบน News Feed มีการแสดง “ข่าวลวง” ของการเลือกตั้ง ประเด็นดังกล่าวถูกชี้แจงโดย Mark Zuckerberg ซีอีโอ Facebook ที่ออกมายอมรับเองว่ามีการปล่อยข่าวลวงจริง แต่แค่เศษเสี้ยวหนึ่งของผู้ใช้กว่าพันล้านคนเท่านั้น แม้การเลือกตั้งจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ Facebook ยังคงถูกกดดันจากหลายฝ่ายในการหามาตรการหรือเครื่องมือในการกรองข้อมูลหรือกำจัดข่าวลวงอย่างจริงจัง
ไม่เพียงแค่ Facebook เท่านั้น ในรายของ Google และ Twitter ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ถูกเรียกร้องให้ออกมาตรการกำจัดข่าวลวงเช่นกัน โดยเมื่อไม่นานนี้ Google และ Facebook ได้เริ่มทำการปิดกั้นโฆษณาจากเว็บไซต์ที่มีแนวโน้มเผยแพร่ข้อมูลที่มีการบิดเบือนความจริง เป็นการแสดงให้เห็นว่าทั้งสองบริษัทมีความตั้งใจที่จะต่อสู้กับปัญหาข่าวลวงบนโลกออนไลน์อย่างจริงจัง
2. “Mirai botnet” ทะลวงเทคโนโลยี “IoT”
อุตสาหกรรม Internet of Things หรือ IoT ถือเป็นเทคโนโลยีที่ถูกคาดหวังว่าจะกลายเป็นอนาคตที่สำคัญของโลก แต่เทคโนโลยีชนิดนี้ยังมีช่องโหว่ที่ส่งผลต่อความปลอดภัย ซึ่งมีรายงานการโจมตี IoT ครั้งใหญ่เมื่อช่วงปลายปี ยกตัวอย่าง บริษัท OVH ผู้ให้บริการ web hosting ในฝรั่งเศส ถูกโจมตีด้วยวิธี DDoS ผ่านอุปกรณ์ประเภท IoT ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ได้แก่ กล้องวงจรปิด จำนวนกว่า 150,000 เครื่อง โดยมีทราฟฟิกที่เข้ามาโจมตีมากถึง 1.1 Tbps ซึ่งภายหลังการตรวจสอบพบการเข้าโจมตีโดยมัลแวร์ที่เรียกว่า “Mirai botnet” อาศัยการโจมตีไปที่อุปกรณ์ IoT ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Linux เนื่องจาก IoT เป็นเทคโนโลยีที่ถูกโจมจีได้ง่ายและสร้างผลกระทบได้รุนแรง
3. Qualcomm เข้าซื้อกิจการ NXP มูลค่า 38,000 ล้านบาท
เป็นดีลใหญ่ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยการตัดสินใจของ Qualcoom ผู้ผลิตชิปสำหรับสมาร์ทโฟน เข้าซื้อกิจการ NXP ผู้ผลิตชิปประมวลผล มีผลจากการคาดการณ์ตลาดสมาร์ทโฟนในอนาคตอันใกล้นี้ที่มีแนวโน้มชะลอตัวและหดตัวลงเรื่อยๆ ดังนั้นการทุ่มเงินเป็นสถิติครั้งนี้ถึง 38,000 ล้านบาท จะช่วยให้ Qualcomm สามารถขยายอุตสาหกรรมไปยังอุปกรณ์ประเภท IoT และอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับได้ด้วย
4. Intel ปลดพนักงาน 12,000 คน เซ่นอุตสาหกรรม PC ซบเซา
อย่างที่หลายคนคงทราบดีว่าอุตสาหกรรม PC อยู่ในสถานการณ์ที่ซบเซา ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อบริษัทไอทีผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่ง Intel ผู้ผลิตชิปประมวลผลรายใหญ่ของโลกก็ได้รับผลกระทบของสภาวะตลาด PC ซบเซาเช่นกัน โดยเมื่อต้นปี 2016 ทาง Intel ประกาศปลดพนักงานถึง 12,000 คน คิดเป็น 11% ของพนักงานทั้งหมด พร้อมขยายตลาดเข้าสู่อุตสาหกรรม Cloud และ IoT รวมไปถึง Data Center ที่มีแนวโน้มเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต
5. HoloLens เริ่มเข้าสู่ตลาด อนาคตของ VR ที่อยู่ตรงหน้า
การเปิดตัวแว่นตา HoloLens ฉบับ Development Edition เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม และออกวางจำหน่ายไปแล้วเมื่อช่วงปลายปี เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม Virtual Reality และ Augmented Reality แม้ HoloLens จะอยู่ในช่วงให้นักพัฒนาทั่วไปได้เริ่มหาซื้อไปใช้งานและหาข้อบกพร่อง แต่แผนการดังกล่าวจะนำมาซึ่งการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ Windows Holographic รวมไปถึงสามารถเชื่อมต่อกับ PC ได้ง่ายยิ่งขึ้น
6. แฮกเกอร์ปฏิบัติการ “เจาะข้อมูล” พรรคเดโมแครตสหรัฐฯ
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีรายงานว่ามีแฮกเกอร์กลุ่มหนึ่งได้เจาะระบบล้วงข้อมูลเข้าไปยังพรรคเดโมแครตสหรัฐฯ ซึ่งมีฮิลลารี คลินตัน เป็นตัวแทนของพรรคในการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น โดยเป็นการล้วงข้อมูลอีเมล์กว่า 20,000 ฉบับ พร้อมส่งต่อให้กับเว็บไซต์ WikiLeaks เพื่อเปิดโปงให้โลกรู้ว่าพรรคเดโมแครตมีความพยายามในการขัดขวางนายเบอร์นี แซนเดอรส์ คู่แข่งของฮิลลารี คลินตัน ในการชิงเป็นตัวแทนพรรค ด้วยการเปิดโปงดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ของพรรคตัดสินใจลาออกไปหลายราย ซึ่งการเปิดโปงครั้งนี้มีการอ้างว่ารัสเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนแฮกเกอร์กลุ่มนี้ ก่อนที่โฆษกของรัสเซียจะออกมาปฏิเสธต่อเรื่องที่เกิดขึ้น
7. Samsung Galaxy Note 7 มหากาพย์ “ลุกเป็นไฟ”
เปิดตัวไปเมื่อเดือนสิงหาคม สำหรับ Samsung Galaxy Note 7 ภายใต้การออกแบบและเทคโนโลยีอันทันสมัย ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเป็นแฟ็บเล็ตขีดเขียนได้ที่ขายดีที่สุดรุ่นหนึ่งของ Samsung แต่ทว่าฝันที่สวยงามกลับต้องล่มลง เนื่องจากมีผู้ใช้จำนวนมากพบปัญหาตัวเครื่องร้อน จนเกิดการลุกไหม้ ซึ่งครั้งแรกของการเกิดปัญหาทาง Samsung ยินดีให้ผู้ที่ซื้อไปแล้วกลับมาเปลี่ยนเครื่องใหม่ที่ระบุว่าได้รับการปรับปรุงเรื่องแบตเตอรี่ต้นเหตุของปัญหาเรียบร้อยแล้ว แต่เหตุการณ์กลับเกิดซ้ำรอยอีกระลอก เนื่องจากมีผู้ใช้บางรายที่เพิ่งนำ Note 7 เครื่องล็อตแรกไปเปลี่ยนไปเครื่องล็อตใหม่กลับยังพบปัญหาความร้อนสูงและเกิดการลุกไหม้ขึ้น จนในที่สุด Samsung ตัดสินใจประกาศเรียกคืน Note 7 ทั่วโลกทั้งหมด ก่อนจะประกาศหยุดจำหน่ายทั่วโลกอย่างเป็นทางการ พร้อมเรียกร้องผู้ใช้ที่ครอบครอง Note 7 ให้รีบนำกลับมาคืนอย่างเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัย
8. เมื่อ “AI” เอาชนะ “มนุษย์”
ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการแข่งขันนัดหยุดโลกระหว่างปัญญาประดิษฐ์ AlphaGo จาก Google Deepmind และแชมป์โกะโลก Lee Sedol ผลปรากฏว่า AlphaGo ก็สามารถโค่นแชมป์ได้สำเร็จแล้ว แถมเป็นการชนะแบบขาดลอยถึง 3 นัดรวดเลยทีเดียว หลังจากนั้นมีคำถามมากมายและความกังวลว่า หากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้รับการพัฒนามากขึ้น สามารถคิดและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความซับซ้อนได้ ในอนาคต AI จะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์ รวมไปถึงจะเป็นภัยต่อมนุษย์หรือไม่
9. Apple ตัด headphone jack ทิ้ง… “กล้าหาญ” หรือ “หมดมุก” ?
การเปิดตัว iPhone สองรุ่นใหม่ปีนี้ รุ่นที่น่าจะเรียกเรตติ้งให้กับ Apple มากที่สุดคงต้องยกให้ iPhone 7 Plus ด้วยลักษณะเด่นของกล้องคู่ สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนมากกว่า iPhone 7 แต่สิ่งที่ถูกคาดการณ์ก่อนจะเปิดตัวและก็เกิดขึ้นจริง นั่นคือ การตัด “headphone jack” ทิ้ง พร้อมคำอธิบายจาก Phil Schiller ที่บอกว่ามันคือ “ความกล้าหาญ” ในการเปลี่ยนผ่านจากสิ่งที่ใช้กันมาเนิ่นนานสู่สิ่งใหม่ แน่นอนว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้มีเสียงวิพากย์วิจารณ์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ แต่สิ่งหนึ่งที่ Apple แสดงให้เห็นในการเปิดตัว iPhone ปีนี้ คือ การให้ความสำคัญต่อวิสัยทัศน์ของตัวเองมากขึ้น แทนที่จะเดินตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งไม่รู้ว่าวันครบรอบ 10 ปีของ iPhone ในปี 2017 จะมีสิ่งใหม่ใดผุดขึ้นมาเรียกความ “ว้าว” ให้กับผู้คนทั้งโลกได้อีกครั้งหรือเปล่า
10. Apple VS FBI ศึก ! เรื่องความเป็นส่วนตัว
ต้นปี 2016 เกิดประเด็นข้อขัดแย้งระหว่าง Apple กับ FBI อันเนื่องมาจากFBI ยื่นคำร้องถึง Apple ให้เขียนซอฟต์แวร์ใหม่เฉพาะใช้ในการปลดล็อค iPhone 5c หลักฐานที่อ้างว่าเป็นของผู้ก่อเหตุกราดยิงที่ San Bernardino ในเขตรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2015 จนมีผู้เสียชีวิตถึง 14 ราย แต่ความต้องการดังกล่าวมีความขัดแย้งต่อนโยบายหลักของ Apple
โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ที่อาจส่งผลต่อผู้ใช้ iPhone ทั่วโลกในปัจจุบัน และอาจลุกลามเป็นปัญหาไปถึงในอนาคตข้างหน้าด้วย แม้จะเป็นเรื่องเป็นราวกันอยู่พักใหญ่ สุดท้าย FBI ก็ประสบความสำเร็จในการปลดล็อค iPhone 5c อุปกรณ์สื่อสารของผู้ต้องหา แต่ไม่เปิดเผยว่าเกิดจากความช่วยเหลือของฝ่ายใด