DEPA หนุนผู้ประกอบการด้านไอซีทีเข้าถึงแหล่งเงินทุน

DEPA หนุนผู้ประกอบการด้านไอซีทีเข้าถึงแหล่งเงินทุน

DEPA หนุนผู้ประกอบการด้านไอซีทีเข้าถึงแหล่งเงินทุน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนผู้ประกอบการไอซีทีเข้าถึงแหล่งเงินทุนค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี ตั้งเป้าสนับสนุนผู้ประกอบการ 600 รายภายในปี 2560

ชัยณรงค์ ฉัตรรัตนวารี ผู้จัดการฝ่ายมาตรการสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านไอซีทีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้น เป็นหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์ของดีป้า ภายใต้แนวทางการผลักดันผู้ประกอบการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยมาตรการส่งเสริมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย


1.สิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการผลักดันผู้ประกอบการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทาง BOI ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้สิทธิ์นี้จะได้ประโยชน์หลายด้าน อาทิ เมื่อประกอบธุรกิจได้กำไร ยังไม่ต้องเสียภาษีประจำปี ผู้ประกอบการจึงมีเงินสดอยู่ในมือ ทำให้มีสภาพคล่องที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้

2.เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยทางดีป้าจะมีทีมคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจดแจ้งลิขสิทธิ์เพื่อป้องกันการถูกละเมิด ซึ่งถ้าดำเนินการผ่านดีป้าจะใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ จากระยะเวลาปกติที่ใช้เวลา 1-2 เดือน และจะมีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ แก่ผู้ประกอบการที่เรียกว่าศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ

3.การสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นประเด็นความคืบหน้าครั้งล่าสุดภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ดีป้าและสถาบันการเงินพันธมิตร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย และเอสเอ็มอีแบงก์

โดยล่าสุดทางธนาคารกสิกรไทยได้ออกผลิตภัณฑ์สนับสนุน อาทิ เรื่องการโอนสิทธิ์การรับเงิน สัญญาให้ทุน สัญญาร่วมทุน สัญญาจ้าง คือถ้าผู้ประกอบการหรือผู้รับจ้างขาดสภาพคล่องทางการเงินก็สามารถนำสัญญาไปกู้เงินกับธนาคารกสิกรไทยได้ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็จะพิจารณาเป็นลูกค้าของธนาคาร โดยใช้สัญญากับดีป้าเป็นตัวค้ำประกันโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์อย่างอื่น รวมทั้งยังมีผลิตภัณฑ์เรื่องการกู้เงินแบบ Clean Loan โดยผู้ประกอบการไม่ต้องมีหลักประกัน ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ซึ่งปกติอัตราดอกเบี้ยการกู้เงินประเภทนี้จะคิดในอัตราค่อนข้างสูง แต่โดยความร่วมมือกันครั้งนี้ ทางดีป้าได้ส่วนลดในอัตราต่ำลงมา

รวมทั้งปัจจุบัน ทางดีป้ายังได้รับความอนุเคราะห์จากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีการอนุมัติโครงการค้ำประกันผู้ประกอบการที่เรียกว่า Startup Innovation วงเงิน 10,000 ล้านบาท มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก โดยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์หรือผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ ทั้งที่เป็นผู้จำหน่ายสินค้าและผู้ให้บริการ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ใช้ซอฟต์แวร์สามารถสมัครเข้าโครงการนี้ได้ ด้วยการแสดงตัวตน มีผลิตภัณฑ์ มีลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 1 ราย ในระยะเวลา 2 ปี และเป็นบริษัทคนไทย มีคนไทยถือหุ้นเกิน 51% โดยในปี 2559 ดีป้าคาดว่าจะมีผู้ประกอบการด้านไอซีทีเข้ามาจดทะเบียนประมาณ 200 ราย และตั้งเป้าในปี 2560 จะมีผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนประมาณ 400 ราย รวม 2 ปีจะมีผู้ประกอบการไอซีทีเข้ามาจดทะเบียนประมาณ 600 ราย

ชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และกระบวนการธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับความกังวลกรณีจะทำให้เกิดหนี้เสียนั้น ซึ่งก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การปล่อยสินเชื่อ ทางธนาคารกสิกรไทยมีการคัดและตรวจสอบขั้นตอนเป็นปกติอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการเวิเคราะห์เครดิต ตรวจสอบเครดิตบูโร โดยเฉพาะการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีหลายระดับ อาทิ ถ้าผู้ประกอบการรายใดมีสภาพคล่องทางการเงินก็สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์เป็นของตัวเองได้ทันที ทั้งนี้ในการพิจารณาจะต้องสมเหตุสมผลและทำงานร่วมกับดีป้าอย่างใกล้ชิด

“โจทย์ใหญ่ของการสนับสนุนผู้ประกอบการไอซีทีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกิดการขยายตัว ซึ่งการสนับสนุนในปีแรก ๆ อาจจะได้ผลไม่มาก แต่เมื่อผ่านไปปีที่ 2 ปีที่ 3 เชื่อว่าโครงการก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและรัฐบาลให้การสนับสนุนอนุมัติงบประมาณให้ทุกปี ซึ่งก็จะสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 1,000 รายได้” ชัยณรงค์กล่าวทิ้งท้าย

ติดต่อ ฝ่ายมาตรการส่งเสริม สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ที่ โทร. 02-141-7101 และ 02-141-7199 

 

[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook