[Special] ขั้นตอนการเช็คโน้ตบุ๊ค เบื้องต้นก่อนออกจากห้างร้านคอมพิวเตอร์ไอที หรืองาน Commart
สำหรับใครหลายคนอาจที่เคยซื้อเครื่องโน้ตบุ๊คตามร้านหรืองานต่างๆ อย่าง Commart แล้วสงสัยว่า โน้ตบุ๊คที่เราซื้อมาเนี่ยได้ตรงกับรุ่นที่เราซื้อหรือเปล่า บางครั้งพนักงานก็จะเตือนลูกค้าให้เช็คเครื่องก่อนซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ในบางครั้งพนักงานอาจจะลืม ไม่ได้เตือนเราให้เช็คเครื่องเลย ทำให้เกิดปัญหาหลายๆ ครั้งตามมาเช่น เครื่องเป็นรอยจน ของแถมไม่ครบ หรือเอามาให้ผิดรุ่น
ซึ่งถ้าเป็นมือเก๋าหน่อยซื้อเครื่องมาหลายเครื่องละ คงจะไม่ประสบปัญหาแบบนี้เท่าไร แต่ถ้ามือใหม่ๆ ละ เราจะมีวิธีเช็คยังไงว่าเครื่องที่เราได้มามีความถูกต้องและสภาพสมบูรณ์ที่สุด มาดูในบทความกันเลยครับ ขั้นแรกเริ่มจาก
1. เช็คกล่องหรือแพ็คเกจให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์
กล่องนั้นก็มีความสำคัญกับตัวเครื่องมาก เพราะ มันเป็นส่วนที่คอยปกป้องเครื่องของเราตั้งแต่โรงงานออกมาจนถึงมือเรา ถ้าหากเครื่องที่พนักงานหยิบมาให้เรานั้น กล่องบุบบิบ บู้บี้เกินความพอดี เช่น มุมบุบ กล่องขาด หรือโดนน้ำจนเปื่อย ก็จะแสดงให้เห็นความมีปัญหาบางอย่างได้เกิดขึ้นแล้วจากการขนส่งสิ้นค้า ซึ่งปัญหานี้อาจจะส่งผลถึงตัวเครื่องที่อยู่ในกล่องก็เป็นได้ ถึงแม้เครื่องข้างในอาจจะไม่มีปัญหาก็เถอะ แต่ถ้าเราเห็นกล่องแบบนี้แล้ว ก็คงไม่สบายใจใช่ไหมละครับ ถ้าเลี่ยงได้ก็พยายามเลี่ยง โดนยเลือกเฉพาะกล่องที่สภาพสมบูรณ์เท่านั้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่เครื่องจะมีปัญหาได้
สภาพกล่องไม่ควรมีรอยหรือบุบสลายเลย หรือถ้ามีก็ไม่น่าจะมากเกินไป
2. เช็คฉลากข้างกล่องให้ตรงกับรุ่นเสมอ
ฉลากข้างกล่องโน้ตบุ๊คเกือบทุกยี่ห้อจะคอยบอกซีเรียลและสเปคของเครื่องนั้นเสมอ สิ่งนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญและตรวจเช็คเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ต้องเช็คสเปคที่ติดอยู่ข้างกล่องให้เป็นรุ่นเดียวกับเครื่องที่เราซื้อหรือสั่งจองไว้เสมอ เพื่อความถูกต้องที่ว่า เราจะได้เครื่องที่เราได้ตัดสินใจเลือกซื้อจริงๆ เพราะ กล่องบางยี่ห้อจะเหมือนกันหมดแทบทุกรุ่น จะต่างกันแค่เพียงฉลากที่ติดบอกสเปคและรุ่นเท่านั้น และถ้าหากเป็นไปได้พยายามดูให้เลขซีเรียลหรือรหัสเครื่องที่ข้างกล่องด้วยว่าตรงกับรหัสบนเครื่องหรือเปล่าจะดีมาก
หลายๆ ยี่ห้อบอกสเปคชัดเจนดีมาก ไม่ต้องกลัวได้เครื่องผิดรุ่น
3. ฉลากที่ติดบนตัวเครื่อง
ฉลากหรือโลโก้ที่ติดบนตัวเครื่องก็ถือเป็นอีกส่วนที่สำคัญมากสำหรับใช้ในการตรวจเช็คสเปคภายใน เพราะ เดี๋ยวนี้เครื่องในหลายๆ ยี่ห้อ มักใช้รูปทรง Body ตัวเดียวกัน จะต่างกันที่ภายในเท่านั้น โดยเราจะต้องคอยดูตรงที่ฉลากบนเครื่องทุกครั้ง โดยแต่ละรุ่นจะมีก็เพียงฉลากหรือสติกเกอร์ที่ติดบอกไว้ตรงมุมเเครื่องว่ารุ่นนี้รุ่นอะไร และมีสเปคเป็นอย่างไรบ้าง บางรุ่นอาจจะมีเพียงฉลากบอกเพียงแต่ชื่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ไม่ได้เจาะจงถึงรหัส หรือเลขรุ่นที่ให้มา ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปเทียบกับในใบโบรชัวร์หรือใช้โปรแกรมภายในเช็คอีกทีว่าใช่ผลิตภัณฑ์รุ่นเดียวกันกับที่เราต้องการหรือเปล่า
ส่วนใหญ่สติกเกอร์บนเครื่องจะบอกเพียงส่วนหนึ่งของชื่อรุ่นผลิณฑ์ที่ใช้เท่านั้น จากตัวอย่าง MSI PL 60 7RD ที่บอกว่าใช้การ์ดจอ GTX 1050 แต่ไม่ได้บอกว่ามีหน่วยความจำเท่าไร คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าเป็น 4 GB แต่จริงๆ แล้วรุ่นนี้ใช้ GTX 1050 2GB และ Ram ที่บอกว่าใช้เป็นแบบ DDR4 เพื่อนๆ อาจจะคิดว่ารุ่นนี้ให้ Ram มา 4 GB แต่จริงๆ แล้วรุ่นนี้ให้มา 8 GB นะครับ
ตัวอย่างฉลากใต้ตัวเครื่องโน้ตบุ๊คที่จะคอยบอกชื่อรุ่น และ Serial ไว้สำหรับเช็คกับข้างกล่องว่าตรงกันไหมหรือเอาไว้ใช้เช็คประกันในเว็ปก็ได้ในบางรุ่น
4. เช็คริ้วรอยต่างๆ บนเครื่องอย่างใจเย็น
ริ้วรอยต่างๆ บนเครื่องนั้นบ่งบอกถึงการใช้งานสภาพที่ผ่านการใช้งานมา ยิ่งรอยมากแสดงว่ายิ่งแก่ประสบการณ์ แต่หากว่าเราต้องการได้เครื่องใหม่มือ 1 แกะกล่องมาได้กลิ่นโฟม หรือกลิ่นกระดาษนั้น เครื่องที่ได้จะต้องไม่มีริ้วรอยใดๆ เกิดขึ้นเลย หรือถ้ามีก็อาจจะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อาจจะเป็นรอยขนแมว 0.1 มิล หรือต้องเพ่งสายตามากถึงจะมอง ถ้ารอยแค่นี้แนะนำว่าช่างมันเหอะครับ ไม่ช้าก็เร็วรอยพวกนี้ต้องเกิดขึ้นกับเครื่องเราแน่ๆ เราซื้อเครื่องมาใช้งานไม่ใช่ซื้อมาเพื่อถนอม แต่อย่างว่าเครื่องที่ซื้อมาใหม่ก็ไม่ควรมีรอย รวมถึงว่าคราบต่างๆ ที่ก็ไม่ควรมีเลยก็จะดีมากกว่า คงไม่มีใครอยากให้มีริ้วรอยขึ้นทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำใช่ไหมครับ ส่วนเทคนิคการเช็คริ้วรอยพวกนี้สำหรับแอดมินเองคือ นำเครื่องยกส่องสะท้อนกับไฟแล้วดูครับ จุดที่สำคัญคือตรงหน้าจอต้องไม่มีรอย พานพับต้องไม่มีรอยแตกหัก และมุมเครื่องต้องไม่มีรอยบุบครับ
บานพับนี่เป็นส่วนที่สำคัญมากครับ เพราะ เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องใช้ขยับขึ้นลงตลอดเวลา เช็คกันให้ดีๆ อย่าให้มีริ้วรอย หรือชิ้นส่วนแตกหัก
5. วอยด์หรือสติกเกอร์รับประกันต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์
โน้ตบุ๊คในหลายๆ ยี่ห้อมักจะมีการติดวอย หรือสติกเกอร์รับประกันมาด้วย เพื่อบอกระยะเวลารับประกัน โดยจะติดตามรูน็อต หรือบริเวณฝาปิดของอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเราต้องดูว่าวันที่รับประกันถูกต้องหรือเปล่า และสติกเกอร์มีปิดมีความเสียหายหรือไม่ เช่น ขาดหรือเป็นรอย เพราะถ้าหากสติกเกอร์ขาดหรือได้รับความเสียหายอาจจะส่งผลต่อการรับประกันด้วย ถ้าหากเป็นไปได้เราควรให้พนักงานติดในตำแหน่งที่ไม่มีส่วนสัมผัสกับอะไรเลย เพื่อป้องกันความเสียหายของสติกเกอร์รับประกัน แต่ในบางยี่ห้อก็อาจจะไม่ได้มีการติดสติกเกอร์รับประกันอยู่แล้ว แต่จะใช้การเช็คเลขซีเรียลแทน ซึ่งก็ดีจะได้ไม่ต้องระแวงเรื่องของสติกเกอร์รับประกันว่าจะได้รับความเสียหาย
ถ้าเป็น Acer บางรุ่นอาจจะมีสติกเกอร์เยอะหน่อย ตามฝาปิดของตัวอุปกรณ์ เช่น Ram HDD ซึ่งสติกเกอร์เหล่านี้ควรจะอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด
6. ของแถมต้องเป๊ะ
อย่าคิดว่าเป็นของแถมจะไม่จำเป็นต้องเช็คนะครับ นอกจากจะเช็คว่าของแถมครบหรือเปล่าก็ต้องดูด้วยนะครับว่าของแถมที่ได้มานั้นตรงตามที่โฆษณาไว้หรือไม่ เช่น แฟลชไดรฟ์ที่ให้มาต้องมีความจุตามที่บอก เมาส์ที่แถมมาเสียหรือเปล่าใช่รุ่นเดียวกันไหม กระเป๋าใบใหม่ขาดหรือเปล่า ถึงแม้จะมองดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สิ่งนี้ก็ทำให้รู้สึกสบายใจได้นะครับ อีกอย่างที่อยากจะบอกคือ เราอาจจะสามารถนำของแถมเหล่านี้มาต่อราคากับพนักงานได้ด้วยประโยคที่ว่า “ไม่เอาของแถมลดราคาได้ไหมครับ”
ของแถมที่ได้ตรงตามโบชัวร์หรือเปล่า
7. ต้องเห็นของก่อนจ่ายเงิน
พูดแล้วอารมณ์ก็คล้ายๆ กับยื่นหมูยื่นแมว และเราต้องพยายามเช็คเครื่องก่อนจ่ายเงินทุกครั้ง เพราะ ถ้าหากเครื่องมีปัญหาไม่ว่าจะจากเหตุใดๆ ก็ตาม เราจะได้สามารถต่อรองกับพนักงานขายได้ กุมความได้เปรียบให้อยู่ที่ตัวเราก่อนเสมอ เช่น หากเครื่องมีปัญหาก็เปลี่ยนเครื่องใหม่ หรือเปลี่ยนรุ่นได้ โน้ตบุ๊คเครื่องหนึ่งเงินไม่ใช่น้อยๆ นะครับ จ่ายตังค์ไปแล้วกลับได้เครื่องที่มีปัญหาหรือมีตำหนิมาคงไม่ดีแน่ และสำคัญหากอยากใช้บัตรเครดิตก็ต้องเช็คโปรให้ดีว่ามีโปรไรบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นแบบผ่อน 0% สิบเดือน หรือจ่ายเงินสดอาจจะสามารถต่อลองขอส่วนลดเพิ่มได้
นี่คือตัวอย่างที่ไม่ถูกต้องนะครับ หวังจะซื้ออย่างเดียวไม่ทงไม่ถามสุขภาพสักคำ
8. อย่าลืมขอใบเสร็จทุกครั้งที่ซื้อของ
สำหรับใบเสร็จนี่คือสิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง เพราะ เป็นสิ่งที่บอกว่าเราได้ซื้อจากร้านนี้จริงๆ วัน เวลาไหน รุ่นอะไร เป็นเงินจำนวนเท่าไร เผื่อกรณีฉุกเฉินเครื่องมีปัญหาภายใน 7 วัน เราจะได้นำเครื่องมาพร้อมใบเสร็จให้ทางร้านจัดการให้ได้ เพราะ ถ้าหากเราไม่มีใบเสร็จ ร้านก็อาจจะปัดความรับผิดชอบได้เพราะไม่มีหลักประกันว่าซื้อมาจากร้านไหนนั่นเอง
และที่สำคัญอย่าลืมจำว่าเราซื้อจากร้านไหนด้วยนะครับ เวลามีปัญหาจะได้มาถูก ไปผิดร้านนี่อายเค้าตายเลย
ในบทความนี้หวังว่า เพื่อนๆ ทุกคนทั้งมือใหม่และมือเก่าจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย(ยังกะคำนำสมัยเรียน) เครื่องโน้ตบุ๊คเครื่องนึงเดี๋ยวนี้ไม่ใช่ราคาถูกๆ รวมทั้งเศรษฐกิจช่วงนี้ฝืดเคืองจริงๆ ถ้าหากเราตรวจเช็ดไม่ละเอียด เวลาเอากลับมาใช้งานแล้วมีปัญหาขึ้นมา
อาจจะทำให้เพื่อนๆ ไม่สบายใจ แต่ถ้าหากเราตรวจเช็คละเอียดถี่ถ้วนเป็นประจำสม่ำเสมอแล้ว ก็จะทำให้ช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ไปพอสมควรเลยทีเดียว หมั่นทำให้ติดเป็นนิสัยเวลาซื้อโน้ตบุ๊คหรือสินค้าใดๆ ก็ตาม จะได้สบายใจไม่ต้องมานั่งเสียใจรู้งี้ภายหลังนะครับ