DEPA ใช้ Big Data บูรณาการ Phuket Smart City
สำนักงานส่งเสริมส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA เดินหน้าโครงการยุทธศาสตร์ Phuket Smart City หรือ โครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตรต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนแบบคลัสเตอร์ โดยนำเทคโนโลยี Big Data มาจัดการข้อมูลเมืองเพื่อผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็น Smart City ทั้งด้านการค้าและการลงทุน
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอย่างเป็นทางการเพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการ Phuket Smart City ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ASEAN Economic Community (AEC)
ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจทัล Thailand 4.0 โดยพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีความพร้อมมากกว่าเดิมทั้งเรื่องการปรับเปลี่ยน แก้ไข ระเบียบข้อบังคับอันเป็นการกำจัดโอกาสในการลงทุน และควรได้รับสิทธิประโยชน์อันเป็นสิ่งสำคัญในการกระตุ้นการดำเนินงานและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
รัฐบาลจึงได้กำหนดแนวทางให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในรูปแบบคลัสเตอร์ที่มีความเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยในพื้นที่ จัดให้มีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ และช่วยกันผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมทางด้านดิจิทัลให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการ พร้อมตั้งเป้าให้จังหวัดภูเก็ตเป็น Smart City ทั้งด้านการค้า การลงทุน โดยให้อุตสาหกรรมดิจิทัลขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้เติมโตไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งมีความอ่อนไหว และถ้าโครงการนี้ดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ เชื่อมั่นว่าจะทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4.5% ต่อปี ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ปัจจุบัน โครงการ Phuket Smart City มีพัฒนาการในหลายด้าน และดำเนินโครงการให้หลายมิติเพื่อผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็น Smart City เช่น การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศดิจิทัลภูเก็ต (Centre of Digital Excellence Phuket : CODE Phuket) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับมาตรการพิเศษสำหรับ Digital Worker หรือบริษัทด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ที่จะมาทำงานหรือลงทุนในประเทศไทย
โดย DEPA ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมุ่งให้คำปรึกษา ถ่ายทอดความรู้ขั้นสูงในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ การเพิ่มคุณภาพของระบบไอทีและซอฟต์แวร์โดยอาศัยหลักการทางวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) การทำโมเดลต้นแบบ (Prototyping) และ Proof of Concept ที่เอื้อให้กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทยนำไปพัฒนาต่อเพื่อออกสู่เชิงพาณิชย์ได้
ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA กล่าวว่า โครงการ Phuket Smart City แบ่งการทำงานเป็น 3 Phase ประกอบด้วย
Phase 1 : นำ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการพัฒนาเมืองให้กลายเป็น Smart City ในมิติต่าง ๆ อาทิ มิติด้านการค้าและเศรษฐกิจ (Smart Economy) ด้านการท่องเที่ยว (Smart Tourism) ด้านสาธารณสุข (Smart Health) ด้านการดำเนินชีวิต ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม (Smart Living) โดยมุ่งการผสมผสานข้อมูลทั้งในลักษณะข้อมูลเชิงสำรวจ และข้อมูลที่จัดเก็บผ่านเทคโนโลยี Internet of Things เช่น Sensor, CCTV และการวิเคราะห์ข้อมูลจากสังคมออนไลน์ เพื่อให้เมืองสามารถใช้ข้อมูลในการบริหารได้อย่างชาญฉลาด
Phase 2 : ยกระดับบริการภาครัฐ (eGovernment) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการเข้าถึงการบริการของภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุน การเริ่มทำธุรกิจ และการอนุมัติ อนุญาตต่าง ๆ รวมถึงการเปิดให้เกิดการเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ (Open Data) เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและนำข้อมูลมาใช้ในเชิงนโยบายเพื่อการบริหารจัดการได้
Phase 3 : การส่งเสริม Smart City ให้เกิดความยั่งยืน เน้นที่การใช้ประโยชน์จากการเตรียมการด้านดิจิทัลทั้งหมดโดยร่วมมือกับภาคเอกชนและท้องถิ่น
นอกจากนี้ DEPA ยังมีส่วนในการสร้าง Ecosystem ของ Startup ในภูเก็ต เพื่อให้เกิดการพัฒนา Smart City อย่างยั่งยืนต่อไป โดยงานทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่น การลงทุน ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนและการหลั่งไหลของ Digital Worker และ Digital Talent จากต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการส่งออกผ่านระบบ eLogistic, eMarketplace, ePayment อีกด้วย
[Advertorial]