สตาร์ทอัพสายประกวด ซอมบี้ที่ไม่ยอมตาย

สตาร์ทอัพสายประกวด ซอมบี้ที่ไม่ยอมตาย

สตาร์ทอัพสายประกวด ซอมบี้ที่ไม่ยอมตาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สตาร์ทอัพบ้านเรากำลังสร้างอัตราเร่งการอยู่รอดให้สูงกว่าเดิม จากที่เกิดง่าย ตายง่าย exit ยากเย็นแสนเข็ญ และพฤติกรรมหนึ่งที่สตาร์ทอัพปัจจุบันเรียนรู้เพื่อจะอยู่รอดก็คือ ต้องเป็น สตาร์ทอัพนางงาม เดินสายประกวดทั่วราชอาณาจักร

เหลียวไปดูสตาร์ทอัพในเมืองไทย รายที่ซุ่มเงียบแล้วเปรี้ยงเลยมีน้อยกว่าน้อย อย่างล่าสุด Zanroo หรือแสนรู้ ที่ผมเขียนถึงครั้งที่แล้วแต่ไม่ออกชื่อ ก็ออกมาเปิดตัวอย่างสมเกียรติกับทุนที่ได้ไปมากมายจาก VC หลายราย แต่รายที่เปิดตัวมาหลายปี ย่ำจนรองเท้าสึกไปหลายคู่ก็ยังหานักลงทุนที่ทำให้ตัวเองหายลำบากไม่ได้สักที

สตาร์ทอัพพวกนี้ไม่มีเงินทุนมาจ้างมือโปรหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักประชาสัมพันธ์เก่งๆ ที่ปรึกษามือโปรทางด้านต่างๆ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ เมื่อเกิดเวทีประกวดซึ่งตอนนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างจัดประกวดกันอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าเดือนชนเดือนกันเลยทีเดียว บรรดาสตาร์ทอัพทั้งหลายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้เวทีประกวดระดับต่างๆ เป็นการไต่เต้า ทำให้ผลงานของตัวเองเข้าตากรรมการที่ไหนสักแห่ง เพื่อสร้างดีลที่ดีในอนาคต

สายประกวดแบบหนึ่งที่แต่ก่อนเป็นที่นิยมคือ สายประกวดของพวกโอเปอเรเตอร์มือถือ ก่อนหน้านั้นทุกค่ายมักจะจัดประกวดสตาร์ทอัพ เพื่อคัดมือดีเข้าสังกัด หาโอกาสลงทุนก่อนที่จะปล่อยวีซีมาเด็ดของดีไป พวกสตาร์ทอัพก็จะพาเหรดกันเข้าสังกัด โดยในปีแรกจะเลือกสไตล์ค่ายที่ชอบที่สุดเพียงหนึ่งเดียว เพราะรู้ว่าถ้าเข้ากับค่ายใดค่ายหนึ่งแล้วจะหันหลังกลับไม่ได้ ต้องจับคู่อยู่กันยันลูกบวชเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม บรรดาสตาร์ทอัพทีอกหักจากโอเปอเรเตอร์ในรอบแรก ก็จะกระโดดเข้าไปยังค่ายโอเปอฯ อื่น ในครั้งต่อไปทันที การที่จะมาจงรักภักดีกับค่ายนั้นๆ หรือต้องกลับมาปีต่อไป ไปพัฒนาแนวคิดแล้วผลงานของตัวเองให้ดีก่อน อย่าได้ฝัน สตาร์ทอัพพวกนี้ล้วนมีค่าความภักดีที่แสนต่ำ

แต่ยังมีสตาร์ทอัพบางพวกที่ยังกล้าๆ กลัวๆ การกระโดดเข้าสู่เวทีใหญ่เลยอาจทำให้ไอเดียถูกตีตกมาโดยง่าย ดังนั้นสตาร์ทอัพพวกนี้จะพยายามเข้าสังกัดตระกูลบ่มเพาะของหน่วยงานภาครัฐ ที่เงินน้อย แต่มีความรู้และผู้เชี่ยวชาญให้ฟรี เป็นการช่วยเหลือในระดับแรก ว่าตัวเองจะสร้างไอเดียผ่านตั้งแต่ด่านนี้หรือไม่

ถามว่าพวกสตาร์ทอัพสายประกวดต้องการอะไรจากเวทีต่างๆ แน่นอน ต้องการรางวัลสูงสุด นั่นคือ การได้ดีลใหญ่ และกอดคอไปกับหน่วยงานที่จัดประกวดทะลุไปจนถึงการได้เงินทุนในซีรียส์ต่างๆ ซึ่งทำไปทำมาก็มีน้อยกว่าน้อย เพราะปกติก็จะมีคนชนะเลิศแค่รายเดียว และผู้ชนะบางรายที่เคยฝันว่า สปอนเซอร์ทั้งหลายจะมีเงื่อนไขในการลงทุน อันนี้ก็ไม่เสมอไป เพราะในช่วงปีสองปีนี้เราได้เห็น VC หน้าใหม่ที่เข้ามาสปอนเซอร์การแข่งขันเช่นนี้เบี้ยวการลงทุนเฉยเลย เพราะมีหลาย VC ที่คิดว่าอยากลงทุนกับสตาร์ทอัพ แต่ๆๆๆ ลืมดูตัวเองไปว่าไม่ชอบลงทุนกับโครงการเสี่ยงๆ มาก่อน โถๆๆๆๆๆๆ

ในเมื่อมีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว ก็มีผู้แพ้อีกหลายสิบ สตาร์ทอัพมวยรองพวกนี้ มีหลายรายยังมีแรงฮีดเดินสายประกวดอย่างต่อเนื่อง หวังว่าจะมีเวทีแจ้งเกิดสักเวที ขณะที่สตาร์ทอัพอีกเป็นสิบเมื่อไม่ผ่านก็ตายทันที ถึงกับยุบโครงการแล้วไปหาไอเดียวใหม่มาทำ

การที่สตาร์ทอัพเกิดง่าย ตายง่ายจึงเป็นเรื่องปกติ และควรจะเป็นเช่นนั้น ในเมื่อปีนขึ้นจากหุบเขานรกไม่ได้ก็ตายไปซะ ไปเกิดใหม่แล้วกลับมา เริ่มจากศูนย์กันใหม่ นี่คือจุดเด่นของสตาร์ทอัพทั่วโลก ที่เขาบอกว่า คนคิดไอเดียมีเป็นล้าน ไอเดียไม่มีราคา ราคามันอยู่ที่การ execute หรือการทำมันให้สำเร็จต่างหาก

ปัญหาของสตาร์ทอัพในเมืองไทยจึงอยู่กับพวกสายประกวดที่เป็นประเภทรองนางงาม คือไม่ชนะ แต่ก็ยังพอมีอนาคตอยู่บ้าง ไม่ใช่พวกตกกระป๋องตั้งแต่รอบแรกแล้วไปคิดผลงานมาใหม่ พวกรองนางงามนี่เหมือนเป็นซอมบี้ครับ ตายยาก ตายทุรนทุราย อยู่แบบพอมีความหวัง มีพลังในการสู้อยู่ตลอดเวลา แต่สู้ไปแล้วก็ตอบยากว่าจะรอดมั๊ย

ในปีนี้ผมเห็นพระรองทั้งหลายที่เกือบชนะในหลายเวที แบบซ้ำๆ เวทีนี้ได้ที่สอง เวทีนั้นได้ที่สาม เวทีโน้นเข้ารอบสุดท้าย คำถามก็เลยเกิดในใจผมก็คือ พวกนี้เอาเวลาที่ไหนไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เอาเวลาที่ไหนไปขายสินค้าของตัวเองในตลาด เอาเวลาที่ไหนไปดีลหาแหล่งทุน เพราะแต่ละเรื่องที่กล่าวต้องใช้เวลา แต่พวกนี้เอาเวลาเหล่านี้มาประกวด

ใครจะกล่าวว่า ก็ไอ้การประกวดนี่แหละถือเป็นการทำการตลาดที่ดีที่สุดของสตาร์ทอัพ เรื่องนี้ผมก็เถียงไม่ออกครับ แต่การทำเช่นนี้มันสร้างกับดักล้อมตัวเองชัดๆ ผมพยายามตั้งคำถามในหัวว่า “พวกนี้น่าจะอยากได้อะไรจากการประกวดมากกว่านี้” Mentor คือคำตอบที่ผมคิดได้

Mentor ที่ผมว่าคือ การประกวดทั้งหลายจะเอาพี่เลี้ยงเก่งๆ ดังๆ มาล่อให้สตาร์ทอัพทั้งหลายเข้าประกวด บอกเลยว่าพวกมือใหม่ทั้งหลายถ้าได้พี่เลี้ยงดีๆ มาช่วยโอกาสจะรอดและไปสู่ความสำเร็จมีสูงมากๆๆๆๆๆๆ แต่พี่เลี้ยงดังๆ และดีๆ ในเมืองไทยทั้งหลายก็ต้องเอาธุรกิจตัวเองให้รอดก่อน ดังนั้นถ้าพี่เลี้ยงเหล่านี้มาแค่ให้การปรึกษา ไม่ได้พิสมัยถึงขั้นร่วมลงทุนด้วย อย่าได้ฝันว่าพี่เลี้ยงจะมาร่วมหัวจมท้ายกับสตาร์ทอัพเหล่านี้ แต่ถ้าพวกรองนางงามเหล่านี้ใช้สเน่ห์ล่อหลอกพี่เลี้ยงให้กลายมาเป็นผู้ร่วมลงเงินได้ ผมเชื่อว่าอาจจะไปอำเภอแจ้งเกิดกันได้บ้าง แต่ถ้าพี่เลี้ยงไม่หลงกลก็เตรียมไปวัดกันได้เลย

สิ่งที่ผมอยากสรุปตอนนี้ก็คือ เงินในระบบที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพนั้นมีจำนวนมาก พวกขาใหญ่ทุกวงการกระโดดลงมาหมดแล้ว แต่พวกมือใหม่พวกนี้ยังไม่คุ้นกับความเสี่ยงของสตาร์ทอัพ ยังออกลูกกล้าๆ กลัวๆ อยู่เยอะ ทำให้สตาร์ทอัพในเมืองไทยที่ีทั้งีมือดีและครึ่งๆ กลางๆ ประสบปัญหาการหาทุนอย่างมาก ยังต้องดิ้นร้นกับปัญหาหลากหลายอย่างแบบที่ตัวเองก็คิดไม่ถึง

เราจึงมีสตาร์ทอัพรองนางงามที่เดินสายประกวดไม่หยุดหย่อน เรามีสตาร์ทอัพผีดิบที่จะเกิดก็ไม่ได้ จะตายก็ไม่ดี เริ่มเกลื่อนเมือง ถ้าวงการสตาร์ทอัพยังไม่แก้เรื่องนี้ โอกาสที่หน้าใหม่จะเข้ามาจะยากมาก เพราะจะมีพวกเตะสกัดพวกนี้คอยขวางทางอยู่

         

         

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook