ทำไม Google เลิกนโยบาย ‘first click free’ ?
“first click free” (FCF) นั้นเป็นนโยบายที่กำหนดให้เจ้าของเนื้อหาที่ผู้อ่านต้องจ่ายค่าบริการ (paywalled publisher) ต้องเสนอเนื้อหาสำหรับอ่านฟรี 3 บทความต่อวัน หากต้องการให้ชาวออนไลน์สามารถเข้าถึงบทความที่เสิร์ชพบบริการเสิร์ชหรือบน Google News แต่วันนี้ Google ประกาศยกเลิกนโยบายนี้แล้ว ทำให้ publisher กลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องให้บริการฟรีอีกต่อไป
การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นการยกธงไม่บังคับ publisher กลุ่มนี้ (กลุ่มที่ผู้อ่านต้องเสียค่าบริการเป็นสมาชิกเท่านั้น) เหตุผลที่ยกเลิกคือความขัดแย้งที่ทำให้ publisher ไม่เห็นด้วยจนทำให้โครงการนี้ไม่ได้รับความนิยม ในฐานะที่ยกเลิกนโยบายนี้ Google จึงเสนอแนวทางแนะนำให้ publisher ผู้เผยแพร่เนื้อหาออนไลน์ ได้เปิดกว้างเนื้อหาแบบยืดหยุ่นในบางกรณี โดยแนวทางนี้ถือเป็นเพียงคำแนะนำที่ Google จะไม่บังคับอย่างที่เคยทำ
นโยบาย first click free นั้นถูกนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ในยุคนั้นผู้ใช้จะสามารถอ่านบทความแรกที่คลิกได้แบบเต็ม หากคลิกต่อไปจึงจะพบกับเพจขอให้สมัครสมาชิก กระทั่งปี 2009 เจ้าพ่อเสิร์ชจึงขอให้ publisher ช่วยเปิดบทความให้อ่านฟรี 5 บทความต่อวัน จนมาปี 2015 จึงลดเหลือ 3 บทความต่อวัน
publisher มีสิทธิ์ที่จะไม่ทำตามนโยบาย FCF หากไม่หวั่นว่าบทความของตัวเองจะถูกค้นพบยากขึ้นบน Google เนื่องจาก Google จะไม่จัดดัชนีเนื้อหากลุ่มที่เมิน FCF เพื่อแสดงบนบริการเสิร์ชและ Google News แต่วันนี้ Google จะยอมจัดดัชนีบทความจาก paywalled publisher ทุกรายให้แสดงบนผลเสิร์ช ไม่ว่าแต่ละค่ายจะมีบทความฟรีให้หรือไม่
Google เชื่อว่าการยกเลิก FCF จะไม่มีผลกับผู้อ่าน เนื่องจาก publisher ต้องมีเนื้อหาฟรีสำหรับผู้คลิกครั้งแรกอยู่แล้ว เพื่อจูงใจให้ผู้อ่านรายใหม่รู้สึกอยากสมัครรับบทความต่อไป นี่เองที่เป็นเหตุผลให้ Google เสนอแนวทาง “เปิดกว้างเนื้อหาแบบยืดหยุ่นในบางกรณี” ซึ่งจะทำให้ publisher สมัครใจเปิดฟรีบทความของตัวเองโดยไม่ต้องบังคับ
เรื่องนี้ทำให้ Google ยืนยันว่าการยกเลิกนี้ไม่ได้เป็นเพราะการยอมแพ้ แต่เป็นเพราะ Google พบว่า publisher นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าในการกำหนด “กลยุทธ์การสุ่มตัวอย่างบทความ” ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดสำหรับตัวเอง
Richard Gingras รองประธานฝ่ายข่าวของ Google จึงหยิบประเด็น ‘Try before you buy’ หรือการลองใช้ก่อนที่จะซื้อ เพื่อเน้นย้ำถึงสิ่งที่ publisher รู้อยู่แล้วว่าจำเป็นต้องมีรูปแบบการสุ่มตัวอย่างฟรีเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จบนโลกออนไลน์ โดยบอกว่า ถ้าจำนวนเนื้อหาฟรีน้อยเกินไป ก็จะมีผู้ใช้จำนวนน้อยที่คลิกลิงก์ไปยังเนื้อหานั้น ซึ่งอาจมีผลต่อการค้นพบแบรนด์ และต่อมาอาจส่งผลต่อทราฟฟิกการเข้าชมในระยะยาว
publisher ฟังแบบนี้แล้วก็เลือกเอาเองนะ Google เค้าไม่ (อยาก) บังคับแล้ว