รีวิว Jimu Astrobot เปลี่ยนการเรียนรู้ให้สนุกทุกเพศทุกวัย

รีวิว Jimu Astrobot เปลี่ยนการเรียนรู้ให้สนุกทุกเพศทุกวัย

รีวิว Jimu Astrobot เปลี่ยนการเรียนรู้ให้สนุกทุกเพศทุกวัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวิทยาการต่างๆ กลายเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนโลก การศึกษาในยุคปัจจุบันจึงต้องให้ความสำคัญกับศาสตร์ที่สามารถนำไปประยุกต์เพื่อสร้างวิทยาการใหม่ๆ ซึ่งเราเรียกศาสตร์ในกลุ่มนี้ว่า STEM ครับ และหุ่นยนต์ Jimu Astrobot ที่เราจะรีวิวในวันนี้ก็เป็นหนึ่งในของเล่นที่เสริมการเรียนรู้ STEM ได้ง่ายและสนุกครับ

คลิกเพื่อรู้จัก STEM Education

STEM Education นั้นเป็นคำย่อของ 4 ศาสตร์หลักที่นำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในโลกวิทยาการคือ

Science – วิทยาศาสตร์ Technology – เทคโนโลยี Engineering  – วิศวกรรมศาสตร์ Mathematics – คณิตศาสตร์

โดยการเรียนรู้นั้นจะไม่เน้นการท่องจำครับ แต่เน้นความเข้าใจจากการได้ทำจริง เพื่อเชื่อมโยงความสำคัญของศาสตร์ทั้ง 4 และกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่ดีขึ้น ประหยัดเวลามากขึ้น Jimu Robot ให้อะไรผู้เล่นบ้าง

จุดขายหลักของชุดหุ่น Jimu จาก UBTECH คือการแทรกการเรียนรู้แบบ STEM เข้าไปในขั้นตอนการสร้างและเล่นกับหุ่นครับ

ฝึกลำดับวิธีคิด แม้ชิ้นส่วนของหุ่น Jimu จะมีเยอะ แต่เราสามารถเริ่มเล่นหุ่น Jimu แบบไม่ถูกทิ้งไว้กลางทาง ก็ทำตามขั้นตอนประกอบตามแอปที่แสดงให้เห็นแบบ 3 มิติได้เลย ถ้าเด็กๆ งงก็เรียกพ่อเรียกแม่มาช่วยประกอบได้ (แต่ส่วนใหญ่เด็กจะไม่งง พ่อแม่จะเป็นฝ่ายงงมากกว่า) ฝึกความเชื่อมโยง เมื่อผู้เล่นเป็นคนประกอบหุ่นขึ้นมาเอง ก็จะเข้าใจพื้นฐานการทำงานของหุ่น

อย่างชิ้นส่วนนี้เคลื่อนที่ได้เพราะมอเตอร์ Servo ชุดนี้ทำงาน, ชิ้นส่วนนี้เกิดปัญหา เพราะไปขัดการทำงานของอีกชิ้นส่วนหนึ่ง จนเกิดความคิดเชื่อมโยงระหว่างกัน ฝึกพื้นฐานการเขียนโปรแกรม เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเขียนโปรแกรม ไม่ใช่การเขียนเป็นภาษาอะไร

แต่เป็นคิดยังไงให้คอมพิวเตอร์นำไปใช้งานได้ การเขียนโปรแกรมสั่งงานหุ่น Jimu จึงไม่ต้องท่องจำโค้ดและรูปแบบการเขียน แต่เป็นการต่อ Flow chart การทำงานเพื่อสั่งหุ่นยนต์ สร้างสรรค์จินตนาการใหม่ๆ เมื่อประกอบหุ่น Jimu และเขียนโปรแกรมสั่งงานจนเชี่ยวชาญแล้ว ก็นำความรู้ที่ได้ทั้งหมดมาผสมกับจินตนาการ (และอาจซื้อชิ้นส่วนเพิ่มบ้าง) เพื่อประกอบเป็นหุ่นรูปร่างใหม่ๆ ของตัวเอง เขียนโปรแกรมชุดใหม่ เพื่อให้หุ่นเดินหรือเล่นตามที่คิดไว้

หุ่นตระกูล Jimu นั้นมีหลายชุดมากครับ เช่นชุด KarBot ก็จะประกอบเป็นรถได้ 3 รูปแบบ หรือชุด BuzzBot & MuttBot จะสามารถต่อเป็นหุ่นยนต์ตัวน้อยกับน้องหมาสุดน่ารักได้ หรือชุดใหญ่อย่าง Jimu Inventor Kit ก็ต่อเป็นหุ่นยนต์รูปสัตว์ที่มีความซับซ้อนได้ 6 แบบ

ซึ่งจริงๆ แล้วพื้นฐานของหุ่นตระกูล Jimu นั้นเหมือนกัน เราจึงสามารถใช้อุปกรณ์ข้ามชุดกันได้ การจัดชุดต่างๆ ของ Jimu ก็คือการเตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับการประกอบเป็นหุ่นพื้นฐานที่กำหนดมาให้ เช่นชุดใหญ่ Jimu Inventor Kit จะเตรียมอุปกรณ์มาให้มากที่สุด มีมอเตอร์ Servo 16 ตัว ชิ้นส่วนสำหรับประกอบร่าง 675 ชิ้น สมองกล 1 ชุด ส่วนชุด Jimu Astrobot ที่เราได้รับมารีวิวในครั้งนี้ก็จะมีความซับซ้อนน้อยกว่า คือมีมอเตอร์ Servo 5 ตัว สมองกล 1 ชุด ชิ้นส่วนประกอบร่าง 397 ชิ้น อย่างชิ้นส่วนล้อตีนตะขาบ มือจับ และชิ้นส่วนอื่นๆ ให้ประกอบเป็นหุ่นยนต์สำรวจอวกาศได้

Jimu Astrobot หุ่นชุดสำรวจอวกาศ

หุ่น Rover

หุ่น Astron

หุ่นชุด Astrobot ที่เรารีวิวในครั้งนี้สามารถประกอบเป็นหุ่นได้ 3 รูปแบบหลักๆ คือ

Astrobot หุ่นล้อตีนตะขาบสำรวจดาว ซึ่งเป็นหุ่นที่มีความซับซ้อนที่สุดในชุดนี้ Rover รถ 4 ล้อสำรวจดาว สามารถหันจานเสาอากาศซ้าย-ขวาได้ Astron หุ่นยนต์เดิน 2 ขา แต่มีความซับซ้อนที่ขาสามารถบิดไปบิดมาได้

เซนเซอร์ IR ที่ประกอบอยู่ด้านหน้าหุ่น Astrobot

ล้อตีนตะขาบของหุ่น Jimu Astrobot

หุ่นที่เราทดลองประกอบให้ดูคือ Astrobot หรือหุ่นล้อตีนตะขาบสำรวจดาวจากชุด Astrobot นะครับ ซึ่งการประกอบเป็นหุ่นตัวนี้ใช้มอเตอร์ Servo ครบ 5 ตำแหน่งคือ แขน 2 ข้างใช้มอเตอร์ 2 ตัวเพื่อขยับทั้งแขน ที่เอวใช้มอเตอร์อีกตัวหนึ่งเพื่อขยับตัวขึ้นบนลงล่าง และที่ล้อตีนตะขาบมอเตอร์อีกข้างละตัวเพื่อให้ควบคุมการวิ่งเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้

ที่น่าสนใจคือด้านหน้าหุ่น เราประกอบให้มีเซนเซอร์วัดระยะติดเข้าไปด้วย สร้างความยืดหยุ่นในการเขียนโปรแกรมได้หลากหลาย และจุดเด่นของชุด Jimu Astrobot คือมีดวงตา 2 ดวงมาให้ในชุด ที่สามารถสั่งงานให้ไฟ LED ในตาเปล่งแสงต่างๆ ได้ ซึ่งไม่มีในชุดหุ่น Jimu รุ่นอื่นๆ และยังมีลำโพง Bluetooth เพื่อส่งเสียงด้วย

ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจหุ่น Astrobot ในรูปมีแสงสีเหลืองๆ ที่ตาด้วยนะ

สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น

ซึ่งการประกอบนั้นทำตามได้ไม่ยาก เริ่มต้นจากเลือกแบบหุ่นที่ต้องการประกอบในแอป Jimu ก่อน แล้วทำตามขั้นตอนที่แสดงให้เห็นชัดเจนด้วยโมเดล 3 มิติ ซึ่งผู้เล่นสามารถหมุนโมเดลดูในมุมต่างๆ ให้เข้าใจได้ว่าชิ้นส่วนแต่ละชิ้นนั้นต่อเชื่อมกันยังไง

นอกจากนี้สำหรับใครที่อยากเล่นแบบเป็นขั้นเป็นตอนจริงๆ (อารมณ์เหมือนเรียนทีละบท เริ่มจากบทที่ง่ายก่อน) Jimu ยังมีการนำเสนอในโหมดเนื้อเรื่องหรือ Story ที่เล่าเรื่องราวของหุ่นสำรวจอวกาศต่างๆ (มีชื่อเรื่องด้วยนะ ชื่อว่า “Interstellar Adventure”) ผ่านการประกอบหุ่น ฝึกการเขียนโปรแกรมประกอบเรื่องราวต่างๆ อีกด้วย!

ขั้นตอนการประกอบหุ่น โชว์อย่างละเอียดแบบ 3 มิติภายในแอป

เรียนรู้ผ่านเรื่องราวของหุ่นสำรวจอวกาศ!

เมื่อประกอบหุ่นเสร็จแล้ว ได้เวลาเล่น!

เมื่อประกอบหุ่นเสร็จแล้ว ก็ต้องอยากให้มันเคลื่อนที่ให้ชื่นใจจริงไหมครับ ซึ่ง Jimu ก็มีวิธีควบคุมหลายแบบคือ

ฉันสั่งงานนายอยู่นะ Jimu Astrobot

กดปุ่ม Controls เพื่อให้หุ่นเดินซ้ายขวาหน้าหลัง หรือออกแอคชั่นต่างๆ เหมือนบังคับรถวิทยุอยู่ ซึ่งหน้าควบคุมนี้สามารถปรับแต่ง ลากเอาแป้นควบคุมต่างๆ มาใส่จอเพิ่มได้ แล้วไปเอาผูกการเคลื่อนไหวกับมอเตอร์ชุดต่างๆ เพื่อสั่งงานได้ด้วย กดปุ่ม Action เพื่อเลือกท่าทางต่างๆ ที่ผู้สร้างกำหนดไว้ เช่นสั่งให้หุ่นเต้น ปรบมือ ที่เจ๋งคือเราสามารถสร้างแอคชั่นใหม่ได้จากฟังก์ชั่น PRP (Pose, Record, Playback) ที่ใช้มือปรับท่าหุ่น แล้วให้แอปจำตำแหน่งของมอเตอร์ไว้ พอเสร็จแล้วตั้งชื่อท่า และกดเล่นท่าทางที่บันทึกไว้ได้เลย เขียนโปรแกรมแบบ flowchart ควบคุมหุ่นไปเล้ย

การสร้างแอคชั่นใหม่ สามารถกดบันทึกการเคลื่อนไหวของมอเตอร์ Servo ได้เลย

มาเจาะลึกความสามารถ PRP (Pose, Record, Playback) กันอีกสักนิดครับ คือเมื่อกดปุ่ม Actions เราจะเห็นปุ่ม New Action เพื่อกำหนดการเคลื่อนที่ของมอเตอร์ Servo ซึ่งในหน้านี้เราสามารถลากไอคอนมอเตอร์เบอร์ต่างๆ และกำหนดองศาการหมุนและระยะเวลาการหมุนได้

นอกจากนี้ยังสามารถกดปุ่ม O เพื่อบันทึกการเคลื่อนไหวของหุ่นได้ ซึ่งจะเป็นการบันทึกทีละขั้นนะครับ เช่นจะบันทึกให้หุ่นปรบมือ ก็ต้องบันทึกท่าทาง 2 ครั้งคือจังหวะอ้าแขนกับหุบแขน หรือถ้าต้องการบันทึกให้หุ่นเดินก็ต้องบันทึกท่าทาง 4 ครั้งคือยกขาซ้ายขึ้น ยกขาซ้ายลง ยกขาขวาขึ้น ยกขาขวาลงเป็นต้น ก็ต้องสั่งงานในเชิงคอมพิวเตอร์ที่มีรายละเอียดมากกว่าการสั่งงานในชีวิตประจำวันครับ (ฝึกไว้ เป็นหนึ่งในรากฐานการเขียนโปรแกรมเหมือนกัน)

เขียนโปรแกรมปลดล็อกจินตนาการหุ่น Jimu

การเขียนโปรแกรมในแบบ flowchart ของหุ่น Jimu

อยากเห็นโค้ดโปรแกรมแบบภาษาต่างดาวใช่ไหม ได้! (ภาษา Swift)

การสั่งงานด้วยปุ่ม Control และ Action นั้นเป็นแค่น้ำจิ้มสู่การควบคุมของจริงด้วยการสร้าง flowchart ของโปรแกรมครับ ที่จะเป็นการเสริมสร้างทักษะความเข้าใจภาษาคอมพิวเตอร์สู่การต่อยอดลงสนามเขียนโปรแกรมจริงๆ ในอนาคต ซึ่งฟังก์ชั่นการเขียนโปรแกรมของ Jimu ถือว่าครอบคลุมเรื่องพื้นฐานโปรแกรมมิ่งเป็นอย่างดี มีฟังก์ชั่นที่น่าสนใจอย่าง

เริ่มต้นกระบวนการเมื่อมือถือผู้ใช้เอียงซ้าย/ขวา/หน้า/หลังตามที่กำหนด ดึงแอคชั่นที่สร้างไว้ในหมวด Action มาใช้ได้เลย คำสั่งอย่าง If-Do (ถ้าเข้าเงื่อนไขนี้ ให้ทำแบบนี้), If-Else (ถ้าเข้าเงื่อนไขทำแบบนี้ ถ้าไม่ใช่ให้ทำแบบนี้), Repeat-Until (ทำซ้ำสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าเงื่อนไข) เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการทำงานอย่างยืดหยุ่น ตั้งเงื่อนไขการจับระยะของเซนเซอร์ Infrared ได้ด้วย เช่นเมื่อเซนเซอร์จับวัตถุเข้าใกล้กว่าระยะที่กำหนดให้ทำตามเงื่อนไขนี้ เล่นเสียง แสดงอารมณ์ทาง แน่นอนการเขียนโปรแกรมก็ต้องมียุ่งกับเรื่องตัวแปร ทั้งการกำหนดตัวแปร ตึงตัวแปรมาใช้ สุ่มเลขขึ้นมาใหม่ ทำได้ทั้งนั้น

ซึ่งโปรแกรมทั้งหมดที่เขียนใน Jimu เกิดจากการเลือกบล็อกคำสั่งมาวางแล้วโปรแกรมจะวิ่งจากบนลงล่าง ผ่านเงื่อนไขต่างๆ จนสำเร็จเป็นผลครับ

มอเตอร์ Servo แต่ละตัวจะมีรหัสเขียนไว้ชัดเจน เพื่อสะดวกในการสั่งงานและประกอบ ในภาพคือ ID-04

ราคาของหุ่นชุด Jimu

Systems2000 ผู้นำเข้าหุ่นชุด Jimu อย่างเป็นทางการจาก UBTECH ในไทยนั้นนำเข้าหุ่นหลายชุดครับ โดยชุด Jimu Astrobot นั้นมีราคา 8,590 บาท ซึ่งสามารถหาซื้อหุ่นชุด Jimu ได้จากร้านตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศครับ เช่น iStudio, .Life, Jaymart, B trend (Siam Paragon), King Power, Loft และ iGenious

Jimu Astrobot Kit ที่เรารีวิววันนี้ราคา 8,590 บาท

Jimu Karbot Kit ชุดประกอบรถ ราคา 5,190 บาท

JIMU Inventor Kit ชุดใหญ่ มอเตอร์ 16 ตัว ราคา 16,900 บาท

Jimu Buzzbot &  Muttbot Kit ราคา 5,390 บาท

Alpha 1 Pro หุ่นยนต์แบบ Humanoid เขียนโค้ดได้หลากหลาย ราคา 21,900 บาท

สรุปแบไต๋การันตี Jimu Astrobot น่าซื้อมาก!

หลังจากได้ทดลองเล่น Jimu Astrobot มาระยะหนึ่ง ก็พบว่าเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ที่คิดมาจบ ทั้งตัวรูปแบบหุ่น การสั่งงาน การสร้างแอป ที่มีรายละเอียดความใส่ใจเยอะ จนสามารถทำตามได้ง่าย ถือเป็นประตูบานแรกๆ ที่แนะนำให้เด็กๆ เข้าสู่โลกวิทยาศาสตร์และโปรแกรมมิ่งได้ครับ (ยิ่งถ้าน้องๆ ชอบทางสายนี้อยู่แล้ว น่าจะเห็นการสร้างสรรค์สนุกๆ อีกเยอะ) ก็เป็นอีกหนึ่งของเล่นที่น่าลงทุนซื้อหาให้เด็กๆ เล่นครับ

ถ้าคิดว่า Jimu แพง ก็ลองเทียบกับสมาร์ทโฟนที่ผู้ใหญ่ใช้กันดูนะครับ ผู้ใหญ่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนกันทุก 2-3 ปีในราคาที่แพงกว่านี้ และไม่ได้มีความทรงจำอะไรเท่าไหร่ แต่เด็กๆ จะจดจำของเล่นชิ้นเยี่ยมของพวกเขาไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะของเล่นที่เปลี่ยนชีวิตครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook