"AI ไม่ใช่พระเจ้า" นักฟิสิกส์-ซีอีโอต้านแนวคิดบูชาปัญญาประดิษฐ์

"AI ไม่ใช่พระเจ้า" นักฟิสิกส์-ซีอีโอต้านแนวคิดบูชาปัญญาประดิษฐ์

"AI ไม่ใช่พระเจ้า" นักฟิสิกส์-ซีอีโอต้านแนวคิดบูชาปัญญาประดิษฐ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อดีตผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของอูเบอร์ ก่อตั้งองค์กรสนับสนุนการเคารพบูชา AI ทำให้สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีชื่อดัง และอีลอน มัสก์ ผู้บริการสเปซเอ็กซ์ ออกมาต่อต้านแนวคิดดังกล่าว โดยย้ำว่าเอไอเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติถ้าไม่กำกับดูแลให้ดี

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ Wire ซึ่งเป็นสื่อด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ รายงานว่า นายแอนโทนี ลีแวนดาวสกี หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีเอไอที่จะใช้ในการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับของบริษัท 'อูเบอร์' ได้ก่อตั้งองค์กรเอกชนด้านศาสนาขึ้นมาแห่งหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Godhead หรือ 'เศียรพระเจ้า' และองค์กรดังกล่าวจะใช้กระบวนการประเมินผลของเอไอในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อคิดค้นแนวทางพัฒนาสังคมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ และหวังว่าก็อดเฮดจะได้รับความเคารพบูชาจากสาธารณชนในอนาคต

แม้องค์กรดังกล่าวจะยังไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างจริงจัง แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามมาทันที โดยเมื่อวานนี้ (2 พฤศจิกายน) เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้เผยแพร่ความเห็นของนายสตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาชาวอังกฤษที่ได้รับการยกย่องในระดับโลก ซึ่งชี้ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอไปใช้ในด้านต่างๆ อาจจะเป็นผลดีต่อมนุษยชาติอย่างใหญ่หลวง แต่ในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงตามมาได้เช่นกัน

ฮอว์คิงระบุว่า เอไอถูกออกแบบให้สามารถเลียนแบบ เรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพด้านการคิดและประมวลผลได้เอง เพื่อแก้ไขโจทย์ต่างๆ ให้สำเร็จ แต่เมื่อไหร่ที่เป้าหมายของเอไอไม่สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ ก็จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นมาทันที และเขายังเชื่อด้วยว่า หากนำเอไอไปใช้กับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ อาจทำให้เกิดการยกระดับความสามารถ เช่น การผลิตหุ่นยนต์เพิ่มเติมได้เอง และกลายเป็น 'สิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่' ที่มีความสามารถเหนือกว่ามนุษย์มาก จนอาจเข้ามาแทนที่มนุษย์ทั้งหมดในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ฮอว์คิงจึงเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานเอกชนต่างๆ ที่กำลังพัฒนาหรือส่งเสริมเทคโนโลยีเอไอทั่วโลก ให้เตรียมพร้อมเรื่องการกำกับดูแลและป้องกันไม่ให้เอไอกลายเป็นภัยต่อมนุษย์ โดยสิ่งสำคัญคือการคิดค้นหรือออกแบบระบบที่สามารถตรวจสอบภัยคุกคามจากเอไอได้อย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อนำไปสู่การควบคุมหรือป้องกันผลกระทบที่จะตามมา และเขายังได้แนะนำให้ผลักดันโครงการสำรวจอวกาศเพื่อเตรียมขยายถิ่นฐานของมนุษย์ไปยังดาวอื่นในอนาคต เพราะโลกมีประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะไม่มีทรัพยากรหรือที่ดินเพียงพอสำหรับทุกคน

นายอีลอน มัสก์ ประธานบริหารของสเปซเอ็กซ์และเทสลา ซึ่งเป็นบริษัทนวัตกรรมและเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งคัดค้านการพัฒนาหุ่นยนต์เอไอมาตลอด และเขาได้ทวีตข้อความต่อต้านการเคารพบูชาก็อดเฮดและเอไอของนายลีแวนดาวสกี พร้อมทั้งแนบลิงค์ของบทความ An AI god will emerge by 2042 and write its own bible. Will you worship it? จากเว็บไซต์ Venture Beat ซึ่งประเมินว่าภายในปี 2042 หรืออีก 25 ปีข้างหน้า อาจมีผู้เคารพบูชาเอไอไม่ต่างจากการเคารพนับถือพระเจ้าหรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และเอไออาจเขียนคัมภีร์ขึ้นเองได้ด้วย 

นายมัสก์ได้ทวีตลิงค์ของบทความดังกล่าว พร้อมชักชวนให้คนที่สนใจร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ตัวเขาระบุชัดเจนว่า "ผู้ที่มีแนวคิดแบบเดียวกับนายลีแวนดาวสกี ไม่ควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเอไอ"

ขณะที่ ดิอินดีเพนเดนท์ สื่อของอังกฤษ เผยแพร่บทสัมภาษณ์วินซ์ ลินช์ ผู้ก่อตั้งบริษัทพัฒนาเอไอ IV AI ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าเอไอมีแนวโน้มที่จะพัฒนาทักษะต่างๆ จนเหนือกว่ามนุษย์ได้ในทุกด้าน โดยอาจจะใช้เวลาประมาณ 45 ปี และเมื่อไหร่ที่เอไอล้ำหน้ามนุษย์ทั่วไป ก็จะมีคนจำนวนมากที่เชื่อมั่นในเอไอ และยอมให้เอไอเป็นเครื่องชี้ทางหรือให้คำแนะนำในการใช้ชีวิต

ลินช์ระบุว่า "การสอนศาสนาแก่มนุษย์ เป็นวิธีการเดียวกับที่เราป้อนข้อมูลความรู้ให้กับเครื่องจักรกล (เอไอ) เราจะต้องป้อนข้อมูลและกรณีตัวอย่างหลายๆ ชุด รวมถึงทบทวนซ้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และจดจำ จากนั้นจึงค่อยปลูกฝังวิธีการสอนเพิ่มเติมให้แก่เครื่องจักรกลเอไอ และกระบวนการเหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากการเรียนรู้หลักตรีเอกานุภาพ (ในศาสนาคริสต์) หรือการตรัสรู้ (ในศาสนาพุทธ) ซึ่งเราจะสามารถเข้าใจได้หลังจากผ่านบทเรียนมามากพอ ทั้งบทเรียนที่ประสบความสำเร็จและบทเรียนที่ล้มเหลว"

อย่างไรก็ตาม บุคคลสำคัญระดับโลกจำนวนหนึ่งยังสนับสนุนให้พัฒนาเอไอต่อไป ไม่ว่าจะเป็น เรย์ เคิร์ซเวล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของกูเกิล, มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารเฟซบุ๊ก ซึ่งมองว่าเอไอเป็นประโยชน์กับมนุษย์มากกว่า และเขาเคยถกเถียงกับมัสก์ในประเด็นนี้มาก่อนแล้ว เช่นเดียวกับวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งเคยกล่าวในงานประชุมวิชาการภายในประเทศเมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดยระบุว่า ผู้นำด้านเอไอจะเป็นมหาอำนาจโลก

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook