กฟน. Count Down ถนนสุขุมวิทไร้สาย – เสาไฟฟ้า พร้อมเผยข้อมูลจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาล่าสุด
เชื่อว่าทุก ๆ คนที่อยู่ในตัวเมืองก็คงจะเริ่มสังเกตกันแล้วว่า เสาไฟฟ้ามันค่อย ๆ หายไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเมืองที่สวยงามมากยิ่งขึ้น วันนี้ กฟน. ก็ได้มีการประกาศเพิ่มเติมจากเดิมว่า เขาจะทำการถอน เสาไฟฟ้า เส้น สุขุมวิท 1 – 73 ทั้งเส้นออก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นของขวัญวันปีใหม่ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 10 ธันวาคมนี้
โดยคุณชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า เขาได้เล็งเห็นถึงอนาคตความก้าวหน้าทันสมัยของมหานครที่ต้องพัฒนาระบบไฟฟ้าในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครให้มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคง ด้วยนวัตกรรมที่ล้ำสมัยตอบรับ Lifestyle การใช้ชีวิตของคนเมือง ซึ่งถนนสุขุมวิทนี้ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของ กทม. ที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นพื้นที่แสดงภาพลักษณ์ของประเทศไทย กฟน. จึงได้มีนโยบายการทำสายไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2558 แต่ยังไม่สามารถรื้อถอนเสาไฟฟ้าได้เนื่องจากมีสายสัญญาณของผู้ประกอบการพาดอยู่บนเสาไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว และในปี 2559 – ปัจจุบัน ปัญหาสายสื่อสารรกรุงรังก็เป็นประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยซึ่ง บิล เกตส์ มหาเศรษฐีระดับโลกและผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft ได้โพสต์เผยแพร่ใน Social Media ซึ่งปัจจุบันทาง กฟน. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเร่งดำเนินงานร่วมกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน พร้อมดำเนินการรื้อสายสื่อสาร เสาไฟฟ้าของ กฟน. จึงเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์ของประเทศไทยในครั้งนี้ และสร้างความปลอดภัยให้คนใช้รถใช้ถนนในกรณีอุบัติเหตุเสาไฟฟ้่าหักโค่นอีกด้วย
โดยโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในครั้งนี้จะมีระยะทางทั้ง 2 ฝั่ง รวมระยะทาง 12 กิโลเมตร จากบริเวณซอยสุขุมวิท 1 ถึง ซอยสุขุมวิท 71 และฝั่งซอยสุขุมวิท 2 จนถึง สามแยกพระโขนง ประกอบด้วยจำนวนเสาไฟฟ้าทั้งสิ้น 544 ต้น เพื่อให้ประชาชนได้สัมผัสถึงสภาพความงามของถนนสุขุมวิทแห่งนี้ และปัจจุบันก็ได้มีหลายส่วนที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเช่น หน้าอุทยานเบญจสิริ
ซึ่งทาง กฟน. ก็ได้เผยข้อมูลจากข่าวล่าสุดของแบไต๋ว่า เหตการณ์การตัดสายสื่อสารที่เกิดขึ้นนั้น จริง ๆ เป็นการดำเนินการที่ได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่าย ไม่ได้ดำเนินการโดยพลการ แต่บางครั้งภาคปฎิบัติงานอาจมีการดำเนินการผิดพลาดเนื่องจากสายที่มีจำนวนมาก ทำให้เกิดอินเทอร์เน็ตขัดข้องในกรณีดังกล่าว และพวกเขาจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 ธันวาคมนี้เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยอย่างแน่นอน
ซึ่งทางคุณวันชัย เจียรวัฒนาวิทย์ รองผู้ว่าการเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสาร ก็ได้ให้ข้อมูลกับแบไต๋ว่า ทาง กฟน. มีนโยบายออกมาว่า จะดำเนินการโดยมีการนัดหมายพร้อมกันว่า วันไหนต้องตัด รื้อตรงไหน ถึงจุดไหน โดยต้องมีการทำสายสัญญาณใต้ดินรองรับก่อน เพื่อไม่ให้ลูกค้าหรือประชาชนเดือดร้อนในด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยผู้ประกอบการที่มาตัดสายเขาเข้าใจว่า ได้ย้ายลงหมดแล้ว แต่อาจมีหลงเหลือที่ไม่ได้ย้ายลง ทำให้เกิดเหตขัดข้องขึ้น ซึ่งลูกค้าตามสายสัญญาณแต่ละแห่งนี่มีไม่ต่ำกว่า 50,000 ราย โดยเราก็ได้มีการเดินทูปเพื่อประชาสัมพันธ์ในวันนี้ ซึ่งหากใครที่เกิดปัญหาอินเทอร์เน็ตขัดข้อง ก็สามารถโทรแจ้งได้เลยตามเบอร์ที่ให้ไว้ของทุก Operator
ในส่วนของการที่เรานำเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดินนั้น มีข้อดีมาก ๆ คือจะช่วยให้สายไฟฟ้ามีความทนทานมากขึ้นกว่าเดิมเพราะไม่ต้องโดนแดด โดนฝน และยังไม่ต้องกังวลกรณีเสาไฟฟ้าหักโค่น ทำให้อายุของสายไฟฟ้าจากเดิม 20 ปี กลายเป็นสูงขึ้นมากกว่า 25 ปีแน่นอน และที่สำคัญคือ เราได้ทำการสร้างท่อที่มีขนาดใหญ่พอที่จะสามารถนำสายสัญญาณมาใส่เอาไว้ร่วมกันได้เพราะสายสัญญาณไม่มีไฟฟ้า ทำให้วางคู่กันได้ ไม่ต้องทำท่อส่งเพิ่ม ลดความสิ้นเปลืองเวลาในการดำเนินการเป็นอย่างมาก
ซึ่งหลังจากที่รื้อถอนเสาไฟฟ้าออกไปแล้ว คุณวันชัยยังกล่าวเสริมว่า พื้นที่ ที่ทำการถอนเสาไฟฟ้าออกไปไม่เพียงแค่สวยขึ้น แต่ยังทำให้มูลค่าพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะมันสวย คนก็อยากอยู่ พอคนอยากอยู่ ราคาก็เพิ่มขึ้น และทางการไฟฟ้ายังได้ซัพพอร์ตไทยแลนด์ 4.0 ในด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะแอปฯ MEA Smart Life ที่มีความเก่งยิ่งขึ้น ตัวเดียวจบ ตั้งแต่ขอไฟจนไปถึงจ่ายเงิน ในอนาคตจะสามารถแจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบทันท่วงทีเป็นรายบุคคลได้ แถมจะรองรับการชำระค่าไฟฟ้าด้วยพร้อมเพย์อีกด้วย แนะนำว่าควรโหลดมาใช้งานเพื่อความสะดวกกับคุณ
และในส่วนของเสาไฟฟ้าที่ถูกรื้อถอนไป ทาง กฟน. ก็ได้นำไปทำเป็นแนวป้องกันคลื่น ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการ มีระยะทางรวม 4.7 กิโลเมตร ทั้งนี้เพื่อให้โครงการของ กฟน. เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและสังคม ลดเหตุจากภัยธรรมชาติ สร้างทัศนียภาพที่สวยงามมุ่งสู่การเป็นมหานครแห่งอาเซียน Smart Metro
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ