สื่อดิจิทัล ต้องเปลี่ยนอย่างไรให้เวิร์ค
เมื่อปีก่อนผมอาจหาญเขียนเรื่องทางรอดของทีวีดิจิทัล จุดหลักก็พยายามบอกว่า จะรอดได้ก็อย่าคิดให้เหมือนตัวเองเป็นอนาล็อค แต่ต้องคิดให้เป็นดิจิทัลจริงๆ ประเภทรายการต้องรอให้ทีวีออกอากาศก่อนแล้วค่อยมาลงในสื่อ อันนี้ต้องหมดไปเสียที หมดยุคแล้ว หลังจากนั้นผลก็อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ใครที่ฉีกหนีตัวเองออกไปได้ก็จะชนะในที่สุด
www.istockphoto.com
แต่วันนี้ วันที่เหล่าบรรดาครูบาอาจารย์สายนิเทศก์ศาสตร์บ้านเรา และทั่วโลกกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก ว่าจะสอนเด็กสายสือสารมวลชนไปทางไหนดี ในเมื่อโลกมันยังไม่มีทางออก ในเมื่อวงการสื่อสารมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทำลายทฤษฎีการสื่อสารที่เคยมีอยู่แทบจะ Disrupt กันทั้งบาง
ถามผมวันนี้ว่าโลกการสื่อสารจะออกทางไหน ผมยังตอบไม่ออกเลยครับ แต่ผมพอจะสรุปอะไรบางอย่าง เพื่อเป็นแนวทางในการทำธุรกิจสื่อสารต่อไปได้อย่างนี้ครับ
พฤติกรรมคนมัน deep หรือลงลึกในบางเรื่องมากขึ้น ผิดจากสมัยผมที่เริ่มจากกว้างๆ แล้วค่อยมาลงลึก นั่นหมายถึงคนรุ่นใหม่จะเลือกเสพสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งอย่างจริงจัง อย่างเอาเป็นเอาตาย เรียกว่าเป็นติ่งหรือสาวกกันเลยทีเดียว ดังนั้นเรื่องเฉพาะทาง เรื่องหรือคนที่ทำให้คนติดตามได้จะมีอิทธิพลต่อกลุ่มหรือบุคคลต่างๆ ที่สนใจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้ผลิตเนื้อหาหรือคนที่ทำให้เกิดการติดตามได้ จะกลายเป็น gate keeper แทนสื่อในอดีต
ทิศทางของสื่อแบบ deep จะขยายตัวไปยังสื่อทุกรูปแบบ ทั้งแบบ traditional เก่าๆ ไปถึงสื่อ Social ในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา ยกตัวอย่าง “เทพมุ้ย” หรือธีรศิลป์ แดงดา นักฟุตบอลทีมชาติไทย กองหน้าของสโมสรเอสซีจี เมืองทองยูไนเต็ด ที่ได้สัญญายืมตัว 1 ปี ไปเล่นกับ ซานเฟร่เซ่ ฮิโรชิมา มุ้ยถือว่าเป็นกองหน้าที่เก็บเนื้อเก็บตัว มีความเป็นโลกส่วนตัวสูง แต่แฟนๆ ที่ติดตามกลับอยากมีสื่อที่ติดตามมุ้ยไปญี่ปุ่นด้วยทุกฝีก้าว ยิ่งถ้ามีถ่ายทอดสดตอนซ้อมเช้าเย็น ถ่ายทอดสดตอนไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น ถ่ายทอดสดตอนลงแข่ง แบบมีกล้องติดตามตัวทุกฝีก้าวซ้อนภาพไปพร้อมกับการแข่งขันจริง
ซึ่งคาดว่าเราจะเห็นการสื่อสารแบบนี้ในเวลาอีกไม่นาน จากมุมกล้องหนึ่งตัวเราก็จะเห็นมุมกล้องหลากหลายแบบมืออาชีพ ในสนามจะมีกล้องที่ตามตัวนักเตะเป็นร้อยๆ ตัว ทำให้สาวกหรือติ่งทั้งหลายได้ติดตามกันแบบหนำใจ โลกของการสื่อสารจะระเบิดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ตอบสนองความ deep ของคนอย่างถึงที่สุดเลยทีเดียว และจะมีสาวกเหล่านี้พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อการติดตามความ deep เหล่านี้ซะด้วย
www.istockphoto.com
AI จะทำให้การจัดการสื่อที่ต้องการเสพในชีวิตประจำวันของคนมันง่ายขึ้น พัฒนาการของสื่อยุค traditonal นั้น ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ก็จะต้องปิดหน้าหนังสือกันเป็นช่วงๆ หน้าไหนปิดกี่โมงก็ว่ากันไปแล้วไปพิมพ์ตอนย่ำรุ่งและออกจำหน่ายกันตอนเช้าตรู่ เราก็รอเสพกันไป พอตอนบ่ายตอนเย็นหนังสือพิมพ์ก็ลดคุณค่าลงไป ข่าวทีวีแต่ละช่องก็จะมีเวลาที่แน่นอนตายตัว เพื่อให้ง่ายต่อการผลิตและการติดตาม แต่พอในยุคนี้มันไม่ใช่แล้ว สื่อ social จะมี AI ที่จะส่งสื่อที่อยู่ในแพลคฟอร์มของตัวเองไปให้ผู้บริโภคเลือกชม โดยตรรกะในการเลือกก็ยังผิดๆ ถูกๆ เพราะเลือกตามช่องที่สนใจเท่านั้น
แต่ต่อไปกระบวนการเลือกสื่อจะบวกเรื่องเวลาเข้าไปด้วย มันจะตรงกับเวลาจริงของผู้บริโภค เช่น ผมตื่นหกโมงเช้าทุกวัน แต่กว่าจะได้เสพสื่อต่างๆ คงต้องเริ่มจากเจ็ดโมงเช้าเป็นต้นไป ผมขอตั้งค่าให้ข่าวกีฬาและผลการแข่งขันของเมื่อคืนขึ้นมาในหน้าจอผมก่อน ประเภทไฮไลต์ต่างๆ ต้องขึ้นมาเรียงให้ผมเห็นทุกแมทช์ ทุกลีคที่ผมสนใจ ตามด้วยบทความทางการเมืองในประเทศที่ผมจับตา หลังจากนั้นข่าวเศรษฐกิจต้องมา
ข่าวสารที่มันเคยขึ้นมาสะเปะสะปะในทุกเครื่องมือสื่อสารที่ผมเคยมี จะถูกจัดวางเรียงใหม่ และขึ้นตามความสนใจ จะไม่ขึ้นตามการจัดการของสื่อ ไม่ขึ้นตามเวลาของเจ้าของรายการ คนผลิตไม่ต้องมาคาดเดาว่าเวลานี้คนจะดูอะไร ผู้บริโภคจะเป็นคนเลือกเองและจัดสรรเองว่าเวลาไหนเขาจะดูอะไรเท่าไรอย่างไร จะมี AI ที่ฉลาดในการจัดการเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ดังนั้นหน้าที่ของการทำสื่อนอกจากจะผลิตรายการของตัวเองให้ดีและน่าสนใจแล้ว จะต้องปรับตัวให้เข้ากับเวลาที่ผู้บริโภคเลือกด้วย
www.istockphoto.com
เนื้อหาการสื่อจะถูกซอยย่อย ย่อย และย่อย เพื่อสอดแทรกเข้าไปในสื่อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น หมดยุคแล้วที่จะมาเขียนอะไรยาวๆ เหมือนที่ผมเขียนอยู่นี่ หรือทำรายการโทรทัศน์ยาวๆ ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง คนจะหมดความอดทดในการติดตามต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่สื่อยุคใหม่ต้องทำคือ หั่นเรื่องของตัวเองให้สั้น และแยกมันออกเป็นหลายบทหลายตอน และเป็นอิสระต่อกัน เพราะหากคุณไม่ทำ จะมีคนทำให้และเอาไปตัดต่อหากินเป็นเนื้อหาของตัวเองซะ
และเนื่องจากสารพัดสื่อ สารพัดคนทำ มากมายก่ายกองที่เข้ามาได้อย่างง่ายดาย ทำให้สื่อใหญ่กับสื่อเล็กเริ่มมองไม่เห็นความต่าง ต้นทุน ความชำนาญ มันแทบไม่มีช่องว่างอีกต่อไป ในขณะที่คนสนใจที่มาของข้อมูลว่าใครคือต้นฉบับหรือใครจะไปก็อปปี้มาหรือไม่ คนแค่สนใจว่ามันเป็นข้อมูลที่สนใจหรือไม่ก็พอ
ดังนั้นสื่อทำได้คือ ต้อง deep จนถึนเชื่อมั่นในเรื่องนั้นว่า ถ้าติดตามเรื่องนี้ต้องสื่อนี้เท่านั้น ไม่ต้องสนเรื่อง copy แต่สนเรื่องอัตลักษณ์ และซอยย่อยเนื้อหาในสั้นในแต่ละเรื่อง กระจายให้ออกทุกช่องทาง
จริงๆ ผมอยากเขียนมากกว่านี้ แต่ใช้พื้นที่มากเกินไปแล้ว ว่างๆ ก็ลองติดตามกันต่อนะครับ ยังมีอะไรที่จะให้ติดตามในเรื่องสื่อใหม่กันอีกมากมายเลย