นักวิทยาศาสตร์ปรับ ‘นาฬิกาวันสิ้นโลก’ เข้าใกล้เที่ยงคืน สะท้อนความเสี่ยงจากการสะสมนิวเคลียร์
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำปรับ ‘นาฬิกาวันสิ้นโลก’ หรือ ‘Doomsday Clock’ ให้ใกล้เวลาเที่ยงคืนขึ้นอีก 30 วินาที เพื่อสะท้อนความกังวลที่มากขึ้นเรื่องการเผชิญหน้ากันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ และปัญหาอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ
การปรับครั้งนี้ทำให้เข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกเหลืออีกสองนาทีก่อนเวลาเที่ยงคืน ถือเป็นระดับความเสี่ยงขั้นสูงสุดตั้งแต่ ค.ศ. 1953 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามเย็นกำลังร้อนระอุ
เมื่อปีที่แล้ว นาฬิกาวันสิ้นโลกถูกปรับเข้าใกล้เที่ยงคืนเช่นกัน หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งในครั้งนั้น นักวิชาการกังวลเรื่องที่เขามีท่าทีไม่เอื้อต่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์
ในอดีตเคยมีช่วงเวลาที่ความเสี่ยงต่อเหตุการณ์วิกฤติอยู่ในระดับต่ำ และเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกเคยอยู่ห่างจากเวลาเที่ยงคืนถึง 17 นาที
นักฟิสิกส์ ลอว์เรนซ์ เคราส์ (Lawrence Krauss) จากมหาวิทยาลัย Arizona State ตัวแทนนักวิทยาศาสตร์ในกิจกรรมตั้งเวลาวันสิ้นโลก บอกกับผู้สื่อข่าวที่ National Press Club ที่กรุงวอชิงตัน ว่าคณะทำงานของเขาต้องการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าโลกกำลังเผชิญกับอันตรายอยู่
อาจารย์ชารอน สคาวโซนี (Sharon Squassoni) จากมหาวิทยาลัย George Washington บอกว่า เราอาจได้เห็นการหวนคืนของการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ท่ามกลางประเด็นร้อนเรื่องเกาหลีเหนือ และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้ปรับนาฬิกาวันสิ้นโลกมีชื่อกลุ่มว่า Bulletin of Atomic Scientists ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล 15 คน
นักวิชาการกลุ่มนี้กล่าวในแถลงการณ์ด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังขาดในส่วนที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้
นอกจากความเสี่ยงในเวทีการเมืองโลกแล้ว นักวิทยาศาสตร์เตือนถึงปัญหาอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติหรือ climate change และภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้หุ่นยนต์เป็นอาวุธห้ำหั่นฝ่ายตรงข้าม
ผู้สื่อข่าววีโอเอสอบถามทำเนียบขาวว่ามีความคิดเห็นอย่างไรหรือไม่ เกี่ยวกับการปรับเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกเข้าใกล้เที่ยงคืนมากขึ้น เพราะหลายประเด็นเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวยังไม่แสดงความเห็นโดยทันทีหลังจากที่ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยังสำนักโฆษก
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับนาฬิกาวันสิ้นโลกครั้งนี้ กล่าวว่า ทัศนะของนักวิทยาศาสตร์กลุ่ม Bulletin of Atomic Scientists เป็นสะท้อนความกังวลเกินจริงของนักวิชาการหัวเอียงซ้าย
อาจารย์ชารอน สคาวโซนี ซึ่งมีความรับผิดชอบในงานของรัฐบาลทรัมป์ด้านการยับยั้งการแพร่ขยายของอาวุธ กล่าวว่า “เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่มืดมนและสิ้นหวังเสียทีเดียว”
เธอบอกว่า ประธานาธิบดีทรัมป์อาจต้องการถอยห่างจากการใช้โวหารยั่วยุเกาหลีเหนือได้
ท้ายสุดนักฟิสิกส์ ลอว์เรนซ์ เคราส์ ตัวแทนกลุ่ม Bulletin of Atomic Scientists บอกว่า เป้าหมายหลักของการปรับนาฬิกา คือการเตือนเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้เกิดการหารือกันในกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง