Stick PC พีซีแบบแท่ง ซื้อมาแล้ว เอาไปใช้ยังไงดี?!?
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ ประสิทธิภาพและความสามารถของหน่วยประมวลผลก็มีมากขึ้นตาม จนเรียกว่าเวอร์เกินความต้องการของหลายๆ คน ที่ต้องการเพียงการใช้งานขั้นพื้นฐานอย่างท่องเว็บ ใช้งานโซเชียลมีเดีย ดูหนังฟังเพลง ประกอบกับการรุกรานตลาดจากฝั่งอุปกรณ์พกพา ที่มีขนาดกะทัดรัด กินไฟน้อย จึงเป็นที่มาที่พีซีหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลต้องปรับตัว วิวัฒนาการให้มีขนาดเล็กลง กินไฟน้อยลง ในขณะที่ยังคงความสามารถในการใช้งานไม่แพ้เครื่องพีซีทั่วๆ ไป ... ซึ่งล่าสุด เครื่องพีซีก็กลายเป็นลักษณะแท่งคล้ายๆ กับแฟลชไดร์ฟไปแล้ว โดยอินเทลได้นำเข้ามาเปิดตัวในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Intel Compute Stick ครับ
ไม่เพียงแต่อินเทลเท่านั้น ค่ายผู้ผลิตพีซีอื่นๆ ต่างก็ขานรับกับรูปร่างใหม่ของพีซีด้วยการออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ของตนเองออกมา เช่น Lenovo ก็มี IdeaCentre Stick 300 (สนนราคา $129) ซึ่งจะมีกำหนดการวางจำหน่ายในเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วน ASUS เองก็มี Pen Stick ที่เตรียมวางจำหน่ายในไตรมาส 4 ของปีนี้ พร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows 10 ในราคา $150 ... ดูๆ แล้ว ก็เหมือนจะเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจมากทีเดียว แต่คำถามมีอยู่ว่า ท้ายที่สุดแล้ว พีซีในรูปแบบ Stick แบบนี้ มันเวิร์กหรือไม่เวิร์กอย่างไร แล้วเราๆ ท่านๆ ผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไป เอามาใช้ จะเวิร์กไหม?!? จากประสบการณ์ที่ได้ใช้งาน Intel Compute Stick มาพักใหญ่ๆ ก็เลยอยากเอามาเล่าสู่กันอ่านครับว่าพีซีในรูปแบบ Stick นี้ เหมาะกับการใช้งานในรูปแบบไหน อย่างไร
Stick PC พีซีพกพาสะดวกสำหรับการนำเสนอ แต่นำไปใช้ยุ่งยากหน่อย
สำหรับหลายๆ คน ความต้องการพีซีที่พกพาสะดวก ก็เพื่อที่จะได้หิ้วไปใช้งานด้านการนำเสนอ เช่น เซลส์แมนที่ต้องไปนำเสนองานกับลูกค้า หรือ วิทยากรที่ไปบรรยายตามที่ต่างๆ ... ภายใต้การใช้งานในรูปแบบนี้ จะใช้โน้ตบุ๊ก หรือ Stick PC ก็ไม่แตกต่างกัน คือ ต้องเสียบกับจอแสดงผลภายนอก หรือ ต่อกับโปรเจ็คเตอร์ เพื่อขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น จะได้เห็นกันชัดๆ และการใช้งานในรูปแบบนี้ ไม่ได้ต้องการเนื้อที่เก็บข้อมูลอะไรมากนัก ฉะนั้น การใช้ Stick PC จึงค่อนข้างสะดวกในการพกพามากกว่า
ภาพ: Microsoft
เพียงแต่ Stick PC นั้นจะไม่มีอุปกรณ์อินพุตอะไรเลย ต้องหาอุปกรณ์มาต่อพ่วงเอา ซึ่งตรงนี้เราสามารถหาพวกบลูทูธคีย์บอร์ด/เมาส์ มาต่อพวงเอาได้ มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อมาก มีทั้งแบบแยกกัน หรือแบบที่มีทั้งคีย์บอร์ดและทัชแพดในตัวเองก็มี สนนราคาก็จะอยู่ที่หลักพันกว่าบาทจนถึงสองสามพันบาท แล้วแต่รุ่นและยี่ห้อ ... ซึ่งหากเทียบระหว่างโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ กับ Stick PC แล้ว ต่างก็ไม่มีพอร์ต VGA ไว้ต่อกับโปรเจ็คเตอร์รุ่นเก่าๆ แล้ว ก็ต้องหาตัวแปลงมาเสริมด้วย เพียงแต่ตัว Stick PC นั้น ต้องหาตัวแปลงจากตัวผู้ (Male) มาเป็นตัวเมีย (Female) เพราะพวก HDMI-to-VGA dongle นั้น จะมีพอร์ต HDMI แบบตัวผู้ และเอาท์พุต HDMI ของ Stick PC ก็เป็นพอร์ต HDMI แบบตัวผู้ด้วยนั่นเอง
และด้วยความที่กินไฟต่ำมาก ส่วนใหญ่แล้ว Stick PC จะใช้ไฟแค่ 5 โวลต์ 2 แอมป์เท่านั้น ซึ่งก็ประมาณแท็บเล็ตทั่วๆ ไปเราดีๆ นั่นเอง และมักจะใช้สาย Micro USB ในการจ่ายไฟได้เลย ฉะนั้นเราจึงใช้พวกอะแด็ปเตอร์ไฟของแท็บเล็ตในการจ่ายไฟให้กับ Stick PC ได้เลย หรือในกรณีที่ไม่มีปลั๊กไฟอยู่ใกล้ๆ จริงๆ พวกพาวเวอร์แบงก์ที่จ่ายไฟได้ 2.1 แอมป์ก็สามารถนำมาใช้จ่ายไฟให้กับ Stick PC ได้เลย
Stick PC อุปกรณ์บันเทิงและอุปกรณ์ทำงานสำหรับพกพายามท่องเที่ยว
สำหรับหลายๆ คน เวลาไปเที่ยวก็พักตามโรงแรมครับ โรงแรมสมัยนี้ ขนาดราคาแบบประหยัด ก็ยังมีพวกโทรทัศน์ไว้ให้ดู และส่วนใหญ่ก็เป็น LCD TV กันหมดแล้ว ซึ่งต่างก็มีพอร์ต HDMI มาให้ด้วย ฉะนั้นการพกพา Stick PC ไปด้วย ก็เท่ากับว่าเรามีเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้พร้อมใช้งาน โดยไม่ต้องแบกโน้ตบุ๊กให้หนักเวลาท่องเที่ยว ... โดยในกรณีนี้ก็อาจจะต้องหาฮาร์ดดิสก์ภายนอกมาใช้ร่วมด้วยซักหน่อย หรือจะให้ดี ใช้เป็น Wireless HDD ไปเลยก็ได้ เพื่อจะได้มีเนื้อที่เก็บข้อมูลเยอะๆ
อยู่กับบ้าน ใช้ Stick PC แปลงโทรทัศน์เป็นสมาร์ททีวี
หลายๆ คน (รวมถึงผม) เลือกที่จะประหยัดงบด้วยการซื้อโทรทัศน์แบบธรรมดาๆ มากกว่าไปสอยสมาร์ททีวีราคาหลายหมื่นมา ตัดสเปกความเป็น "สมาร์ท" ออกไป มักจะประหยัดเงินไปได้หมื่นกว่าบาทเลยทีเดียว และบางคนมีโทรทัศน์อยู่หลายห้อง ถ้าทุกห้องต้องเป็นสมาร์ททีวีหมด เปลืองตังค์แย่ ... ในทางกลับกัน ซื้อโทรทัศน์ธรรมดาๆ มา แล้วเสียบ Stick PC เพื่อแปลงโทรทัศน์ธรรมดาๆ ให้กลายเป็นสมาร์ททีวี ดูจะเป็นทางเลือกที่ประหยัดกว่า ใช้ๆ อยู่ในห้องนั่งเล่น แล้วเกิดอยากขึ้นไปนอน ก็ชัตดาวน์แล้วถอดไปเสียบกับโทรทัศน์ในห้องนอนได้สบายๆ
อย่างไรก็ดี ในขณะนี้สนนราคาของ Stick PC ก็ยังเรียกว่าไม่ใช่ถูกๆ อยู่ ... ราคาของ Intel Compute Stick ที่วางจำหน่ายอยู่ตอนนี้ ถ้าผมจำไม่ผิดก็ 5,890 บาท ซึ่งเรียกว่าใกล้เคียงกับพวกแท็บเล็ตที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows 8.1 ของพวก House brand หลายๆ ยี่ห้อ หลายๆ รุ่น แต่พวกแท็บเล็ตนี่กลับจะครบเครื่องกว่า คือ มีทั้งจอแสดงผล บางยี่ห้อแถมชุดคีย์บอร์ดให้อีก พร้อมใช้งานกว่า ... ฉะนั้น ในแง่ของการพิจารณาซื้อหาไปใช้งาน เลยน่าคิดหนักหน่อย
หากใครมีความสนใจจะซื้ออุปกรณ์จำพวก Stick PC ผมก็อยากแนะนำว่ารออีกซักพัก ให้มีค่ายอื่นๆ เขานำเข้ามาจำหน่ายมากกว่านี้ เช่น รอดูท่าทีว่า Lenovo และ ASUS ในประเทศไทยว่าจะเอาเข้ามาจำหน่ายไหม เพื่อให้มีทางเลือก และมีราคาที่ถูกลงครับ ... ผมมองว่า Stick PC นั้นดีทั้งในฐานะอุปกรณ์เพื่อความบันเทิง และอุปกรณ์พกพาเพื่อใช้ทำงานนอกสถานที่ แต่ด้วยสนนราคาแล้ว มันยังมีทางเลือกอื่นที่ให้เราพิจารณาได้อยู่น่ะครับ