รีวิว Pebble Time นาฬิกาอัจฉริยะ ที่ฮือฮามากบน Kickstarter
3 ปีก่อน Smartwatch ตัวนึงสร้างเสียงฮือฮาบน Kickstarter เว็บไซต์ Crowdfunding ชื่อดัง ด้วยการระดมทุนเข้าโครงการได้มากถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ ณ ตอนนั้นผมยังรู้สึกว่า Pebble ยังเป็นอะไรที่ไม่สุด เลยไม่ได้เข้าไปเป็นหนึ่งใน Backer (จริงๆ ในตอนนั้นผมมองว่า Wearable device อย่างนาฬิกา มันยังไม่พร้อม) ซึ่งแม้ว่ามันจะยังมีข้อจำกัด แต่ Pebble ก็พิสูจน์ตัวเองในฐานะ Smartwatch ได้อย่างประสบความสำเร็จ … ฉะนั้นเมื่อมีการระดมทุน เพื่อผลิต Pebble Time ที่เป็นภาคสองต่อจาก Pebble ผมจึงไม่ลังเลที่จะเป็น Backer สำหรับโครงการนี้เลย
และเมื่อเร็วๆ นี้ ของมันก็มาถึงมือของผมจนได้ และหลังจากได้ลองใช้มาประมาณ 1 สัปดาห์เต็มๆ ก็ได้เวลาที่ผมจะเก็บเอาประสบการณ์ในการใช้งานมาเล่าสู่กันอ่านซะทีครับ
Pebble Time หน้าตาดีขึ้นเยอะ
ปัจจัยนึงที่ทำให้ผมไม่ซื้อ Pebble รุ่นแรก (แม้ผมจะพยายามไปเมียงๆ มองๆ ตัวที่วางจำหน่ายจริงแบบ Commercial ไม่ใช่รุ่น Kickstarter Edition แต่ก็ตัดใจซื้อไม่ได้) ก็เป็นเรื่องดีไซน์ที่ยังไม่รู้สึกว่าโดนใจครับ ตอนหลัง Pebble เขาเปิดตัว Pebble Steel มา ดูดีขึ้น แต่ว่าราคาก็ย่อมแพงกว่า และผมเองก็ไม่ได้ชอบนาฬิกาสายโลหะซักเท่าไหร่ แต่ในรุ่น Pebble time นี่ ดีไซน์ดูดีขึ้นมากทีเดียวครับ
ตามสไตล์ของ Pebble นั้น มีสีให้เลือกหลากหลายอยู่ ซึ่งใน Kickstarter Edition เขามีให้เลือกสามสี คือ ดำ แดง และ ขาว … แน่นอน สำหรับผม จะถูกจะแพง ขอแดงไว้ก่อน มันดูเด่นดี
ในฐานะของ Kickstarter Edition กล่องของ Pebble Time เลยพิเศษหน่อยครับ เป็นกล่องยาวๆ แบบนี้ ส่งมาด้วย DHL (แต่หาก Backer อยู่ต่างจังหวัด ก็จะต้องเผชิญกับบริการส่งต่อของไปรษณีย์ไทยนะครับ) ตัวกล่องเขียนว่า it’s time ซึ่งเป็นการเล่นคำของ Pebble เขา เพราะมันแปลได้ว่า ถึงเวลาแล้ว และในขณะเดียวกัน มันก็แปลได้ว่า มันคือ (Pebble) time ครับ
คนที่เป็น Backer ของ Pebble Time ในรุ่น Kickstarter Edition ก็ต้องคิดไว้ก่อนเลยว่าคงไม่ขายต่อให้คนอื่น (รึเปล่า?!?) เลยไม่อาจคาดหวังได้ว่าจะได้กล่องดีๆ แบบ Commercial edition นะครับ แกะออกมาแล้ว มันปิดกลับไปดีๆ เหมือนเดิมไม่ได้เลยอ่ะ
ภายในกล่อง มีตัว Pebble Time ติดพลาสติกกันรอยมาให้ (แต่เวลาจะใช้งานก็ควรต้องแกะออกก่อนนะ) มีสายชาร์จอีกเส้น และคู่มือ … แต่ไม่มีตัว Wall charger มาให้นะครับ
Pebble Time มีด้วยกัน 4 ปุ่มครับ ด้านซ้ายจะมีปุ่มนึง ด้านขวาจะมี 3 ปุ่ม … ด้านซ้ายปุ่มเดียว จะเป็นปุ่มที่ทำหน้าที่เหมือนปุ่ม Back ครับ ส่วนด้านขวาสามปุ่ม ปุ่มตรงกลางจะอารมณ์เหมือนปุ่ม OK และปุ่มอันบนกะล่าง ก็ทำหน้าที่เหมือน ขึ้นและลง ตามลำดับ … โครงสร้างการทำงานของปุ่มก็ประมาณนี้
หน้าจอแสดงผลของ Pebble Time เป็นแบบ E-Paper แบบสีครับ พัฒนาจากเวอร์ชันก่อนที่เป็นแบบ ขาว-ดำ ทำให้มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น และเนื้อหาต่างๆ สำหรับ Pebble Time มากขึ้น และด้วยเทคโนโลยี E-Paper จึงมีจุดเด่นสองเรื่องคือ มันเห็นชัดแจ๋วเลย แม้จะอยู่กลางแดดจ้า ซึ่งผิดกับพวกจอ AMOLED หรือ LCD และอีกเรื่องคือกินพลังงานแบตเตอรี่ต่ำมากครับ
แต่ E-Paper ที่ Pebble Time ใช้ ก็มีข้อจำกัดสำคัญสองเรื่องเช่นกัน คือ ความสามารถในการเปลี่ยนภาพไม่สูงมาก ไม่สามารถแสดงผลสีสันได้มาก และมันไม่สว่างในที่มืดเลย ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมี Backlight ไว้คอยส่องสว่าง … หากใครนึกภาพไม่ออกว่ายังไง ให้นึกถึงนาฬิกา LCD อ่ะครับ ที่มืดๆ มันมองไม่เห็น ต้องเปิด Backlight ดู
ด้านล่างของปุ่มทางด้านขวา เห็นมีไมโครโฟนเล็กๆ อยู่นะ ไม่ได้เอาไว้สำหรับใช้คุยโทรศัพท์แต่อย่างใด เพราะมันไม่ได้มีลำโพง ฉะนั้นอย่าคิดว่าจะใช้ Pebble Time ในฐานะ Speaker phone ได้เหมือนพวก Smartwatch บางยี่ห้อ … ซึ่งตรงนี้ผมเข้าใจ เพราะเป้าหมายหลักของ Pebble Time คือ เป็น Smartwatch ที่แบตเตอรี่อึดมากกว่า
สายนาฬิกา เป็นสายซิลิโคนนิ่มๆ ครับ ดูแล้วเป็นสายมาตรฐาน ฉะนั้นใครที่ไม่ชอบสายของ Pebble Time ก็สามารถหามาเปลี่ยนได้ เพราะเป็นขนาด 22 มม. ที่เป็นมาตรฐานของสายนาฬิกาอยู่แล้ว และตัวสายที่มากับ Pebble Time ก็ออกแบบมาให้แกะออกได้สะดวก โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์มาช่วยเลย
ด้านหลังของ Pebble Time จะมีตัว Connector เอาไว้ชาร์จแบตเตอรี่อยู่ แล้วก็มีชื่อ Pebble สลักไว้ และหากใครเป็น Backer ของ Kickstarter ก็จะได้ชื่อ Kickstarter Backer สกรีนไว้ด้วย (ถ้าใครเป็น Backer มาตั้งแต่รุ่นก่อนก็จะได้ข้อความแตกต่างออกไป)
ตัว Connector นี่ ไม่ได้เอาไว้ใช้แค่ชาร์จแบตเตอรี่นะ มันสามารถเอาไว้เป็น Data connector ที่ทาง Pebble เตรียมช่องทางสำหรับคนที่คิดจะทำสายนาฬิกาแบบที่เรียกว่า Smart strap เอาไว้ด้วยครับ
หลายๆ คน เห็น Pebble Time แล้ว ก็จะรู้สึกว่า มันดูเหมือนของเล่นเด็กไป … อันนี้ผมว่านานาจิตตังนะครับ เพราะสำหรับคนที่แต่งตัวแบบ Casual แล้ว ผมว่า Pebble Time มันก็เข้าคู่กับการแต่งกายดี (ขอให้เลือก Watchface ดีๆ หน่อยก็แล้วกัน) แต่หากใครอยากดูดีไฮโซ ก็ลอง Pebble Time Steel ที่ตัวเรือนเป็นโลหะก็ได้นะครับ (มีใน Kickstarter Edition แต่ว่ายังไม่เห็น Pre-order นะ)
ลอง เล่น เล่า Pebble Time
ก่อนอื่นเลย แบตเตอรี่ที่มากับตัวเครื่องอยู่ที่ราวๆ 40% ครับ เมื่อเปิดใช้งาน ก็พร้อมเล่นได้เลย แต่ใครจะเลือกชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มก่อนแบบผมก็ได้นะ จากนั้นเตรียมพร้อมสมาร์ทโฟนเอาไว้ จะเป็น Android หรือ iOS ก็ไปดาวน์โหลดแอปมาติดตั้งซะ บน Android ใช้ชื่อว่า Pebble Time ส่วน iOS ใช้ชื่อ Pebble Time Watch (อย่าไปดาวน์โหลดแอปสำหรับ Pebble รุ่นก่อนมาล่ะ)
การเชื่อมต่อไม่ยาก เปิดแอปมา กดเชื่อมต่อ เดี๋ยวก็เรียบร้อยเอง … ถ้าไม่มีอะไรขัดข้อง ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็เรียบร้อยแล้วครับ … จากนั้น สำหรับคนไทยแล้ว ผมว่าที่ต้องทำต่อมาก็คือลงภาษาไทยครับ … ใช่เลย Pebble Time ไม่รองรับภาษาไทยมาตั้งแต่ต้น ก็เหมือนกับ Pebble Watch ตัวก่อนนั่นแหละ เพียงแต่งวดนี้การลงภาษาไทยมันง่ายกว่ารุ่นก่อน ที่ต้องทำ Firmware มาลงเอง
ไปอ่านบล็อกที่ pittaya.com ครับ มันจะมีไฟล์ Thai Language Pack ให้ดาวน์โหลด ไฟล์ไม่ใหญ่มาก ลองดาวน์โหลดจากสมาร์ทโฟนเครื่องที่เชื่อมต่อกับ Pebble Time อยู่ก่อนเลย มันจะเปิดแอป Pebble Time ขึ้นมาแล้วบอกว่าจะติดตั้ง Language Pack ไหม ตอบ OK ไป แล้วเดี๋ยวก็เรียบร้อย
แต่หากมันไม่ขึ้นหน้าจอ Installing (ที่ต้องวิ่งจาก 0 ไปถึง 100) มาให้ ก็เปิดคอมฯ ครับ ดาวน์โหลดไฟล์มา แล้วอัพโหลดไปที่ Dropbox ของเรา (ถ้าเราไม่มี ก็สมัครซะนะ) หรือจะใช้ Google Drive ก็ได้ จากนั้น ใช้ไปดาวน์โหลดไฟล์กลับมาเก็บไว้ในสมาร์ทโฟน แล้วค่อยเปิดไฟล์ขึ้นมา แอป Pebble Time ก็จะติดตั้ง Language Pack ได้
ติดตั้งเสร็จ ภาษาไทยก็พร้อมเลยครับ เท่าที่ดู แสดงผลได้ครบถ้วนดี ไม่มีปัญหา จะติดก็แค่ฟ้อนต์ตัวหนา และไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ … แต่ก็แสดงผลภาษาไทยควบคู่กับภาษาอังกฤษได้ครบถ้วนดี
ผมลองอีกนิดครับ … อยากรู้ว่ามันจะแสดงผลแบบหลากหลายภาษาในคราวเดียวได้ไหม เลยลองติดตั้ง Language Pack ภาษาจีนเข้าไปอีก ปรากฏว่ามันเหมือนกับจะไปทับ Language Pack ภาษาไทยเลยครับ คราวนี้เลยอ่านภาษาไทยไม่ออก
ผมไม่แน่ใจเรื่องโครงสร้างของ Language Pack เลยไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถทำ Language Pack ที่รองรับทั้งภาษาไทยและจีน และหรือภาษาอื่นๆ อีกหลายๆ ภาษา ลงไปติดตั้งในคราวเดียวได้ไหม หรือว่าจริงๆ แล้ว Pebble Time รองรับแค่สูงสุดทีละสองภาษา?!?
จริงๆ แล้วทีมงานของ Pebble เขาสัญญาว่า Pebble Time นี่จะรองรับภาษาจีนมาตั้งแต่ต้น แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีอัพเดตมาให้รองรับภาษาจีนครับ
ตัวแอป Pebble Time (ผมใช้บนระบบปฏิบัติการ Android) จะให้เราสามารถปรับตั้งค่าสำหรับแอปต่างๆ ที่มีบน Pebble Time ได้ ให้เราเลือกได้ว่าจะให้แสดงการแจ้งเตือนจากแอปอะไรบนสมาร์ทโฟนของเราบ้าง ซึ่งจากที่ดู มันเลือกได้ค่อนข้างจะละเอียดไปหน่อย (ฮา) เลยอยากแนะนำว่า ให้เอาที่เลือกไว้ออกทั้งหมด จากนั้นค่อยไล่รายชื่อว่าจะให้แสดงอันไหนบ้างทีละอันดีกว่า
ความแตกต่างจากพวก Smartwatch อื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาด โดยเฉพาะกับพวกที่ผลิตโดยแบรนด์ใหญ่ๆ ก็คือ มันไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ใช้ได้ทั้งกับ Android และ iOS แถมพิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่ามีคนสนใจใช้ไม่น้อย จึงมีคนทำทั้ง Watchface และแอปต่างๆ ให้ดาวน์โหลดเยอะ … แต่ว่าจะดาวน์โหลดอะไรก็ต้องดูหน่อยนะ ว่าแอปตัวนี้ใช้คู่กับสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการอะไร บางตัวใช้ได้ทั้งคู่ บางตัวต้องใช้กับสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการ Android หรือ iOS เท่านั้น
แต่ว่าตัว User Interface ของ App store ของ Pebble Time นี่มันเรียบง่ายเกินไปหน่อยครับ คือ ใช้งานไม่ยากนะ แต่การไล่หาชื่อแอปไปเรื่อยๆ และการหาแอปที่ต้องการ มันยังไม่ได้ดั่งใจซักเท่าไหร่ (ซึ่งในกรณีของ App store ที่ผมว่าหาอะไรได้ดั่งใจสุด น่าจะเป็น Google Play Store นี่แหละ)
แต่ในการใช้งาน อย่างเพิ่งคิดว่า Pebble Time นี่จะลูกเล่นไฮโซแบบพวก Smartwatch จากแบรนด์ดังๆ อย่าง Samsung อะไรแบบนี้นะครับ … มันไม่ได้ลูกเล่นแพรวพราวขนาดนั้น … แนวคิดของ Pebble Time ก็ยังคงเหมือนกับ Pebble อยู่ คือ เน้นการใช้งานในฐานะ Companion หรือ เป็นคู่หูกับสมาร์ทโฟนของเรา เอาไว้สำหรับแจ้งเตือนต่างๆ และในขณะเดียวกันก็มีแอปเล็กๆ น้อย เอาไว้ดูข้อมูลนิดๆ หน่อยๆ ได้ โดยมีแบตเตอรี่ที่อึดถึกระดับใช้งานได้เป็นสัปดาห์ค่อยชาร์จแบตเตอรี่ซักที
จากที่ได้ใช้งานมาสัปดาห์เต็มๆ ก็ต้องขอบอกว่าสมแล้วที่ Pebble Time ได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งเป็น Pebble Watch และเป็น Smartwatch ที่มีแนวโน้มอนาคตค่อนข้างดี … แต่ใครที่คาดหวังลูกเล่นแพรวพราว คงไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ … และอย่าเพิ่งคาดหวังว่าจะมีแอปโน่นนี่นั่นใช้งานได้เยอะแยะ เพราะจากที่ผมลองเล่นมา ผมพยายามหาแอปมาลง แต่ก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจมากมาย (หรือรสนิยมผมจะสูงไปหว่า)
ปัญหานึงที่ผมเจอในการใช้งานคือ ตัว Connector สำหรับสายชาร์จ มันติดไม่ค่อยสนิทดีเท่าไหร่ แม้จะมีระบบแม่เหล็ก แต่อย่าคิดว่ามันจะเหมือน Magsafe ของเครื่อง Macbook นะครับ เวลาจะเสียบชาร์จ ต้องให้มั่นใจก่อนว่ามันเสียบติดจริงๆ หน้าจอต้องขึ้นว่า Charging อยู่ … อีกปัญหาก็คือ ผมเจออยู่สองหน ที่ตอนชาร์จแบตเตอรี่แล้ว มันขึ้นว่าชาร์จเต็ม แต่พอดึงสายชาร์จออก แบตเตอรี่กลับเหลือไม่ถึงครึ่ง เหมือนกับว่ามันไม่ได้ชาร์จแบตเตอรี่เข้าไปเลย ซึ่งตรงนี้ผมลองไปสอบถามใน Forum แล้ว ก็มีคนมีปัญหาคล้ายๆ กันนี้อยู่บ้าง … ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงสุดๆ แต่ก็ควรรู้เอาไว้น่ะครับ
บทสรุปการรีวิว Pebble Time
เป็น Companion ที่ดีครับ แต่ผมก็ยังคิดอยู่ว่าจะใส่จนชินได้นานแค่ไหน หลังจากที่ลองมาก็หลายตัวแล้ว ทั้งของแบรนด์อย่าง Samsung Galaxy Gear (ทั้ง 1, 2, Fit และ S) ทั้งแบบที่เป็น Android smartwatch แบบเต็มๆ (Neptune Pine) ทั้ง Android wear (Moto 360) แต่มันก็คือ Smartwatch ที่พิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่ามีคนสนใจเยอะจริงๆ ฉะนั้นหมดห่วงเรื่องแอปได้
ตอนนี้ยังไม่ขายอย่างเป็นทางการ มีแค่ให้ Pre-order อยู่ สนนราคาค่าตัว $199 หรือประมาณเกือบๆ หกพันบาท มันก็อาจจะทำให้เราไปมองๆ หาดูตัวเลือกอื่นๆ บ้าง อย่างเช่น หากยังหา Samsung Galaxy Gear Fit ได้ มันก็เป็น Smartwatch ที่สวย และเป็น Companion ที่ดีตัวนึง และ ณ ตอนนี้ก็มีราคาขายที่ถูกกว่าแล้วด้วยล่ะ (ถ้ายังหาได้นะ)
แต่ Pebble Time มีจุดเด่นอย่างนึงก็คือ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และสามารถใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ Android หรือ iOS ก็ได้น่ะ facebook down .