อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีออกโรงเตือน เฟซบุ๊กและเทคโนโลยีอาจเป็นภัยต่อเด็ก
บรรดาสมาชิกเก่าของย่าน "ซิลิคอน วัลเลย์" พากันออกมาเตือนถึงผลกระทบที่โลกโซเชียลมีต่อเด็กๆ ว่า อาจทำให้เกิดการเสพติดเทคโนโลยี นอนไม่หลับ มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า แยกตัว เกิดโรคอ้วน ไปจนถึงมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
โดยได้กล่าวว่า เฟซบุ๊กควรมีการตัดสินใจที่คำนึงถึงเด็กๆ บ้าง เพราะมีเด็กเป็นล้านๆ ที่ใช้เฟซบุ๊กในตอนนี้ คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้มีหลายฝ่าย ทั้งอดีตผู้ที่ทำงานในย่านซิลิคอนวัลเลย์ (ซึ่งมีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมากมาย แน่นอนว่ามี เฟซบุ๊กรวมอยู่ด้วย) และพวก Whistleblowers ที่เคยทำงานในองค์กร และนำสิ่งน่าเคลือบแคลงที่ซุกใต้พรมออกมาออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ
www.istockphoto.com
เริ่มจาก James Steye ผู้บริหารระดับสูงและผู้ก่อตั้งองค์กรไม่หวังผลกำไร เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีและสื่อที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ที่วิจารณ์บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook, Google และ Twitter ว่า “ดีแต่พูดทั้งนั้น ลองแสดงออกมาเป็นการกระทำให้เห็นดีกว่า” พร้อมกับวิงวอนไปยัง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก และ เชอริล แซนด์เบิร์ก (Sheryl Sandberg) รองประธานฝ่ายปฏิบัติการของเฟซบุ๊กว่า “มาร์กและเชอริลเป็นคนดีนะ เป็นพ่อแม่คนด้วย ก่อนตัดสินใจอะไร พวกเค้าต้องคำนึงลูกๆ ตัวเองบ้างล่ะน่า”
ทางฝ่าย โรเจอร์ แมคนามี (Roger McNamee) นักลงทุนรายแรกของเฟซบุ๊ก กล่าวว่า “สิ่งที่ผมอยากให้(เชอริล)ทำ คือ เห็นคุณค่าและเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆ ถ้าคุณมองผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเป็นแหล่งหากำไร คุณไม่มีทางสร้างอะไรดีๆ ให้โลกได้หรอก” ซึ่งขณะนี้แมคนามี และอดีตลูกจ้างในแวดวงเทคโนโลยี ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อนตั้ง Center for Humane Technology เพื่อเป็นศูนย์เทคโนโลยีที่มีมนุษยธรรม กำลังออกมาเตือนถึงภัยร้ายของสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย ที่ส่งผลต่ออารมณ์และพัฒนาการด้านสติปัญญาของคนในยุคนี้
หรือซีอีโอของเซลส์ฟอร์ซ ดอทคอม (Salesforce) มาร์ค เบนิออฟ (Marc Benioff) ก็ออกมาพูดเปรียบเทียบเมื่อเดือนก่อนว่า “เฟซบุ๊กก็ไม่ต่างอะไรกับบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ เพราะมันทำให้คนเสพติดและเป็นอันตรายเหมือนกัน”
ซึ่งแมคนามีได้กล่าวเสริมเรื่องประเด็นนี้ว่า “ในยุคหนึ่งการตลาดทำให้คนโดยเฉพาะผู้หญิงเชื่อว่า การสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่ดี” ในการสัมมนา Truth About Tech ที่วอชิงตันเมื่อวันพุธที่ผ่านมาเขายังได้พูดถึงประเด็นว่า ครูในโรงเรียนเลือกมอบหมายงานและการบ้านให้นักเรียนผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งนั่นทำให้เด็กๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้เฟซบุ๊กได้เลย
www.istockphoto.com
ทริสตัน แฮร์ริส (Tristan Harris) อดีตผู้วางจรรยาบรรณ (Ethicist) การออกแบบของ Google และผู้ก่อตั้ง Center for Humane Technology ถือเป็นคนหลักที่ออกมาเปิดเผยพฤติกรรมของเหล่าบริษัทในซิลิคอนวัลเลย์ต่อสาธารณะ พร้อมกับพูดว่า บางอย่างที่บริษัทเหล่านี้ทำ มันไม่โอเคเลย “อย่างบริการ Gmail ของ Google มันคือการปล้นความคิดและตัวตนเราไปชัดๆ”
ในการสัมภาษณ์แฮร์ริสยังได้ยกตัวอย่างแอพลิเคชัน Snapchat ซึ่งกำลังดังไปทั่วโลก มีสัญลักษณ์ที่เรียกว่า Snapstreak ซึ่งบ่งบอกว่า เรากับเพื่อนใน Snapchat คนนั้นติดต่อกันมาต่อเนื่องกี่วันแล้ว ซึ่งตัวเลขจะมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนวัน แต่หากขาดการติดต่อไปเกิน 24 ชม. ตัวเลขจะเริ่มนับ 1 ใหม่ทันที “มันทำให้วัยรุ่นที่ใช้มันรู้สึกว่า ต้องทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ หยุดไม่ได้ มันจะเกาะกินพวกเขา ไปจนถึงจุดที่สามารถกำหนดนิสัยและความหมายของมิตรภาพว่า จะไม่ใช่เพื่อนกันอีกต่อไปหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ยอม Streak ต่อ”
www.istockphoto.com
แซนดี้ พาราคิลัส (Sandy Parakilas) ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการในทีมเฟซบุ๊กกล่าวว่า “ความเห็นของผมก็คือ พวกเขาปฏิบัติต่อต่อเด็กๆ บนพื้นฐานที่ว่า เด็กเหล่านี้จะมีโอกาสกลายมาเป็นลูกค้าให้เร็วที่สุดได้อย่างไร ซึ่งผมไม่คิดว่าบริษัทเหล่านี้ควบคุมตัวเองนะ หากไม่มีแรงกดดันจากภายนอก”
อาซะ ราสกิน (Aza Raskin) คนเก่าคนแก่จากมอซิลลา ไฟร์ฟอกซ์ (Mozilla Firefox) ผู้กลายมาเป็นหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของ Center for Humane Technology กล่าวว่า “สุดท้าย มันทำให้เด็กๆ มองตัวตนและคุณค่าในตัวเอง โดยวัดจากแค่ยอดไลค์ที่ได้” ราสกินบอกว่า บางทีเทคโนโลยีก็ร้ายกว่าโรงงานบุหรี่ซะอีก “บุหรี่อาจจะทำให้เราติด แต่มันก็ไม่ได้มารู้อะไรเกี่ยวกับตัวตนหรือพฤติกรรมของเรา ลองนึกถึงอีกสามหรือห้าปีข้างหน้าที่โลกดิจิตัลรู้จักคุณทุกซอกทุกมุมดูสิ มันเหมือนกับคุณเล่นหมากรุกกับ AI แล้วมันก็ชนะเรียบทุกตา มนุษย์ไม่ได้พัฒนาไปไหนเลย”