"เพนตากอน" หวั่นแอปฯออกกำลังกายอาจเผยแพร่ข้อมูลที่ตั้งฐานทัพสหรัฐฯ
สหรัฐฯ กังวลเรื่องการใช้แอปออกกำลังกาย หลังพบว่ามีการเเสดงที่ตั้งของฐานทัพอเมริกันเผยแพร่ทางออนไลน์
กลาโหมสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน (Pentagon) กำลังทบทวนแนวปฏิบัติ หลังจากบริษัท สตราวา (Strava) เผยเเพร่ Heatmap ทางออนไลน์ แสดงจุดที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ
เเถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชี้ว่าทางกระทรวงให้ความสำคัญอย่างมากต่อเรื่องที่เกิดขึ้น เเละกำลังทบทวนสถานการณ์เพื่อดูว่าควรมีการฝึกอบรมหรือออกเเนวปฏิบัติใหม่เพิ่มเติมแก่เจ้าหน้าที่หรือไม่
แถลงการณ์นี้ยังชี้ด้วยว่า ข้อมูลจากแอปพลิเคชั่นออกกำลังกายที่เปิดเผยออกมาล่าสุดนี้ เน้นให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ หรือทหาร ต้องตระหนักต่อผลกระทบที่ตามมา หากมีการเเชร์ข้อมูลส่วนตัวทางออนไลน์หรือทางแอปพลิเคชั่น
เเละยังย้ำด้วยว่า การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทหารประจำปีได้เเนะนำว่าเจ้าหน้าที่ควรจำกัดการเผยเเพร่ประวัติส่วนตัวทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งในบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้ส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อผลกระทบจากการใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ เเละสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่กระทรวง ไม่ใช่เรื่องใหม่
สำนักงานของหน่วยงานทางทหาร เเละฐานทัพสหรัฐฯ ตลอดจนที่ตั้งของที่ทำงานของหน่วยงานด้านข่าวกรอง ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์อัจฉริยะทุกประเภทในขณะอยู่ในที่ทำงาน รวมทั้ง โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เเละอุปกรณ์ติดตามดูความฟิตของร่างกาย ที่ใช้ระบบระบุจุดที่ตั้งผ่านสัญญาณดาวเทียมแบบจีพีเอส เช่น Fitbit, Garmin เเละ Polar ซึ่งล้วนช่วยให้บริษัทสตราวา (Strava) สร้างแผนที่ Heatmap ทั่วโลกที่เเสดงให้เห็นถึงเส้นทางต่างๆ ที่ผู้ใช้นิยมไปเดิน วิ่ง หรือ ปั่นจักรยาน
เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของสหรัฐฯได้รับการเตือนมานานหลายปีเเล้วเกี่ยวกับผลกระทบของข้อมูลทางดิจิทัล เเละข้อมูลที่ผู้ใช้ได้เผยเเพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กลับไม่รู้เรื่องแผนที่ Heatmap ที่เกิดขึ้นจากการเเชร์ข้อมูลด้วยอุปกรณ์เพื่อการออกกำลังกายนี้ จนกระทั่ง นายเนธาน รัสเซอร์ (Nathan Russer) นักศึกษาที่มหาวิทยาลัย National University ในเคนเบอร์ร่า ออสเตรเลีย ได้ทวีตแผนที่ Heatmap ของบริษัทสตราวา เมื่อราวปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา
นายรัสเซอร์ เขียนในทวีตว่า “แผนที่นี้ดูสวยดี เเต่คงไม่ดีนักในเเง่ของข้อมูลลับ เพราะสามารถระบุที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ ได้อย่างชัดเจน”
นอกจากฐานทัพสหรัฐฯ เเล้ว นายรัสเซอร์ ยังชี้ให้เห็นเส้นทางต่างๆ ในซีเรีย ที่กองกำลังทหารของตุรกีเเละรัสเซียใช้งานอีกด้วย
บริษัทสตราวา กล่าวว่า ทางบริษัทไม่รวมเอากิจกรรมที่ผู้ใช้ระบุว่าเป็นส่วนตัวหรือเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในจุดที่คนไม่ต้องการให้เผยเเพร่เเก่สาธารณะ เเต่เเม้กระนั้น แผนที่ Heatmap ก็ยังเเสดงถึงกิจกรรม 1 พันล้านกิจกรรมระหว่างปี ค.ศ. 2015 จนถึงเดือนกันยายนปีที่เพิ่งผ่านไป
เเละในพื้นที่ต่างๆ อาทิ อิรัก ซีเรีย เเละอัฟกานิสถาน ที่กิจกรรมต่างๆ แสดงเป็นจุดแสงสว่างขึ้นมาในพื้นที่ ที่ปกติเเล้วจะมืดสนิท เเละเมื่อนำแผนที่ของสตราวาไปใช้ร่วมกับข้อมูลจากแผนที่อื่นๆ ที่เปิดดูได้ทางออนไลน์ ก็อาจจะเกิดผลกระทบที่ตามมามากกว่าที่คาดคิด
นายไมเคิล พรีเจนท์ (Michael Pregent) อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอเมริกัน ที่ขณะนี้ทำงานที่สถาบันฮัดสัน (Hudson Institute) กล่าวว่า นี่เป็นข้อมูลวิเคราะห์กิจกรรมที่ทำเป็นประจำ เเละแผนที่ของสตราวานี้เป็นเครื่องมือที่เป็นที่ต้องการของนักวิเคราะห์ด้านข่าวกรองอย่างมาก เเละแน่นอนว่าอาจกลายเป็นเครื่องมือของคนที่ไม่หวังดีด้วยเช่นกัน
เขาชี้ว่าบนแผนที่ของสตราวา มีข้อมูลกราฟฟิกหลายอย่างที่เเสดงให้เห็นฐานทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน เเละสามารถมองเห็นจุดที่มีกิจกรรมเกิดขึ้นมากที่สุดได้ด้วย
มาถึงตอนนี้ ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่ากลุ่มติดอาวุธสุดโต่ง อย่างกลุ่มทาลีบัน กลุ่มไอเอส หรือ อัล ไคดา สามารถนำข้อมูลจากแผนที่ Heatmap ของสตราวานี้ไปใช้ประโยชน์หรือยัง เเต่เเน่นอนว่ากลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้อาจจะมองเป็นความเป็นไปได้ของการใช้ข้อมูลนี้เเล้ว
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)