วีซ่าเริ่มใช้ข้อมูลชีวมาตรกับบริการบัตรเครดิต

วีซ่าเริ่มใช้ข้อมูลชีวมาตรกับบริการบัตรเครดิต

วีซ่าเริ่มใช้ข้อมูลชีวมาตรกับบริการบัตรเครดิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบัน เราใช้ลายพิมพ์นิ้วมือเปิดล็อกประตู โทรศัพท์มือถือ เเละอุปกรณ์อื่นๆ ได้แล้ว แต่ผู้บริโภคพร้อมหรือยังที่จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือในการจ่ายเงิน

บริษัทวีซ่า (VISA) ยักษ์ใหญ่ด้านการบริการทางการเงิน มองว่า ลูกค้าพร้อมเเล้วที่จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางชีวมาตร หรือ biometrics ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะทางกายภาพเพื่อแสดงตน เเต่ยังมีข้อสงสัยกันว่า เทคโนโลยีนี้ มีความปลอดภัยเเค่ไหน

บริษัทวีซ่าที่ให้บริการบัตรเครดิต บัตรเดบิท เเละบัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ได้เริ่มต้นทดสอบการใช้งานบัตรต่างๆ ที่มีตัวอ่านลายพิมพ์นิ้วมือฝังไว้ภายใน ผู้ใช้เพียงกดนิ้วมือลงบนเครื่องเซ็นเซอร์ และอาจจะเสียบบัตรเข้าไปที่ช่องอ่านชิพ หรือถือบัตรไว้เหนือจุดจ่ายเงิน

การใช้ลายพิมพ์นิ้วมือช่วยให้ลูกค้าข้ามขั้นตอนที่ต้องระบุ รหัสล็อก หรือ PIN หรือไม่ต้องเขียนลายเซ็นลงไปที่ใบสั่งจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการ

ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ใช้บัตรเครดิตจะถูกเปรียบเทียมกับลายพิมพ์นิ้วมือที่เข้าระบบเอาไว้ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เก็บไว้ในชิพของบัตรเครดิต เพื่อสร้างรหัสแบบสุ่มที่เรียกว่า คริพโตแกรม (cryptogram) และสีเเดงหรือสีเขียวบนตัวบัตรจะช่วยระบุว่าลายนิ้วมือของผู้ใช้ตรงกับลายนิ้วมือในบัตรหรือไม่

Matt Smith ประธานฝ่าย platform strategy ที่ VISA กล่าวว่า บัตรเครดิตนั้นๆ จะถูกตั้งให้ใช้ข้อมูลชีวมาตรที่เป็นลายพิมพ์นิ้วโป้ง เพราะลายพิมพ์นิ้วมือของเเต่ละคนไม่เหมือนกัน เเละจะออกคำสั่งให้ตอบรับเมื่อลายพิมพ์นิ้วมือตรงกับที่บันทึกเอาไว้ในบัตรเเละปฏิเสธเมื่อไม่ตรงกัน

สำหรับลูกค้าที่ใช้บัตรเครดิตร่วมกับคนอื่นๆ การสั่งจ่ายเงินจะกลับไปใช้ระบบระบุรหัสล็อก หรือเขียนลายเซ็นแทน

บริษัทวีซ่าไม่ได้เป็นบริษัทที่ใช้ระบบจ่ายเงินดิจิตัลบริษัทเเรกที่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทาง biometrics หรือ ชีวมาตร ที่พึ่งลักษณะทางกายภาพเฉพาะตนของคน อาทิ ลักษณะของม่านตา เพื่อให้เเน่ใจว่าเป็นคนเดียวกันกับเจ้าของบัตร

เมื่อปีที่เเล้ว บริษัท Mastercard ได้เริ่มต้นทดสอบบัตรที่ใช้ลายพิมพ์นิ้วมือในการสั่งจ่ายเงินค่าสินค้าเเละบริการ ที่ร้าน Pick n Pay แห่งต่างๆ ในแอฟริกาใต้

VISA ได้สำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน 1,000 คน เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลชีวมาตร เเละพบว่า 86 เปอร์เซ็นต์สนใจใช้ข้อมูลชีวมาตรในการสั่งจ่ายเงินหรือรูดบัตรเครดิต

การสั่งจ่ายเงินโดยไม่ต้องใช้รหัสล็อกหรือลายเซ็นอาจจะสร้างความสะดวก แต่เกิดคำถามว่าระบบนี้มั่นคงปลอดภัยเเค่ไหน

Advertisement

เพื่อตอบคำถามนี้ อานีล เจน (Anil Jain) ศาสตราจารย์เเละนักวิจัยด้านชีวมาตรที่มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน (Michigan State University) พร้อมกับนักศึกษาของเขา พัฒนาลายพิมพ์นิ้วมือปลอมขึ้นมา ซึ่งใช้งานได้สำเร็จมาหลายครั้งเเล้วในการเปิดล็อกระบบต่างๆ ที่พึ่งข้อมูลชีวมาตรเป็นกุญเเจสั่งการ

ศาสตราจารย์เจน เชื่อว่า เป็นการยากที่จะขโมยข้อมูลชีวมาตรจากมือถือหรือชิพในบัตรเครดิตอย่างของวีซ่า เมื่อเทียบกับข้อมูลชีวมาตรที่จัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลกลาง เช่น ในตัวเซิร์ฟเวอร์ของรัฐบาลที่มีข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือจัดเก็บเอาไว้

เขากล่าวว่าไม่มีระบบความปลอดภัยใดที่ป้องกันการขโมยข้อมูลได้ แต่แนวคิดนี้มุ่งทำให้การแอบอ้างตนเพื่อใช้บัตรเครดิตของผู้อื่นทำได้ยากมากขึ้น เเละอาจมีการใช้ข้อมูลชีวมาตรอย่างอื่นเพิ่มเติม

เขากล่าวว่า หากเป็นการสั่งจ่ายเงินในจำนวนมากอย่างน่าสงสัย เช่น ซื้อสินค้ารวมมูลค่า 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ร้านทิฟฟานี่ส์ (Tiffany's) ทางร้านอาจจะขอให้คุณแสดงหลักฐานทางลักษณะทางกายภาพอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น อาจจะใช้ระบบจดจำใบหน้า นอกเหนือจากระบบจดจำลายพิมพ์นิ้วมือ

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เจน กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีข้อมูลชีวมาตรจะกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้งานกันมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อราคาของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เเละซอฟแวร์ถูกลงเเละผู้บริโภคหันมาใช้งานข้อมูลชีวมาตรกันเพิ่มขึ้น

ท้ายสุด ศาสตราจารย์เจน เเนะนำว่า ผู้บริโภคควรใช้ข้อมูลทางลักษณะกายภาพของตนเองอย่างระมัดระวังในยุคเทคโนโลยีชีวมาตร โดยพูดติดตลกว่า ไม่ควรโพสต์ลายพิมพ์นิ้วมือของตนเองบนสื่อสังคมออนไลน์เป็นอันขาด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้