ศาลสูงสหรัฐฯ ชี้ ต้องมีหมายค้นในการ "สะกดรอยผ่านสมาร์ทโฟน"

ศาลสูงสหรัฐฯ ชี้ ต้องมีหมายค้นในการ "สะกดรอยผ่านสมาร์ทโฟน"

ศาลสูงสหรัฐฯ ชี้ ต้องมีหมายค้นในการ "สะกดรอยผ่านสมาร์ทโฟน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลสูงสหรัฐฯ มีคำสั่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่าเจ้าหน้าที่รักษากฏหมาย จะต้องออกหมายค้น ในการเข้าถึงข้อมูลพิกัดของสมาร์ทโฟน ในการสอบสวนคดีอาชญากรรม

ศาลฎีกาสหรัฐฯ มีมติ 5-4 เสียง กำหนดให้ข้อมูลของลูกค้าที่จัดเก็บไว้โดยผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ต่างๆ จะต้องได้รับการคุ้มครอง ตามบทแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ข้อที่ 4 หรือ Fourth Amendment ที่บัญญัติปกป้องมิให้บุคคลต้องถูกค้นหรือถูกจับโดยเจ้าพนักงานของรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และผู้บังคับใช้กฏหมายจะต้องมีหมายค้นเพื่อเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น

การวินิจฉัยเรื่องการสะกดรอยผ่านสมาร์ทโฟน เกิดขึ้นภายใต้คดีมีชื่อว่า Carpenter v. United States ที่ตำรวจสามารถจับกุมนาย Timothy Carpenter ซึ่งขโมยโทรศัพท์ตามร้านขายมือถือในรัฐโอไฮโอและมิชิแกน เมื่อช่วงปี ค.ศ. 2010-2011 โดยตำรวจสะกดรอยผ่านสมาร์ทโฟนที่เขาปล้นไป และพบตำแหน่งของสมาร์ทโฟนกว่า 13,000 จุด ในระยะเวลา 4 เดือน จนสามารถจับกุมและตั้งข้อหาลักทรัพย์กับนาย Carpenter ถึง 11 กระทงได้

แต่นาย Carpenter ได้ยื่นอุทธรณ์ว่าการที่ตำรวจสะกดรอยเขาผ่านสมาร์ทโฟนนั้น เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งขัดกับ Fourth Amendment ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

คำตัดสินของศาลสูงสหรัฐฯ ถือเป็นการพัฒนาความเข้าใจด้านเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ที่กระทบกับสิทธิส่วนบุคคล หลังจากที่เมื่อปี ค.ศ. 2012 ศาลฎีกาสหรัฐฯ ได้มีคำสั่งให้ใช้หมายค้นในการเข้าถึงข้อมูลในเครื่องจีพีเอสในรถยนต์ของผู้ต้องสงสัย และในปี ค.ศ. 2014 ที่ศาลสูงสหรัฐฯมีคำสั่งให้ใช้หมายค้นในการเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ของผู้ต้องสงสัยที่ตำรวจควบคุมตัวเอาไว้ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook