เมื่อ "ซู่ชิง จิตต์สุภา ฉิน" หนึ่งในนางฟ้าไอทีไทยกล่าวถึง "อีลอน มัสก์" ได้อย่างน่าสนใจ
หลังจากหลายๆ ฝ่ายได้ออกมารวมแรงรวมใจที่จะพาเหล่า ทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง กลับบ้านให้ได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างประเทศที่พากันลุ้นและเอาใจช่วยให้ภารกิจนี้ผ่านไปได้และจบลงด้วยดีทั้งส่งแรงกายและแรงใจ (อัปเดตล่าสุด เจ้าหน้าที่พา "หมูป่าคนที่ 12-13" ออกมาสำเร็จ ปิดภารกิจถ้ำหลวง) และที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคงเป็น อีลอน มัสก์ ซีอีโอ บริษัทสเปซเอ็กซ์ ที่ได้นำเรือดำน้ำจิ๋วช่วยหมูป่าออกจากถ้ำ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้งานก็ตาม และตัวเขาเองก็ได้เดินทางมายังประเทศไทยด้วยเช่นกัน! แถมยังลงพื้นที่ด้วยตนเองอีกด้วย
จนทำให้หลายๆ สื่อในหลายวงการออกมาพูดถึงชื่อของผู้ชายคนนี้ เรียกได้ว่าได้พื้นที่สื่อจากทั่วโลกไปโดยที่ไม่ต้องเสียเงินแม้แต่นิดเดียว
วันนี้ทีมงาน Sanook! Hitech มีบทวิเคราะห์ของหนึ่งในนางฟ้าไอทีไทยคนดังอย่าง ซู่ชิง จิตต์สุภา ฉิน ที่ได้ออกมาโพสต์ถึง อีลอน มัสก์ มาให้ได้อ่านกัน
"ฮือฮากันมากกับข่าวที่ไลออน มัส (@lionmuss) เอ้ย อีลอน มัสก์ เดินทางมาลงพื้นที่เองถึงถ้ำหลวง แม้ว่านี่อาจจะถูกมองได้ว่าเป็นกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์ตัวเอง แต่อย่างน้อยๆ ก็เชื่อว่าอีลอน มัสก์ ได้ใจคนทั้งโลกไปครองแล้วเรียบร้อย ก็เลยอยากจะมาเขียนเล่าถึงอีลอนในแง่มุมที่ว่าเพราะอะไรทำไมเขาถึงได้เป็นเซเล็บโลกเทคโนโลยีที่ดูจะรับบทเป็นซูเปอร์ฮีโร่ไปในตัว
สิ่งที่ทำให้อีลอน มัสค์ แสดงความเป็นฮีโร่ที่คอยสอดส่องดูแลสวัสดิภาพของประชากรโลกได้ นอกจากเงินและทรัพยากรที่เขามีล้นเหลือแล้ว ก็คือ “ทวิตเตอร์” ค่ะ
อีลอนเป็นคนที่ติดทวิตเตอร์มาก เขามีคนติดตามบนทวิตเตอร์มากกว่า 22 ล้านคน เสน่ห์ของการเล่นทวิตเตอร์ของเขาคือ เขาเป็นคนทวีตเองทั้งหมด และจะคอยทวีตอัพเดตสิ่งต่างๆ ที่เขาหรือบริษัทของเขาทำอยู่เสมอ นอกจากนี้ก็ยังคอยตอบทวีตที่มีคนเมนชั่นมาหาด้วย ลองคิดดูสิคะว่าถ้าเราเมนชั่นไปหาคนในระดับไฮโพรไฟล์อย่างอีลอน มัสค์ แล้วเขาตอบกลับมาเนี่ย อะดรีนาลินในร่างกายเราจะสูบฉีดแค่ไหน ความรู้สึกแบบนี้นี่แหละค่ะที่ทำให้อีลอนกลายเป็นเซเล็บทวิตเตอร์ที่คนรักมาก
หลายครั้งที่เขารับฟังข้อเสนอแนะจากคนที่ทวีตมาคุยกับเขา และที่มาที่ไปของการที่อีลอน เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับภารกิจช่วยหมูป่าติดถ้ำในครั้งนี้ก็เพราะมีคนทวีตไปหาเขาว่า “คุณครับ พอจะมีสักทางไหมที่คุณจะช่วยนำเด็ก 12 คนและโค้ชออกจากถ้ำในประเทศไทยได้” ซึ่งอีลอนก็ทวีตตอบว่า “ผมคิดว่ารัฐบาลไทยน่าจะเอาอยู่นะ แต่ผมก็ยินดีที่จะช่วยถ้าหากทำได้” นี่คือเรื่องราวเริ่มต้นของทั้งหมด นำไปสู่การสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก ส่งวิศวกรมาช่วย และแม้กระทั่งการที่เขาเดินทางมาเองในที่สุด
แจ็ค ดอร์ซีย์ ซีอีโอของทวิตเตอร์ เคยเรียกอีลอน มัสค์ว่า เป็น “พาวเวอร์ยูสเซอร์” อีลอนใช้ทวิตเตอร์อัพเดตเรื่องราวของตัวเอง เล่าความคืบหน้าโปรเจ็กต์ที่ทำ ไอเดียล้ำๆ แก้ข่าวที่มีคนรายงานถึงเขาผิดพลาด เปิดรับความคิดเห็น ร่วมสนทนาพูดคุยกับคนอื่น และบ่อยครั้งก็โต้ตอบหรือแซวคนดังคนอื่นๆ บางครั้งแค่มีคนเมนชั่นเล่าปัญหาที่เจอจากการใช้รถยนต์เทสลา อีลอนก็ตอบกลับด้วยทวีตว่ารับทราบ และจัดการเปลี่ยนนโยบายใหม่ให้ทันที แม้แต่ตอนที่เขาจะสร้างเรือดำน้ำช่วยน้องๆ ทีมฟุตบอลออกมา ก็มีคนทวีตไปหาว่า “ติดเครื่องเล่นเอ็มพีสามไว้ในเรือด้วยได้ไหม” เขาก็ตอบว่า “ได้” ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าเมื่อไหร่ที่อีลอนตอบว่าได้ มันคือได้จริงๆ
เขาติดทวิตเตอร์จนกระทั่งมีครั้งหนึ่งเผลอทวิตเบอร์โทรของตัวเองออกสื่อเลยด้วย ภายหลังก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นเบอร์โทรของเขาจริงๆ ลองคิดดูว่าหลังจากนั้นจะมีคนกี่ล้านคนพยายามโทรไปหาเขาที่เบอร์นี้ ซึ่งแน่นอนว่าโทรไม่ติดแล้วค่ะ 555
การใช้ทวิตเตอร์ของเขาเป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้บริหารองค์กรหรือประเทศทำตาม เพราะเป็นการลดช่องว่างและความห่างเหิน ทำให้ตัวเขาที่แม้จะถูกวางภาพเอาไว้ว่าเป็นเหมือนซูเปอร์ฮีโร่ที่น่าจะเหาะไปเหาะมาอยู่ตลอดเวลาแต่กลับเข้าถึงได้ง่ายเพียงแค่เมนชั่น ส่วนตัวเขาเองก็จะได้รับฟีดแบ็กที่ตรงไปตรงมาจากผู้ใช้งานโดยที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองภาพจากทีมบริหารให้ดูสวยหรูจนไม่เห็นข้อบกพร่องที่ซุกไว้ใต้พรม นี่เป็นอีกครั้งที่ตอกย้ำว่าผู้บริหารสมัยใหม่จะต้องทำมากกว่าแค่การนั่งดูรายงานบนกระดาษแล้ว"
หลังจากที่เธอคนนี้ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงบน Facebook ส่วนตัวทำให้หลายๆ คนมองเห็นถึงกรณีศึกษาหลายๆ มุมที่เกิดจากเหตุการณ์ ทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง และนี้คือความร่วมมือของมนุษยชาติที่แสดงออกมาให้เราได้เห็นกัน
อัลบั้มภาพ 11 ภาพ