5 เรื่องเข้าใจผิดในการชาร์จมือถือที่คุณอาจทำมาตลอดโดยไม่รู้ตัว
การชาร์จมือถืออาจเป็นได้ทั้งสิ่งที่ง่ายที่สุดและยากที่สุดในเวลาเดียวกัน เพราะเอาเข้าจริงแล้วเราไม่ได้แค่เสียบสาย USB แล้วตั้งทิ้งไว้เฉยๆ ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมากมายที่เราควรปฏิบัติตามเพื่อให้การชาร์จมีประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัยที่สุด และยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรีออกไปให้นานที่สุด
ซึ่งเราก็มักจะได้รับคำแนะนำที่เล่าต่อๆ กันมา บางอย่างก็นำไปใช้ได้ แต่บางอย่างก็เป็นความเข้าใจผิดที่อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี และสำหรับในวันนี้ เราจะมาพูดถึงความเข้าใจผิดยอดฮิต 5 ประการเกี่ยวกับการชาร์จแบตมือถือที่คุณอาจกำลังทำตามอยู่โดยไม่รู้มาก่อน จะมีอะไรบ้างไปดูกันครับ
1. การชาร์จสมาร์ทโฟนทิ้งไว้ข้ามคืนจะทำให้โอเวอร์ชาร์จและระเบิดได้
การชาร์จสมาร์ทโฟนข้ามคืนเป็นอะไรที่ใครๆ ก็ทำกัน เพื่อที่เราจะได้ตื่นขึ้นมาพร้อมกับแบตเตอรีเต็มเปี่ยมพร้อมใช้งานได้ตลอดวันใหม่ แต่ก็มักจะมีคนเตือนเราอยู่เสมอว่า การชาร์จทิ้งไว้ทั้งคืนแบบนี้อาจทำให้แบตเตอรีลุกไหม้ หรือถึงขั้นระเบิดได้จากการโอเวอร์ชาร์จ และอุบัติเหตุทำนองนี้ก็มักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ซะด้วย
แต่ความจริงก็คือ เราไม่สามารถโอเวอร์ชาร์จสมาร์ทโฟนจากการชาร์จโดยปกติได้ เนื่องจากระบบจัดการพลังงานของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันจะค่อยๆ ลดการจ่ายกระแสไฟลงเรื่อยๆ เมื่อการชาร์จเข้าใกล้ 100% (สังเกตว่าการชาร์จ 80% แรกจะเร็วมาก แต่หลังจากนั้นจะช้าลง) และจะตัดกระแสไฟเมื่อชาร์จจนเต็ม 100% แล้ว หากทุกอย่างทำงานถูกต้อง การโอเวอร์ชาร์จจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย
อันตรายที่แท้จริงของการชาร์จสมาร์ทโฟนข้ามคืน คือความร้อนสะสมจากการชาร์จ โดยเฉพาะเมื่อใส่เคสที่มีการระบายความร้อนไม่ดี รวมไปถึงการชาร์จสมาร์ทโฟนทิ้งไว้ในจุดที่ระบายความร้อนลำบาก เช่น ใต้ฟูก หรือใต้หมอน ความร้อนที่ไม่มีที่ไปอาจสะสมอยู่ในตัวแบตเตอรีจนลุกไหม้หรือระเบิดได้ อีกปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การลุกไหม้คือการใช้สายชาร์จหรือแท่นชาร์จที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือฝืนใช้สายชาร์จที่ขาดจนเห็นสายไฟข้างใน ซึ่งในกรณีหลังนอกจากจะเสี่ยงต่อการลุกไหม้แล้ว ยังเสี่ยงต่อการโดนไฟช็อตจากกระแสไฟฟ้ารั่วอีกด้วย ส่วนข้อเสียโดยตรงของการชาร์จข้ามคืน คือความร้อนที่เกิดขึ้นอาจทำให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานสั้นลงบ้างเท่านั้นครับ
2. ควรใช้สมาร์ทโฟนจนแบตหมดเกลี้ยงแล้วค่อยชาร์จจนเต็ม
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ แต่ความจริงก็คือการปล่อยให้แบตเตอรีสมาร์ทโฟนหมดเกลี้ยงแล้วค่อยชาร์จจนเต็มไม่ได้ช่วยยืดอายุการใช้งานแบตเตอรีขึ้นเลย กลับกันมันยังทำให้แบตเสื่อมเร็วอีกด้วย
ที่มาของความเชื่อนี้ น่าจะมาจากวิธีการชาร์จแบตเตอรี่ประเภท นิกเกิล-แดคเมียม (Ni-Cd) ซึ่งนิยมใช้กันมากช่วงยุค 90 ซึ่งแบตเตอรีชนิดนี้ มีข้อจำกัดด้านการจดจำกระแสเดิม (memory effect) หากนำไปชาร์จโดยที่ยังเหลือประจุอยู่ ความจุของตัวแบตจะลดลง แต่แบตเตอรีที่ใช้กันอยู่ในสมาร์ทโฟนเป็นแบตเตอรีชนิด ลีเธียม-ไอออน (Li-Ion) ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่อง memory effect เหมือนกับแบต Ni-Cd แต่ความจุจะค่อยๆ ลดลงตามรอบการชาร์จ (cycle) และไม่ได้ลดแบบฮวบฮาบ บางคนเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ก่อนแบตจะเสื่อมด้วยซ้ำไป ดังนั้นเราจึงสามารถชาร์จสมาร์ทโฟนของเราได้ทุกเมื่อโดยไม่ต้องรอให้เหลือ 0% ครับ
3. ต้องใช้แท่นชาร์จและสายชาร์จยี่ห้อเดียวกับมือถือของเราเท่านั้น
แน่นอนว่าการใช้สายชาร์จของแท้ที่เป็นของแบรนด์สมาร์ทโฟนโดยตรงเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการใช้สายชาร์จยี่ห้ออื่นจะเป็นอันตรายแต่อย่างใด ตราบใดที่อุปกรณ์เป็นของแท้และเป็นยี่ห้อที่มีชื่อเสียงก็สามารถใช้งานแทนกันได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าสายชาร์จบางรุ่นอาจจะไม่รองรับระบบชาร์จเร็วซึ่งต้องตรวจสอบให้ดีก่อนซื้อมาใช้ครับ
4. การชาร์จไปด้วยเล่นไปด้วยจะทำให้เครื่องระเบิดได้
หลายคนเชื่อว่าการเล่นสมาร์ทโฟนระหว่างที่กำลังชาร์จอยู่อาจทำให้แบตเตอรีระเบิด ลุกไหม้ หรือเกิดไฟช็อตเอาได้ ความจริงก็คือการเล่นไปชาร์จไปจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วขึ้น แต่จะไม่ถึงขั้นระเบิดคามือหากเราใช้อุปกรณ์การชาร์จที่ได้มาตรฐานครับ
สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสมาร์ทโฟนเมื่อเราชาร์จไปด้วยเล่นไปด้วยคือแบตเตอรีจะคายประจุและเก็บประจุไปพร้อมๆ กัน เมื่อเวลาผ่านไปอาจทำให้บางส่วนของแบตเตอรีผ่านรอบการชาร์จ (cycle) มามากกว่าส่วนอื่นๆ หรือพูดง่ายๆ คือแบตเตอรีเสื่อมไม่เท่ากันทั้งก้อน และหมดสภาพไปก่อนเวลาอันควร ส่วนการที่แบตเตอรีจะระเบิดหรือลุกไหม้ได้นั้น ขึ้นอยู่กับความร้อนสะสมและแรงดันไฟฟ้าเกินจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมากกว่า ดังนั้นหากต้องการยืดอายุการใช้งานแบตเตอรีให้นานที่สุด ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานสมาร์ทโฟนหนักๆ (เช่นการเล่นเกม) ระหว่างชาร์จ ส่วนการใช้งานเล็กๆ น้อยๆ ทั่วไปไม่น่าจะส่งผลอะไรมากครับ
5. ควรปิดแอปพลิเคชันพื้นหลังทั้งหมดเพื่อประหยัดแบตเตอรี่
แอปพลิเคชันหลายตัวจะทำงานอยู่บนพื้นหลังตลอดเวลา ซึ่งทำให้หลายคนเชื่อว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้เองที่คอยสูบแบตเตอรีอยู่เงียบๆ จึงพยายามเข้าไปปิดมันอยู่ตลอด
แต่จริงๆ แล้วนี่เป็นการกระทำที่สูญเปล่าเพราะส่วนใหญ่แอปพลิเคชันพวกนี้จะกลับมาทำงานบนพื้นหลังอีกครั้งทันทีที่เราปิดมัน ส่วนตัวการจอมสูบเบตเตอรีตัวจริงนั้นคือหน้าจอแสดงผล
ดังนั้นการเปิดหน้าจอขึ้นมาไล่ปิดแอปพลิเคชันพื้นหลังบ่อยๆ จึงกินพลังงานมากกว่าการปล่อยทิ้งไว้ให้มันทำงานของมันไปเฉยๆ ครับ
ก่อนจะจากกันไปในครั้งนี้ หวังว่าทุกท่านจะมีความเข้าใจเรื่องการชาร์จแบตเตอรีมือถือมากขึ้น และหลีกเลี่ยงวิธีชาร์จที่ส่งผลเสียต่อตัวเครื่องได้ แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีครับ