ทำความรู้จัก “ไซมอน” ผู้ช่วยนักบินอวกาศระบบปัญญาประดิษฐ์ตัวแรกของโลก เดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ
ทำความรู้จัก “ไซมอน” ผู้ช่วยนักบินอวกาศระบบปัญญาประดิษฐ์ตัวแรกของโลก เดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติแล้ว
นายกิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม คลาวด์ และโซลูชันส์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยถึงความสำเร็จของแอร์บัส (Airbus) ในการพัฒนา “ไซมอน” (Crew Interactive Mobile Companion หรือ CIMON) ในนามของศูนย์อวกาศยานเยอรมัน (German Aerospace Center: DLR) โดยไซมอนเป็นหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยีไอบีเอ็ม วัตสัน ที่ได้ติดตามนักบินอวกาศ อเล็กซานเดอร์ เกิร์สต ไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจสำคัญ 3 ประการ คือ การร่วมกันทำการทดลองกับคริสตัล การแก้ไขปัญหาลูกบาศก์ของรูบิกโดยอาศัยวิดีโอต่างๆ และการทดลองทางการแพทย์ที่ซับซ้อนโดยใช้ไซมอนทำหน้าที่กล้องบินได้แบบ “อัจฉริยะ”
ไซมอนเป็นระบบอัจฉริยะแบบอินเตอร์แอคทิฟที่พกพาได้ ที่จะเป็นผู้ช่วยนักบินอวกาศเกิร์สตในภารกิจครั้งที่ 2 สู่สถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บังคับการสถานีอวกาศในช่วงที่สองของการปฏิบัติการระยะเวลา 6 เดือน โดยไซมอนได้รับการพัฒนาโดยแอร์บัสในนามของศูนย์อวกาศยานเยอรมัน และจะได้รับการทดสอบบนสถานีอวกาศนานาชาติ ภายใต้ภารกิจ “ฮอไรซันส์” ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency)
หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ไซมอนมีลักษณะเป็นอุปกรณ์กลมๆ ขนาดเล็ก มีน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม ใบหน้าและเสียงดิจิทัล รวมถึงการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ของไซมอน ทำให้ไซมอนเป็นเหมือน “เพื่อนร่วมงาน” ของบรรดาลูกเรือบนอวกาศ โดยกลุ่มนักพัฒนาที่รับผิดชอบการพัฒนาไซมอนคาดการณ์ว่าไซมอนจะช่วยลดความเครียดของบรรดานักบินอวกาศ ขณะเดียวกันก็ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และทำหน้าที่เป็นระบบเตือนล่วงหน้าในกรณีที่เกิดปัญหาทางเทคนิค ซึ่งถือเป็นการเข้ามาช่วยปรับปรุงเรื่องความปลอดภัย
ไซมอนเรียนรู้อย่างไร
ปัจจุบันไซมอนได้รับการฝึกอบรมให้สามารถระบุสภาพแวดล้อมของตนและสามารถระบุคู่สนทนาที่เป็นมนุษย์ที่กำลังมีปฏิสัมพันธ์กับตนได้ โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยให้ไซมอนสามารถประมวลผลข้อความ คำพูด และรูปภาพ รวมถึงช่วยดึงข้อมูลและข้อค้นพบต่างๆ ได้อีกด้วย ทักษะเหล่านี้ (ซึ่งสามารถฝึกฝนทีละส่วนและเพิ่มความลึกซึ้งในบริบทของงานที่ได้รับมอบหมายเข้าไปได้) ได้รับการพัฒนาขึ้นบนหลักการของการทำความเข้าใจ การให้เหตุผล และการเรียนรู้
เทคโนโลยีด้านการมองเห็นภาพและการโต้ตอบด้วยคำพูดของวัตสัน ช่วยให้ไซมอนสามารถจดจำอเล็กซานเดอร์ เกิร์สต์ ได้ ผ่านการฝึกจากตัวอย่างเสียงและรูปภาพของเกิร์สต์ รวมทั้งรูปภาพของบุคคลที่ “ไม่ใช่ เกิร์สต์” นอกจากนี้ไซมอนยังอาศัยความสามารถในการจำแนกแยกแยะภาพ (Visual Recognition) ของวัตสัน เพื่อเรียนรู้ผังโครงสร้างของโมดูลโคลัมบัสบนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งทำให้ไซมอนสามารถเคลื่อนที่ไปรอบๆ ได้อย่างไร้ปัญหา
ไซมอนยังได้เรียนรู้ขั้นตอนดำเนินการทั้งหมดเพื่อให้สามารถช่วยทำการทดลองต่างๆ บนยานอวกาศได้อีกด้วย โดยบางครั้งการทดลองอาจประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ มากกว่า 100 ขั้นตอนที่แตกต่างกัน ซึ่งไซมอนรู้จักขั้นตอนเหล่านั้นทั้งหมด
ปัญญาประดิษฐ์บนระบบคลาวด์ – ข้อมูลที่ได้รับการปกป้อง
บริการไอบีเอ็ม วัตสัน บนไอบีเอ็ม คลาวด์ ช่วยให้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนและมีกรรมสิทธิ์ของสถานีอวกาศนานาชาติได้รับการปกป้องไว้ไม่ว่าข้อมูลจะถูกสร้างขึ้นบนเซิร์ฟเวอร์ ดาต้าเบส หรือที่ใดก็ตาม โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องอัพโหลดข้อมูลไปไว้ที่ระบบคลาวด์ภายนอกเพื่อใช้ความสามารถด้าน AI อย่างเต็มประสิทธิภาพแต่อย่างใด
โมเดลข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของไอบีเอ็มช่วยให้องค์กรสามารถฝึกโมเดล AI ด้วยเทคโนโลยีของวัตสัน โดยไม่จำเป็นต้องผสานรวมข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือมีกรรมสิทธิ์เข้ากับโมเดลแบบสาธารณะแต่อย่างใด และจะไม่มีองค์กรใด (หรือแม้แต่ไอบีเอ็ม) ที่สามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้พัฒนาแอพพลิเคชัน AI อื่นๆ เพิ่มเติมได้ ช่วยให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่าจะสามารถเก็บรักษาข้อมูลที่สำคัญมากของตนไว้เป็นส่วนตัวและภายใต้กรรมสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญารวมถึงข้อมูลของบริษัทจะถูกนำไปใช้สร้างความได้เปรียบให้แก่ตัวบริษัทเองเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้แอร์บัสเลือกไอบีเอ็มเป็นพันธมิตรในการพัฒนาไซมอน
ในระยะกลาง โครงการไซมอนจะมุ่งที่ผลของกลุ่มทางจิตวิทยาซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับทีมเล็กๆ ระหว่างภารกิจระยะยาวบนอวกาศ โดยผู้สร้างสรรค์ไซมอนมีความมั่นใจว่าการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ หรือในกรณีนี้คือระหว่างนักบินอวกาศกับผู้ช่วยอัจฉริยะบนอวกาศที่ได้รับการติดตั้งภาวะความฉลาดทางอารมณ์ จะส่งผลสำคัญต่อความสำเร็จของภารกิจ และจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับงานในโรงพยาบาลหรือการสนับสนุนบริการด้านพยาบาลต่อไป