ชงยูเอ็นทำสนธิสัญญาควบคุม “หุ่นยนต์สังหาร”
หลายประเทศทโลกเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ หรือ UN พิจารณาในการผลักดันให้มีสนธิสัญญาซึ่งมีผลผูกพันทางกฏหมาย ห้ามใช้ “หุ่นยนต์สังหาร” ที่ทำงานได้เองโดยไม่มีการควบคุม
ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ 76 หน่วยงาน จาก 32 ประเทศทั่วโลก อาทิ Human Right Watch, องค์การนิรโทษกรรมสากล, Mines Action Canada และ Nobel Women’s Initiative ร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกันในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการใช้ “หุ่นยนต์สังหาร” หรือระบบอาวุธที่ทำงานโดยอัตโนมัติ โดยปราศจากการควบคุมของมนุษย์ และเตรียมใช้เวทีการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธตามแบบ หรือ CCW ที่นครเจนีวา ของสวิตเซอร์แลนด์ ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ในการเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ หรือ UN จัดทำสนธิสัญญาซึ่งมีผลผูกพันทางกฏหมายในประเด็นนี้
การรณรงค์เพื่อต่อต้านการใช้ “หุ่นยนต์สังหาร” แบบอัตโนมัติ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2013 ซึ่งมี 26 ประเทศทั่วโลกที่สนับสนุนการห้ามใช้เทคโนโลยีดังกล่าว รวมทั้งประเทศจีน ที่เห็นชอบในหลักการห้ามใช้หุ่นยนต์สังหารแบบอัตโนมัติ แต่ยังสนับสนุนให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ขณะที่รัสเซียก็สนับสนุนให้มีการทำข้อตกลงร่วมกันที่ไม่มีผลผูกพันทางกฏหมาย
ด้าน Mary Wareham ตัวแทนจาก Human Rights Watch บอกว่า เวทีประชุม CCW ต้องการกดดันให้สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ผลักดันแผนห้ามใช้จักรกลสังหาร ที่สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องรอผลการประชุมที่จะทราบกันในวันศุกร์นี้ว่าการผลักดันให้เป็นสนธิสัญญานั้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่
ทั้งนี้ การประชุมอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธตามแบบ หรือ CCW มีเป้าหมายในการผลักดันให้มีสนธิสัญญาที่มีผลทางกฏหมายให้ได้ภายในช่วงปลายปี ค.ศ. 2019
โดยในการประชุมครั้งที่แล้ว ฝรั่งเศส อิสราเอล รัสเซีย อังกฤษ และสหรัฐฯ มีท่าทีคัดค้านการออกสนธิสัญญาห้ามใช้จักรกลสังหารนี้อย่างชัดเจน แต่บรรดานักเคลื่อนไหวยืนยันว่าข้อตกลงที่มีผลทางกฏหมายนั้นควรจัดทำขึ้น เพื่อผลักดันให้มีการควบคุมอาวุธเหล่านี้โดยมนุษย์ ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดมาตรฐานด้านจริยธรรมระหว่างประเทศ