ครม.อนุมัติหลักการ พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล ตั้งเป้า 5 ปีเลิกใช้สำเนาบัตรฯ เต็มตัว

ครม.อนุมัติหลักการ พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล ตั้งเป้า 5 ปีเลิกใช้สำเนาบัตรฯ เต็มตัว

ครม.อนุมัติหลักการ พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล ตั้งเป้า 5 ปีเลิกใช้สำเนาบัตรฯ เต็มตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ล่าสุดการยกเลิกสำเนาบัตรประชาชน-ทะเบียนบ้านและเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลในราชการแบบเต็มตัวมีความคืบหน้ามากขึ้น เมื่อพลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พันเอก อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ และพันเอกหญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยระบุว่า ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. …. (หรือเรียกสั้นๆ ว่า “พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล”) ตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เสนอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งก่อนหน้านี้ Techsauce รายงานข่าวเรื่องการยกเลิกใช้สำเนาบัตรต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเตรียมยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชน-ทะเบียนบ้าน” เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งสองหน่วยงานอย่าง ศาลอาญากรุงเทพใต้ และ กรมสรรพากร ก็นำร่องเรื่องนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อ่านประกอบ

สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล

  • หากหน่วยงานของรัฐได้จัดทำเอกสาร จัดทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตน หรือจัดทำกระบวนการทำงานและการบริการด้วยวิธีการทางดิจิทัลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดย พ.ร.บ. นี้แล้ว ให้ถือว่าเอกสาร การพิสูจน์และยืนยันตัวตนและกระบวนการทำงาน และการบริการดังกล่าวมีผลโดยสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายในเรื่องนั้นกำหนดไว้
  • กำหนดให้มีแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้มีความชัดเจน สอดคล้องกันระหว่างทุกหน่วยงานของรัฐ และมีกรอบการพัฒนาและแผนการดำเนินงานของประเทศ
  • กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำข้อมูลตามภารกิจหลักในอดีตและปัจจุบัน ให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล และต้องปรับปรุงข้อมูลดิจิทัลนั้นให้มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีความสมบูรณ์และสามารถใช้ได้ รวมทั้งมีความถูกต้อง ทันสมัย สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานของรัฐอื่น และนำไปประมวลผลต่อได้
  • หน่วยงานของรัฐที่ต้องมีการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากประชาชน ให้จัดให้มีระบบการชำระเงินทางดิจิทัลเป็นอีกช่องทางหนึ่งด้วย และสามารถตกลงกับหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นให้จัดเก็บเงินแทนหน่วยงานตนเองได้ ทั้งนี้กำหนดให้เก็บอัตราค่าต่างๆ ให้น้อยกว่าอัตราที่กำหนดอยู่ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการทางดิจิทัลของหน่วยงาน
  • กำหนดให้มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแห่งชาติ (Government Data Exchange Center : CDX) เพื่อรองรับและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารทะเบียนดิจิทัลระหว่างหน่วยงานของรัฐ กำหนดนโยบายและมาตรฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
  • ให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) จัดทำระบบบริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อเชื่อมโยงไปยังบริการดิจิทัลของหน่วยงานของรัฐ โดยหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการให้รองรับการเชื่อมโยงดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว และมั่นคงปลอดภัยในจุดเดียว
  • หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ถูกต้องและทันสมัย และไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลที่มีผลกระทบต่อภาคส่วนอื่น ๆ เว้นแต่ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่มีกฎหมายกำหนดมิให้มีการเปิดเผย โดยเปิดเผยในรูปแบบมาตรฐานเปิด ซึ่งสามารถให้เข้าถึงได้อย่างเสรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถนำไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดการพัฒนาบริการและนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้

ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้หน่วยงานนั้นทำแผนเสนอคณะกรรมการเพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

หลังจากนี้ ครม. จะส่งร่าง พรบ. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานศาลยุติธรรม ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

เห็นชอบร่างมาตรการ “ไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน”

document-428334_640

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบร่างมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน (การไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้ จากประชาชน)  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอร่างมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน (การไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐภายในฝ่ายบริหารทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติ สรุปได้ ดังนี้

มาตรการระยะสั้น (ภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561)

1. ให้หน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับให้ประชาชนต้องยื่นหรือส่งสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้ ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องทำบันทึกข้อตกลง (MoU)
2. เมื่อประชาชนมาติดต่อขอรับบริการ ให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้สั่งพิมพ์เอกสารหรือหลักฐานที่ต้องใช้จากระบบที่เชื่อมโยงไว้และลงนามรับรอง โดยประชาชนผู้มาติดต่อไม่ต้องเป็นผู้นำสำเนามาและไม่ต้องลงนามรับรอง
3. การให้บริการที่เป็นตัวเงินแก่ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด รวมทั้งการจ่ายเงินและสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ให้ดำเนินการผ่านระบบ National e-Payment ภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561
4. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เปิดช่องทางการสื่อสารผ่าน Social Network เพื่อรับข้อร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว และให้รายงานรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของหน่วยงานนั้นทราบเพื่อนำไปใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานด้วย

มาตรการระยะกลาง (ภายในปี 2562)

จะให้หน่วยงานพัฒนาระบบสารสนเทศหรือแอปพลิเคชันที่ให้บริการประชาชนเพื่อเชื่อมต่อกับ Linkage Center ของกรมการปกครอง เพื่อให้สามารถดึงข้อมูลของประชาชน เพื่อกรอกลงในแบบคำร้องดิจิทัลของหน่วยงานได้โดยอัตโนมัติ และให้หน่วยงานพิจารณาลดรายการเอกสารสำเนาที่ประชาชนต้องใช้ในการขอรับบริการ

ส่วนมาตรการระยะยาว (ภายในปี 2563)

จะให้สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมกันพัฒนาศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (Government Data Exchange Center : CDX) ให้ครอบคลุมรายการเอกสารที่เชื่อมโยงมากขึ้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเรียกดูและบันทึกเอกสารทางราชการระหว่างหน่วยงานได้และให้บริการออนไลน์ได้

  • ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เสนอ กำหนดให้ดำเนินการทุกอย่างให้เสร็จภายใน 5 ปี
  • กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำข้อมูลตามภารกิจหลักในอดีตและปัจจุบัน ให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล และตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแห่งชาติ (Government Data Exchange Center : CDX) เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ
  • ให้จัดทำระบบบริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อเชื่อมโยงไปยังบริการดิจิทัลของหน่วยงานของรัฐ
  • กำหนดมาตรการระยะสั้น คือ หน่วยงานราชการต้องทำสำเนาให้ประชาชนไปก่อน และเก็บเงินผ่านช่องทาง National e-Payment โดยต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้
  • ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เปิดช่องทางการสื่อสารผ่าน Social Network เพื่อรับข้อร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook