5 เรื่องที่คุณเข้าใจผิดเกี่ยวกับการพกพา Power Bank ไปใช้งานในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์เสริมที่มักจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายยามฉุกเฉิน อย่าง Power Bank เป็นอุปกรณ์ที่หลายคนไม่ค่อยจะเหลียวแล ดูแลกันดีสักเท่าไหร่ทั้งการซื้อมาใช้และการบำรุงรักษา ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต วันนี้ Sanook! Hitech ได้นำ 5 เรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Power Bank มาฝาก
ซื้อแบบไหนก็ได้เหมือนกันแหล่ะ
จากความเข้าใจเดิมๆ ที่เจอ Power Bank ที่ไหนก็ซื้อใช้ได้เลย ความคิดนี้อาจจะต้องเปลี่ยนเพราะว่าคุณภาพที่ได้อาจจะไม่สมกับราคาก็ได้ ที่ถูกต้องควรจะดูเรื่องของการรับรองมาตรฐานต่างๆ ให้เหมาะสม
ปล่อยให้ไฟหมดแล้วชาร์จก็ได้
อีกความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่คือ Power Bank ปล่อยให้ไฟหมดได้ เพราะมีหน้าที่สำรองให้กับมือถือนี่หน่า ความจริงแบตเตอรี่ที่ใช้ภายใน มีลักษณะเหมือนกัน ดังนั้น การดูแลรักษาจะไม่ต่างกันเพียงแต่ สำหรับ Power Bank หากเหลือไฟ 30% ก็ควรจะชาร์จกลับเข้าไปได้แล้วไม่ควรปล่อยไว้
Quick Charge ใช้ได้ทุกรุ่น
แม้ว่า Power Bank ติดคำว่า Quick Charge 2.0 หรือ Quick Charge 3.0 ก็จริงแต่ใช่ว่ามือถือทุกรุ่นจะรองรับเทคโนโลยีนี้ แม้ว่าจะเป็นรุ่นปัจจุบัน วิธีสังเกตได้ง่ายที่สุดคือการเสียบชาร์จว่ามือถือขึ้นชาร์จไฟด่วนหรือไม่ ก็สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง
เลือกแต่ความจุเยอะไว้ก่อน
คนส่วนใหญ่มักจะเลือก Power Bank ที่ความจุเยอะไว้ก่อนโดยไม่ได้ดูว่าอุปกรณ์ของตนเองที่ใช้นั้น ใช้กำลังไฟขนาดไหน จนสุดท้ายได้ Power Bank ที่มีขนาดใหญ่เกินไป ก็อาจจะทำให้การพกพาลำบากได้เช่นกัน
ฉะนั้นควรดูความจะที่เหมาะสม ถ้าต้องการพกพาบ่อยควรซื้อแค่ความจุ 10,000 mAh ก็เพียงพอแล้ว
Power Bank มีรอยแตกก็ไม่เป็นไรหรอก
อีกเรื่องที่ต้องรู้ เนื่องจาก Power Bank บางรุ่นเป็นพลาสติก หากตกและมีรอยแตกนั้นถามว่าใช้ได้หรือไม่ ใช้ได้บางกรณี แต่ถ้าแตกจนเห็นข้างในควรจะหยุดใช้งานเนื่องจาก มีความเป็นไปได้ที่มันจะเกิดความเสียหายภายในและใช้งานไม่ได้
สุดท้าย Power Bank ก็เหมือนมือถืออยู่คือ อายุการใช้งานจะอยู่ได้ 3 – 5 ปี เท่านั้นตามอายุของแบตเตอรี่ หากพบว่าเก็บไฟไม่อยู่ ก็ควรจะทิ้งหรือหาที่ทำลายแทนจะดีกว่าเก็บไว้นะครับ