“5 อย่า 3 ควร” เมื่อเห็นคนไลฟ์สดทำร้ายตัวเอง หรือกำลังจะฆ่าตัวตาย

“5 อย่า 3 ควร” เมื่อเห็นคนไลฟ์สดทำร้ายตัวเอง หรือกำลังจะฆ่าตัวตาย

“5 อย่า 3 ควร” เมื่อเห็นคนไลฟ์สดทำร้ายตัวเอง หรือกำลังจะฆ่าตัวตาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลกประจำปี 2018 โดย World Population Review ที่สำรวจและเก็บข้อมูลการฆ่าตัวตายใน 177 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยนั้นอยู่อันดับที่ 28 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 16 คนต่อประชากร 1 แสนคน นับเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในอาเซียน

ทั้งนี้การทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตาย ยังเริ่มมีเข้ามาให้เราพบเห็นกันอย่างใกล้ตัวมากขึ้น และสามารถเห็นได้แบบสดๆ ผ่านโลกออนไลน์

5 อย่าที่ไม่ควรทำ เมื่อเห็นคนไลฟ์สดทำร้ายตัวเอง หรือกำลังจะฆ่าตัวตาย

อย่าที่ 1 คือ อย่าท้าทาย ไม่สื่อความหมายหรือแสดงความคิดเห็น ที่ยุยงให้บุคคลในไลฟ์สดกระทำการทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตายเร็วขึ้น เช่น ทำเลย กล้าทำหรือเปล่า ไม่แน่จริงนี่หน่า เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้เขารีบทำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีจิตใจเปราะบางอยู่แล้ว หากเขามาไลฟ์สดทำร้ายตัวเองหรือพยายามจะฆ่าตัวตาย ให้สาธารณชนได้รับรู้ด้วยนั้นก็หมายความว่าเขากล้าทำแน่นอน ฉะนั้นเมื่อเห็นการกระทำดังกล่าว ทางที่ดีคืออย่าท้าทายเด็ดขาด

อย่าที่ 2 คือ อย่าใช้คำพูดเยาะเย้ย ตำหนิ ด่าว่า เช่น โง่ บ้า หรือคอมเมนท์ว่าเขาเรียกร้องความสนใจ เพราะจะยิ่งเพิ่มความคิดทางลบและเพิ่มโอกาสทำมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นเมื่อเห็นคนไลฟ์สดทำร้ายตัวเอง หรือกำลังจะฆ่าตัวตาย ต้องพูดให้กำลังใจเขามากๆ แนะนำทางออกอื่นให้กับเขา ที่สำคัญคือให้คิดก่อนแสดงความคิดเห็นทุกครั้ง

อย่าที่ 3 คือ อย่านิ่งเฉย การนิ่งเสมือนเป็นการสนับสนุนทางอ้อม ให้บุคคลนั้นกระทำการดังกล่าว อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ควรทำอะไรบางอย่างเพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือ เช่น โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่สามารถเข้าระงับเหตุได้ หรือติดต่อญาติของเจ้าของไลฟ์สด ในกรณีที่เป็นคนรู้จักกัน

อย่าที่ 4 คือ อย่าแชร์บอกต่อ หรือเผยแพร่ภาพการกระทำของบุคคลนั้น เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นที่คิดจะทำร้ายตนเอง หรือฆ่าตัวตายเกิดการเลียนแบบได้ และเข้าใจผิดว่าเป็นทางออกของปัญหา โดยเฉพาะกับผู้ที่มีสภาพจิตใจเปราะบางอยู่แล้ว และยิ่งหากผู้รับชมเป็นเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ระมัดระวังในการรับสื่อ อาจเข้าใจผิดคิดว่า การทำร้ายตนเองหรือการไลฟ์สดฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ง่าย

อย่าที่ 5 คือ อย่าติดตามการถ่ายทอดสดจนจบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองในอนาคต เช่น เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เก็บไปเป็นความเครียดฝังใจ ครุ่นคิด จนนอนไม่หลับ เป็นภาพติดตาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมทำให้บุคคลที่อยู่ในไลฟ์สดคิดว่า มีคนอยากเห็นเขาทำร้ายตัวเองหรืออยากเห็นเขาตายนั่นเอง

สิ่งที่ควรทำ 3 ควร เมื่อเห็นคนไลฟ์สดทำร้ายตัวเอง หรือกำลังจะฆ่าตัวตาย

1. ควรห้าม หรือขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว เพราะโดยทั่วไปผู้ที่คิดทำร้ายตนเอง หรือพยายามฆ่าตัวตายผ่านไลฟ์สด ส่วนใหญ่จะลังเลใจ ที่สำคัญอย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ ไร้สาระ หรือล้อเล่น เพราะการปรากฏตัวในโลกโซเชียลเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกได้ว่า เขาอาจยังมีความลังเลอยู่ เขากำลังขอความช่วยเหลือ

2. ควรชวนคุย ประวิงเวลา ให้มีโอกาสทบทวน โดยการถามถึงความทุกข์ รับฟัง และไม่ปล่อยให้อยู่คนเดียว คิดถึงคนที่รักและเป็นห่วง แนะทางออกอื่นๆ ให้ข้อคิด สนทนาเรียกสติ ยับยั้งความคิดของเขาให้หลุดพ้นห้วงอารมณ์นั้น และให้ผ่านพ้น 24 ชั่วโมงไปให้ได้ ประวิงเวลาให้เขาชั่งใจต่อไปเรื่อยๆ อย่าด่วนตัดสินใจทำอะไรรุนแรง

3. ควรติดต่อหาความช่วยเหลือ เช่น บุคคลที่ใกล้ชิดเขาที่สุดขณะนั้น หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทร 191 สมาคมสมาริตันส์ หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้เข้าสู่ระบบบริการโดยเร็ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook