5 เหตุผลที่คนไทยติดโซเชียล
หลายคนใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับมือถือเกือบทั้งวัน และใช้เวลาไปกับการท่องโลกโซเชียล มากกว่าทำกิจกรรมอื่นๆ ผู้คนอยู่ในสังคมก้มหน้ากันมากขึ้น และการติดโซเชียลมากเกินความพอดี ยังทำให้เสียสุขภาพและเสี่ยงที่จะเป็นโรคจากเทคโนโลยีอีกด้วย
5 เหตุผลที่คนไทยติดโซเชียล
1. ต้องการมีตัวตน การสร้างตัวตนในโลกออนไลน์ ความจริงแล้วสามารถสร้างได้ทั้งในแบบที่ดีและไม่ดี อยู่ที่คนคนนั้นจะเลือกทำและแสดงออกมาบนโซเชียล ซึ่งเหตุผลแรก ๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่ติดโซเชียลนั้นก็คือ การอยากมีตัวตนในสังคมออนไลน์ เช่น อยากเป็นที่รู้จัก อยากมีผู้ติดตามในโซเชียลมาก ๆ อยากได้จำนวนยอดไลค์เยอะ ๆ เป็นต้น
2. อยากรู้อยากเห็นเรื่องคนอื่น มีหลายคนที่เล่นโซเชียล เพียงเพราะต้องการอยากรู้เรื่องของคนอื่น แต่บนพื้นที่โซเชียลของตัวเองไม่ได้อัพเดทอะไร จะเห็นได้จากแอปพลิเคชั่นอย่างทวิตเตอร์ ที่เป็นแหล่งข่าวที่แทบจะเร็วที่สุดแล้วก็ว่าได้ ปัจจุบันมีผู้ใช้ทวิตเตอร์อยู่จำนวนมาก และก็เป็นจำนวนมากเช่นกันที่เลือกไม่เปิดเผยตัวตน เพราะว่าอยากจะติดตามข่าวต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว หรืออาจมีบ้างที่แสดงความคิดเห็น
3. อยากให้คนอื่นรู้เรื่องตัวเอง ข้อนี้จะคล้ายกับการต้องการมีตัวตน แต่อาจจะเป็นอะไรที่นำเสนอตัวเองมากกว่านั้น ก็คือ การโพสต์และอัพเดททุกสิ่งทุกอย่าง ที่อยากให้คนอื่นรู้ลงบนโซเชียล เช่น วันนี้ไปเที่ยวที่ไหน กินอะไรมาบ้าง และตอนนี้อยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะคอยรายงานเรื่องราวของตัวเอง ลงบนพื้นที่โซเชียลส่วนตัวให้คนอื่นได้รับรู้โดยที่ไม่ต้องถามเลย
4. โหยหาแรงสนับสนุน เช่น โพสต์เชิญชวน โพสต์ประกาศให้มีคนมาสนใจ โพสต์หาเพื่อนดูหนัง โพสต์หาเพื่อนไปเที่ยว หรือในบางคนก็โพสต์เหงาอยู่เป็นประจำ กลุ่มคนเหล่านี้จะโหยหาแรงสนับสนุน และต้องการที่จะมีเพื่อนพูดคุยด้วยในโลกโซเชียล เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนไทยติดโซเชียลกันมากขึ้น เพราะด้วยปัจจุบันนี้การพูดคุยสื่อสารกันต่อหน้าก็ลดลงเรื่อย ๆ แล้ว ทำให้คนหันไปหาเพื่อนคุยในโลกออนไลน์แทนนั่นเอง
5. เสพติดการช้อปปิ้งออนไลน์ หากใครที่มีพฤติกรรมชอบดูคลิปวิดีโอไลฟ์สดขายเสื้อผ้าในเฟซบุ๊ก หรือชอบช้อปปิ้งออนไลน์ตามเว็บไซต์เสื้อผ้าแบรนด์เนม เครื่องสำอางต่าง ๆ เรียกได้ว่า “CF เก่ง โอนไวตัวแม่” การกระทำดังกล่าว จะทำให้คุณกลายเป็นคนที่ติดโซเชียลไปโดยปริยายด้วยเช่นกัน เพราะหากคุณมีความสุขกับการที่ได้จ่ายเงินออกจากบัญชีไป แบบไม่สนว่าตัวเลขมันจะลดลงแค่ไหน นั่นหมายความว่า นอกจากคุณจะติดโซเชียลเอามาก ๆ แล้ว คุณยังเสพติดการช้อปปิ้งออนไลน์อีกด้วย
ผลข้างเคียงของการติดโซเชียล
1. วิตกกังวล มีภาวะซึมเศร้า ผลข้างเคียงหลัก ๆ จากการเสพติดสื่อโซเชียลหนัก นั่นก็คือ ความวิตกกังวล คิดมาก เครียด และซึมเศร้า เนื่องจากว่าบางคนที่ติดตามข่าวสาร และอินกับข่าวใดข่าวหนึ่งของใครมากเกินไป จนทำให้รู้สึกว่าเป็นห่วงแทนคนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งในกรณีที่อาจไปเจอบางเหตุการณ์บนโลกออนไลน์ ที่ทำให้รู้สึกว่ารับไม่ได้ ก็นำมาสู่ความรู้สึกวิตกกังวล และเศร้าหมองในใจได้เช่นกัน
2. สมาธิสั้น ความแม่นยำเกี่ยวกับความจำลดลง เพราะว่าเกือบทั้งวันจดจ่ออยู่แค่ที่หน้าจอมือถือ จนทำให้สมาธิไม่อยู่กับเนื้อกับตัวแล้วว่าเมื่อไหร่จะมีคนมาคอมเมนท์ เมื่อไหร่จะมีคนมากดไลค์ หรือเมื่อไหร่ใครบางคนจะทักแชทมาหาบ้าง
3. อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่าย มีประสิทธิภาพในการควบคุมตัวเองลดลง การติดโซเชียลและหมกมุ่นอยู่กับโลกที่ไม่สามารถสัมผัสกันได้จริง ๆ จนทำให้การควบคุมตัวเองต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้ในระดับที่ดีเหมือนเดิม จนนำไปสู่อารมณ์ที่รุนแรงมากขึ้น หงุดหงิดง่าย บางคนอารมณ์แปรปรวน เพียงเพราะได้จำนวนยอดไลค์น้อยลงก็มี บางคนเล่นเกมแล้วหัวร้อน ไม่ได้ดั่งใจ ทีมแพ้แล้วพาลคนรอบข้าง หรือคนที่อยู่ตรงหน้าในเวลานั้นก็มีเช่นกัน
4. สำหรับเด็กนักเรียน นักศึกษา อาจมีผลการเรียนที่แย่ลง การเล่นมือถือเล่นโซเชียลที่มากเกินไป ยิ่งในวัยกำลังเรียนอยู่ อาจทำให้มีผลกระทบไปถึงการเรียนที่แย่ลงได้ เพราะในบางคนอาจไม่เป็นอันทำอะไรเลย นอกจากแชทพูดคุยในโลกออนไลน์และเล่นเกมจากเช้าจรดค่ำ จนหลงลืมทำในสิ่งที่ตัวเองควรทำ นั่นก็คือ การตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและทำการบ้านส่งคุณครู
วิธีหลีกเลี่ยงการติดโซเชียลมากเกินไป
1. กำหนดระยะเวลาในการเล่นมือถือ หากทำได้จะเป็นการดีต่อสุขภาพมาก ๆ ซึ่งในช่วงแรกที่เริ่มปรับตัวอาจจะยังไม่สามารถทำได้ 100% แต่อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้รู้จักแบ่งเวลาจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินชีวิตก่อนว่า วันนี้เราต้องทำอะไรบ้าง ให้รู้จักแยกแยะว่าตัวเองต้องมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงเสียก่อน ค่อยใช้เวลาว่างเล่นมือถือหรือโซเชียลก็ยังได้
2. เลือกใช้โซเชียลและอินเทอร์เน็ต ค้นหาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ จะช่วยให้คุณไม่ติดโซเชียลมากเกินไป เพราะปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดีย มีทั้งประโยชน์และโทษ ในการเสพข่าวก็เช่นกัน ควรคัดกรองและแยกแยะให้ออกด้วยว่า ข่าวไหนคือข่าวจริงหรือข่าวปลอม พยายามใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาความรู้ เพื่อความบันเทิง มากกว่าเล่นคุยแชททางออนไลน์ เพราะจะยิ่งทำให้คุณมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลงด้วย
3. ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตในห้องนอน ไม่เล่นมือถือก่อนเข้านอน เพราะจะทำให้ติดเป็นนิสัย รวมถึงส่งผลต่อสุขภาพทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น พักผ่อนไม่เพียงพอ จนร่างกายอาจรู้สึกอ่อนล้า อ่อนเพลีย ในช่วงเช้าและระหว่างวัน บางคนอาจมีผลกระทบกับการทำงานด้วย เพราะร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่จากตอนกลางคืน ทำให้รู้สึกง่วงนอนในตอนเช้าหรือตอนกลางวัน