ไมโครซอฟต์ไทยเผย ในอนาคต AI จะไม่แทนที่งานของคน แต่จะทำให้มนุษย์มีศักยภาพที่ดีขึ้น!
แม้ในปัจจุบัน ผู้คนมากหน้าหลายอาจกำลังคิดว่า มนุษย์นั้นกำลังถูกปัญญาประดิษฐ์แทรกแซงหรือแทนที่งาน (AI Disruption) แต่วันนี้ ไมโครซอฟต์ ประเทศไทย ได้ออกมาเผยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหรือความกังวลใจในอนาคตเกี่ยวกับ AI นั้นจะไม่ใช่ปัญหา หากแต่จะเป็นการผลักดันและทำให้มนุษย์มีศักยภาพที่ดีขึ้นซึ่งคนไทยเองจะได้รับสิ่งนี้เป็นเจ้าแรกๆ ของโลก
นายธนวัตน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟต์ (ประเทศไทย) ได้เป็นผู้เริ่มต้นการให้ข้อมูลในครั้งนี้ โดยเขาได้กล่าวว่าในปัจจุบันหลากหลายหน่วยงานและองค์กรได้ใช้ AI เป็นตัวช่วยทั้งในเชิงธุรกิจและคุณภาพของพนักงานในองค์กร อาทิ
- หลากหลายองค์กรสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการเก็บฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์แล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขได้อย่างรวดเร็วซึ่งในตอนนี้ “Blockchain” เทคโนโลยีตัดคนกลาง แต่มากด้วยปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงินบนโลกออนไลน์ (ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเหมือนในยุคการมาของอินเทอร์เน็ต) ก็ยังได้ใช้ Neural Network ในการเก็บ “ข้อมูล” อันเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเหนืออื่นใดในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้
- การใช้ปัญญาประดิษฐ์จากทางไมโครซอฟต์อย่าง Microsoft Deep Learning ทำให้ Chatbot หรือโปรแกรมตอบโต้บทสนทนาอัตโนมัติชาญฉลาดขึ้น ที่ทำได้ตั้งแต่การหาผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการจากรูปถ่ายที่ได้รับและสามารถปิดการขายได้ด้วยตัวเอง (หาร้านค้าที่สามารถซื้อสินค้าดังกลาวได้ในสาขาที่ใกล้ลูกค้า, เสาะหาโปรโมชั่นลดราคาตามแต่ละสาขา ฯลฯ)
- ปตท หรือบริษัทพลังงานแห่งชาติเอง ก็ได้เปิดตัวโครงการ AI for Road Safety ที่ใช้ความสามารถในการเรียนรู้และจดจำของปัญญาประดิษฐ์จากทางไมโครซอฟต์มาวิเคราะห์และตรวจสอบสถานะความพร้อมของผู้ขับขี่ของระบบขนส่งบุคคลภายในองค์กร
ทางด้านคุณเพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท โซลูชั่น VRSIM ก็ได้เห็นพ้องต้องกันซ้ำยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า AI ไม่เพียงแต่จะสามารถช่วยเหลือองค์กรต่างๆ หรือบริษัทด้านเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงภาคของการเกษตรในบ้านเราเอง ก็สามารถนำ Machine Learning ผนวกเข้ากับอุปกรณ์โลกเสมือนอย่าง VR ในการให้ชาวบ้านได้เรียนรู้เก็บเกี่ยวอ้อยด้วยรถตัดอ้อยอย่างถูกต้องผ่านเครื่องจำลองที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับตัวพาหนะของจริง โดยคุณเพิ่มพงษ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีสร้างเครื่องจำลองรถตัดอ้อยขึ้นมาว่า
โดยปกติแล้ว การฝึกสอนพนักงานขับรถตัดอ้อยเป็นกระบวนการที่กินเวลานาน และยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับผลผลิตอีกด้วย ซึ่งเสร็จสรรพแล้วอาจใช้เวลามากกว่า 3 ปีในการเชี่ยวชาญการขับรถดังกล่าว และรวมไปถึงตัวรถเองที่มีราคาแพงเกินกว่าจะสามารถหาซื้อมาเก็บไว้ใช้ในการฝึกสอน ทาง VRSIM จึงนำเทคโนโลยี VR มาเปิดโอกาสให้นักขับมือใหม่ได้ฝึกฝนและเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง
และปิดท้ายกันด้วยความคิดเห็นจากทาง ดร. พญ. พิจิกา วัชราภิชาต นักวิจัยชาวไทยหนึ่งในทีม Microsoft Research Cambridge ผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่ได้ยืนยันอีกเสียงว่า AI และ Machine Learning จะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาโรคต่างๆ ได้ในอนาคต เพราะในปัจจุบัน AI และ Machine Learning มีความสามารถในการเรียนรู้สามสิ่งที่ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ไล่ตั้งแต่
- การจดจำภาพที่ AI และ Machine Learning สามารถคัดแยก หาสิ่งที่เราต้องการในภาพถ่าย หรือบอกได้ว่าในภาพมีวัตถุใดปรากฎอยู่
- การจดจำคำสั่งเสียงที่ AI และ Machine Learning ก็สามารถรับฟังโทนเสียง, สำเนียง ไปจนถึงภาษาจากแต่ละประเภทได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
- ตัวอักษรหรือข้อความที่ AI และ Machine Learning ก็สามารถอ่านตัวอักษร ตัวสะกด หรือแม้แต่อักขระที่แตกต่างกันของแต่ละประเภทได้มากขึ้น
โดยเมื่อรวม 3 สิ่งที่ AI และ Machine Learning ทำได้ดีเข้ากับวงการแพทย์แล้ว ในอนาคตอันใกล้นี้ AI และ Machine Learning จะสามารถมอบข้อมูลขนาดใหญ่ในระดับดัชนีย์ (ร้อยละ, การประมาณ ข้อมูลในรูปแบบตัวเลขทั้งหลาย ฯลฯ) ที่สมองของมนุษย์ไม่สามารถเก็บได้ มาใช้ชี้นำหรือประมวลสถานะของโรคร้ายต่างๆ ในผู้ป่วยได้และสามารถแจกจ่ายยาต้านทานโรคหรือรักษาได้อย่างแม่นยำ หรือแม้กระทั่งการรับบทบาทเป็นผู้ช่วยแพทย์ในการผ่าตัดด้วยการสแกนและตรวจหาบริเวณสุ่มเสี่ยงทั้งหลาย ซึ่งในต่างประเทศก็ได้มีการเริ่มนำ AI และ Machine Learning ไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์บ้างแล้วในการตัวหามะเร็งต่อมลูกหมาก
แต่กระนั้นอุปสรรคใหญ่ของการนำ AI ในรูปแบบต่างๆ (Machine Learning, Neural Network, Big Data ฯลฯ) มาใช้ในหน่วยงาน องค์กร หรือแม้แต่ภาครัฐ ก็คงจะเป็นเรื่องความไว้ในเนื้อเชื่อใจของผู้คนปกติทั่วไปที่ไม่ได้คลุกคลีในวงการเทคโนโลยี, เรื่องของการตรวจสอบที่ผู้ควบคุมหรือกุมบังเหียนที่อยู่ด้านหลัง AI ต่างๆ ต้องมีความพร้อมและมีความรู้เท่าทันปัญญาประดิษฐ์ทั้งหลายมากพอ ฯลฯ